- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดไทม์ไลน์! ตกลง‘เลือกตั้ง’ปีไหน? คำถามที่ยังคาใจหลังประชามติ
เปิดไทม์ไลน์! ตกลง‘เลือกตั้ง’ปีไหน? คำถามที่ยังคาใจหลังประชามติ
“…นี่เป็น ‘ไทม์ไลน์’ หากเหตุการณ์ทุกอย่าง ‘ปกติ’ เท่านั้น แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ ‘ไม่ปกติ’ ขึ้น ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ เช่น ในช่วงเลือกตั้งหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีก คสช. ก็มีอำนาจเข้าไปควบคุมการเลือกตั้ง และส่งผลให้การเลือกตั้งต้องล่าช้าลงไปอีก ซึ่งตรงนี้ไม่อาจคาดการณ์ได้ ?...”
ในที่สุดการทำประชามติครั้งประวัติศาสตร์ก็มีผลสรุปออกมาแล้ว แม้จะยังไม่เป็นทางการก็ตาม นั่นคือ ‘เสียงส่วนใหญ่’ ต่างเทคะแนน ‘รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กว่า 15 ล้านคน และรับคำถามพ่วงที่เปิดโอกาสให้ ส.ว. ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี กว่า 13 ล้านคน
(อ่านประกอบ : ผลไม่เป็นทางการประชามติ รับ รธน. ลิ่ว 15 ล.ไม่รับ 9 ล. อีสาน-3 จว.ใต้ชนะโหวตโน)
แต่คำถามสำคัญไม่ว่าจะจากฝ่าย ‘โหวตรับ-โหวตโน-โนโหวต’ คือ เมื่อผ่านพ้นการทำประชามติแล้ว ตกลงจะมีการเลือกตั้งวันไหน ?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปไทม์ไลน์ภายหลังการทำประชามติให้สาธารณชนทราบ ดังนี้
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประเมินให้ฟังว่า หากผลประชามติออกมา ‘ผ่าน’ การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2561 โดยแบ่งขั้นตอนเป็น 2 ช่วงคือ
ช่วงก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
หนึ่ง เมื่อประชามติร่างรัฐธรรมนูญ+คำถามพ่วงผ่าน กรธ. จะต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงฯภายใน 30 วัน (อย่างช้าสุดคือเสร็จภายในช่วงเดือน ก.ย. 2559)
สอง หลังจากนั้นจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า มีบทบัญญัติมาตราใดขัดต่อรัฐธรรมนูญบ้าง ภายใน 30 วัน (อย่างช้าที่สุดคือเสร็จภายในช่วงเดือน ต.ค. 2559) แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีบทบัญญัติมาตราใดขัดกับรัฐธรรมนูญ กรธ. จะต้องนำไปปรับแก้ไข (ตรงนี้ไม่ได้ระบุช่วงเวลา)
สาม หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ต้องแก้ไขบทบัญญัติมาตราใด ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญกับนายกรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯภายใน 30 วัน (ช้าที่สุดคือเสร็จภายในช่วงเดือน พ.ย. 2559)
สี่ หลังจากนั้นเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการพิจารณาเพื่อลงพระปรมาภิไธย โดยมีระยะเวลาประมาณ 90 วัน (ช้าที่สุดคือเสร็จภายในช่วงเดือน ก.พ. 2560)
ช่วงหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
หนึ่ง คณะรัฐมนตรี (ชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) จะต้องจัดให้มีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติใน 120 วัน พร้อมกฎหมายแผนและขั้นตอนการปฏิรูปซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 120 วัน เช่นเดียวกัน (ช้าที่สุดคือเสร็จภายในช่วงเดือน มิ.ย. 2560)
สอง กรธ. จะต้องทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 240 วัน (8 เดือน) โดยกฎหมายประกอบฯมีทั้งหมด 10 ฉบับ ได้แก่ (1) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (2) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (3) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (4) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (5) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (6) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (7) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน (8) พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต(9) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (10) กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
แต่กฎหมายประกอบฯที่สำคัญจริง ๆ และต้องทำให้เสร็จก่อนมีอยู่ 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบฯว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ร.บ.ประกอบฯว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว. พ.ร.บ.ประกอบฯว่าด้วย กกต. และ พ.ร.บ.ประกอบฯว่าด้วยพรรคการเมือง
ดังนั้นอย่างช้าที่สุดคือเสร็จภายในช่วงเดือน ม.ค. 2561
สาม หลังจากพิจารณากฎหมายประกอบฯเสร็จแล้ว (หรืออย่างน้อยแค่ 4 ฉบับ) ต้องส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 2 เดือน หาก สนช. พิจารณาไม่เสร็จภายใน 2 เดือน ถือว่ากฏหมายประกอบฯดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที (ช้าที่สุดคือเสร็จภายในช่วง มี.ค. 2561)
สี่ เมื่อกฎหมายประกอบฯบังคับใช้แล้ว ให้ กกต. จะต้องจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปภายใน 150 วัน (ช้าที่สุดคือเสร็จภายในช่วง ก.ค. 2561)
ห้า หลังจากพ้นช่วงเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว ให้ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน โดยต้องได้จำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่า 95% ของทั้ง 350 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ (ช้าที่สุดคือเสร็จภายในช่วง ก.ย. 2561)
หก หลังจากทราบผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว ให้เรียกประชุมร่วมรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว. เนื่องจากคำถามพ่วงฯผ่าน) ครั้งแรกภายใน 15 วัน เพื่อดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยในขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่มีการระบุระยะเวลา เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งระหว่างนี้หากยังเลือกนายกรัฐมนตรีกันไม่ได้ คสช. และคณะรัฐมนตรีชุด พล.อ.ประยุทธ์ จะยังคงทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และทำหน้าที่ถวายสัตย์แล้ว
เจ็ด เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์แล้ว ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน จึงจะบริหารราชการแผ่นดินได้
หากนับรวมระยะเวลาทั้งหมด ‘อย่างช้า’ คือเกือบ 2 ปี ถึงจะมีการเลือกตั้ง และหากนับจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่คือประมาณ 2 ปี เลยทีเดียว
แต่ทั้งหมดเป็นการนับระยะเวลาแบบเต็มพิกัด ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว คสช. อาจเร่งระยะเวลาให้เร็วกว่านี้ได้อีกหลายเดือน เช่น การทำกฎหมายประกอบ 8 เดือน กรธ. อาจร่างฉบับที่จำเป็นแค่ 4 ฉบับข้างต้นก่อน ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาลงได้ และทำให้การเลือกตั้งเกิดได้อย่างรวดเร็วกว่านี้
อย่างไรก็ดีนี่เป็น ‘ไทม์ไลน์’ หากเหตุการณ์ทุกอย่าง ‘ปกติ’ เท่านั้น
แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ ‘ไม่ปกติ’ ขึ้น ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ เช่น ในช่วงเลือกตั้งหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีก คสช. ก็มีอำนาจเข้าไปควบคุมการเลือกตั้ง และส่งผลให้การเลือกตั้งต้องล่าช้าลงไปอีก ซึ่งตรงนี้ไม่อาจคาดการณ์ได้ ?
ท้ายสุดทุกอย่างจะเดินหน้าไปตามที่หลายคนคาดหวังไว้หรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไปยาว ๆ อย่างน้อยก็ 2 ปี !
อ่านประกอบ : เทียบสถิติ-วิเคราะห์ปมประชามติ! ‘โหวตรับ’ท่วมท้นได้ยังไง-ไฉน‘โหวตโน’แพ้?