- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เทียบสถิติ-วิเคราะห์ปมประชามติ! ‘โหวตรับ’ท่วมท้นได้ยังไง-ไฉน‘โหวตโน’แพ้?
เทียบสถิติ-วิเคราะห์ปมประชามติ! ‘โหวตรับ’ท่วมท้นได้ยังไง-ไฉน‘โหวตโน’แพ้?
เปิดสถิติย้อนหลังทำประชามติปี’50-เลือกตั้งปี’54 ก่อนผลประชามติปี’59 วิเคราะห์ไฉน ‘โหวตรับ’ ท่วมท้น เหตุมี ‘เสื้อแดง-อดีต ส.ส.สายแดง’ ร่วมด้วย ต้องการให้เลือกตั้งเร็ว ส่วน ‘โหวตโน’ แพ้ เหตุอยู่ใต้สถานการณ์ไม่ปกติ ถูกทหารจับตา เถียงกันกับฝ่าย ‘โนโหวต’
ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการลงคะแนนประชามติครั้งประวัติศาสตร์อย่างไม่เป็นทางการ พบว่า มีผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญกว่า 15 ล้านเสียง ถือว่าเป็นชัยชนะอย่างเด็ดขาดของฝ่าย ‘โหวตเยส’ ส่วนฝ่ายไม่รับมีเพียง 9 ล้านเสียงเท่านั้น
(อ่านประกอบ : ผลไม่เป็นทางการประชามติ รับ รธน. ลิ่ว 15 ล.ไม่รับ 9 ล. อีสาน-3 จว.ใต้ชนะโหวตโน)
อย่างไรก็ดีเมื่อประเมินข้อมูลทางการเมือง การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันหลายฝ่าย และสถิติของ กกต. ในห้วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 สามารถจำแนกนัยสำคัญบางประการของการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ได้เป็นหลายส่วน
โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบว่า คะแนนเสียงส่วนใหญ่ต่างเทไปในทาง ‘โหวตโน’ เช่นเดียวกับประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ทว่าก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับ ‘โหวตเยส’ ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปให้เห็นภาพ ดังนี้
สำหรับกลุ่มคนที่มาออกเสียงประชามติ แบ่งได้ 3 ประเภท
หนึ่ง กลุ่มคนที่ออกมาโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ (โหวตเยส)
สอง กลุ่มคนที่ออกมาโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ (โหวตโน)
สาม กลุ่มคนที่ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิ์ (โนโหวต)
โดยทั้งสามกลุ่มต่างมีเหตุผลแตกต่างกัน วิเคราะห์ได้ดังนี้
ฝ่าย ‘โหวตเยส’
การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 มีผู้มาใช้สิทธิ์ 27,623,126 คน จากทั้งหมดประมาณ 50 ล้านคน โดยประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ มีผู้เห็นชอบ 15,562,027 คน (61.40%) ไม่เห็นชอบ 9,784,680 คน (38.60%) ส่วนประเด็นคำถามพ่วง มีผู้เห็นชอบ 13,969,594 คน (58.11%) ไม่เห็นชอบ 10,070,599 คน (41.89%) บัตรเสีย 869,043 ใบ
ขณะที่การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2550 มีผู้มาใช้สิทธิ์ 25,978,954 คน จากทั้งหมดประมาณ 45 ล้านคน มีผู้เห็นชอบ 14,727,306 คน (57.81%) ไม่เห็นชอบ 10,747,441 คน (42.19%) บัตรเสีย 504,207 ใบ
ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 พบว่า พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนเสียงทั้งหมด 15,744,190 เสียง (48.41%) พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียง 11,433,762 เสียง (35.15%)
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การลงประชามติเมื่อปี 2559 มีผู้มาใช้สิทธิ์มากกว่าปี 2550 และมีผู้เห็นชอบมากกว่าปี 2550 ขณะที่ผู้ไม่เห็นชอบมีน้อยกว่าปี 2550 ประมาณ 1 ล้านคน
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ในการเลือกตั้งปี 2554 ที่พรรคเพื่อไทยชนะอย่างถล่มทลาย แต่ไฉนในการลงประชามติครั้งนี้กลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับ คสช. ที่รัฐประหารรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับโหวตแพ้ประชามติ ?
มีการวิเคราะห์กันว่า ในหมู่บรรดาผู้ ‘โหวตเยส’ ทั้งหลาย ไม่ได้มีแค่กลุ่มคนสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หรือบรรดากลุ่มมวลชนของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ (กปปส.) เท่านั้น
แต่ยังมี ‘เสื้อแดง’ บางกลุ่มเข้าคูหาไปกาเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ด้วย ?
เนื่องจากในบางพื้นที่ ‘เขตสีแดง’ มี ส.ส. หลายราย ที่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้งให้ไวที่สุด เพราะผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว ขณะเดียวกันมีคนเสื้อแดงบางกลุ่ม ไม่ได้สนใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญเนื้อหาเป็นอย่างไร หรืออาจสนใจบ้าง แต่ก็ไม่ได้สลักสำคัญเท่ากับ เมื่อไหร่ คสช. จะลงจาก ‘หลังเสือ’
‘เสื้อแดง’ บางกลุ่มเชื่อว่า หาก ‘โหวตเยส’ รับ ๆ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไป คสช. จะหมดอำนาจเร็วขึ้น และจะได้มีการเลือกตั้งเสียที ซึ่งตรงกับความต้องการของบรรดานักการเมืองในพื้นที่พอดิบพอดี !
นอกเหนือจากประเด็นนี้แล้ว อย่างที่ทราบกันว่าในห้วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เกิดการชุมนุมกันของกลุ่มการเมืองหลากสีหลายฝ่าย ส่งผลให้ ชาวบ้านทั่วไป-คนที่ไม่สนใจการเมือง เริ่มเบื่อหน่าย และคิดว่า หากโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาจทำให้การชุมนุมของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ จบลง และยุติปัญหาได้ ตามการ ‘พีอาร์’ ของฝ่าย คสช. จึงลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ทั้งที่บางคนอาจไม่เคยอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยซ้ำว่ามีข้อดี-ข้อเสียตรงไหนบ้าง ?
ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการ ‘โหวตโน’ ในภาพรวมทั้งประเทศ ที่ลดน้อยลงกว่าประชามติปี 2550 ประมาณ 1 ล้านคนเศษ ทั้งที่ผู้มีผู้มาใช้สิทธิ์มากกว่าในปี 2550 โดยเฉพาะในบางจังหวัดโซนสีแดง ที่บางแห่งแพ้ให้กับฝ่าย ‘โหวตเยส’ เช่น นครราชสีมา ปทุมธานี ซึ่งกวาดเก้าอี้ ส.ส. พรรคเพื่อไทยไปค่อนจังหวัด ทว่าผลโหวตประชามติร่างรัฐธรรมนูญกลับผ่าน
เพื่อขยายความให้ชัด ลองเทียบสถิติระหว่างการลงประชามติปี 2550 การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2554 และการลงประชามติปี 2559 ใน 2 จังหวัดดังกล่าว พบข้อเท็จจริง ดังนี้ (นับเฉพาะประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ ไม่นับคำถามพ่วง)
นครราชสีมา
การลงประชามติเมื่อปี 2550 เห็นชอบ 617,585 คน (59.16%) ไม่เห็นชอบ 426,358 คน (40,84%)
การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2554 (แบบบัญชีรายชื่อ) พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงสูงสุด 698,961 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนรองลงมา 250,331 เสียง พรรคชาติพัฒนาเป็นที่สามได้ 170,441 เสียง และพรรคภูมิใจไทยได้ที่สี่คือ 105,685 เสียง (ครั้งนั้นพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. 8 คน พรรคชาติพัฒนา 4 คน และพรรคภูมิใจไทย 3 คน)
การลงประชามติเมื่อปี 2559 เห็นชอบ 695,505 คน ไม่เห็นชอบ 389,345 คน
ปทุมธานี
การลงประชามติเมื่อปี 2550 เห็นชอบ 202,364 คน (58.34%) ไม่เห็นชอบ 144,490 คน (41.66%)
การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2554 (แบบบัญชีรายชื่อ) พรรคเพื่อไทยได้คะแนนสูงสุด 277,583 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนน 164,053 เสียง (ครั้งนั้นพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. 5 คน พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน)
การลงประชามติเมื่อปี 2559 เห็นชอบ 247,582 คน ไม่เห็นชอบ 144,624 คน
หรือแม้แต่นนทบุรี ที่มี ส.ส.เพื่อไทย นั่งเก้าอี้เต็มโควตาทั้งจังหวัดรวม 5 ราย แต่กลับ 'โหวตโน' แพ้ ?
นี่คือตัวอย่าง 3 จังหวัดที่อาจเรียกได้ว่าเป็นฐานที่มั่นโดยตรงของบรรดากลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ลงประชามติทีไร มักจะแพ้ฝ่ายเห็นชอบทุกครั้ง ทั้งที่ในตอนการเลือก ส.ส. พรรคเพื่อไทยกลับได้คะแนนสูงสุด และมี ส.ส.เพื่อไทย ในจังหวัดเป็นจำนวนมาก
ซึ่งอาจเป็นไปตามที่วิเคราะห์ไว้คือ 1.มีคนเสื้อแดงบางกลุ่มเบื่อ คสช. และต้องการให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็วจึงโหวตเห็นชอบ 2.ส.ส.ในพื้นที่บางคนต้องการเลือกตั้งเร็ว ๆ เนื่องจากอยากกลับเข้ามาสู่ในอำนาจ 3.อาจมีกระบวนการอธิบายภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญให้คนในพื้นที่เข้าใจ และเกิดความเห็นชอบด้วยตัวเอง 4.ไม่ได้รับรู้อะไรเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญหรือการลงประชามติ แค่เบื่อการชุมนุมทางการเมืองจึงโหวตรับร่างฯ และ/หรือ 5.ถูก คสช. ตรึงกำลังไว้ ทำให้การเคลื่อนไหวของฝ่ายโหวตไม่เห็นชอบทำได้ยาก
นี่ยังไม่นับบรรดาจังหวัด ‘โซนสีแดง’ ที่คะแนน ‘เยส-โน’ ใกล้เคียงหรือสูสีกัน เช่น เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น เป็นต้น
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการ ‘โหวตเยส’ คือ คะแนนประชามติของภาคใต้ ที่เห็นชอบ 2,606,023 คน (76.92%) ไม่เห็นชอบ 782,043 คน (23.08%)
ต้องไม่ลืมว่าภาคใต้เป็นฐานเสียงใหญ่และมั่นคงที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ และก่อนลงประชามติครั้งนี้ พรรคดังกล่าวก็อาจเรียกได้ว่า ‘แตก’ เป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญคือ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ อดีตเลขาฯพรรค และแกนนำกลุ่ม กปปส. ส่วนฝ่ายไม่เห็นชอบคือ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊วนของ ‘ชวน หลีกภัย’ โดยมี ส.ส.ภาคกลาง และภาคใต้บางส่วนหนุน
ดังนั้นผลประชามติครั้งนี้ อาจวัดผู้มีอิทธิพล ‘ตัวจริง’ ในพรรคประชาธิปัตย์ได้ ?
ซึ่งแน่นอนผลออกมาแล้วว่าฝ่าย ‘โหวตเยส’ ชนะ สิ่งที่ต้องจับตาดูคือสถานะของอดีต ส.ส. ก๊วน กปปส. กับ ‘อภิสิทธิ์-ชวน’ จะเดินไปในทิศทางไหนต่อ !
มาดูฝ่าย ‘โหวตโน’ กันบ้าง
จะเห็นได้ว่ามีเพียงภาคเดียวคือภาคอีสาน ที่คะแนน ‘โหวตโน’ ชนะ คือ เห็นชอบ 3,923,855 คน (48.58%) ไม่เห็นชอบ 4,153,178 คน (51.42%) ส่วนในภาคใต้มีแค่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่คะแนนไม่เห็นชอบมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด
หากย้อนกลับไปในการลงประชามติเมื่อปี 2550 ในภาคอีสาน ‘โหวตโน’ ก็ชนะเช่นกัน คือ เห็นชอบ 3,050,182 คน (37.20%) ไม่เห็นชอบ 5,149,957 คน (62.80%)
ขณะที่การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ภาคอีสานโหวตเลือกพรรคเพื่อไทยถึง 7,267,740 คน
แน่นอนว่า บริบทของการลงประชามติทั้งในปี 2550 และในปี 2559 ย่อมแตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป เพราะการลงประชามติเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) และปี 2557 (คสช.) ย่อมอยู่ภายใต้กฎระเบียบอย่างเข้มงวด รวมถึงก่อนหน้านี้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก มีการตรึงกำลังทหารไว้ในทุกพื้นที่
ส่วนปัจจุบันมี คสช. ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่มีอำนาจล้นฟ้า จึงทำให้ ‘ฝ่ายต้าน’ ขยับเขยื้อนหรือเคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก ไม่เหมือนกับในช่วงสถานการณ์ปกติ
จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ผล ‘โหวตโน’ จะแพ้ แม้จะได้ได้แพ้แบบราบคาบก็ตาม
อย่างไรก็ดีก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญทั้งในปี 2550 และในปี 2559 บรรดา ‘ฝ่ายต้าน’ ต่างถกเถียงในประเด็น ‘โหวตโน’ หรือ ‘โนโหวต’ ทุกครั้ง โดยฝ่าย ‘โหวตโน’ ต่างยืนยันว่า จำเป็นต้องไปกาไม่เห็นชอบ เพื่อแสดงจุดยืนและพลังในการไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร ซึ่งหากชนะอาจกระเทือนไปถึงบรรดาคณะรัฐประหารได้
ส่วนฝ่าย ‘โนโหวต’ เห็นว่า คสช. เข้ามาอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นกระบวนการทุกอย่างของ คสช. รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญก็ย่อมไม่เป็นธรรมด้วย จึงไม่ขอ ‘สังฆกรรม’ ร่วมกับคณะรัฐประหารทั้งสิ้น เลยใช้ ‘สิทธิ’ แสดงพลังในการไม่ไปลงคะแนนดังกล่าว
ซึ่งประเด็นเหล่านี้เกิดการถกเถียงกันใหญ่โต จนบางครั้งเกิดการทับถมแขวะกันไปมา เช่น ฝ่ายโหวตโน เห็นว่า ฝ่ายโนโหวต อยู่เฉย ๆ ไม่ได้แสดงพลังอะไร หากออกมาช่วยกันโหวตโน ฝ่ายโหวตโนอาจจะชนะก็ได้ เป็นต้น
แต่ที่น่าสนใจคือ การแสดงพลังแบบ ‘โนโหวต’ มีเป็นจำนวนมาก เช่น ในปี 2550 มีผู้ไม่มาลงคะแนนประมาณ 20 ล้านคน (ผู้มีสิทธิ์ประมาณ 45 ล้านคน มาใช้สิทธิ์ 15 ล้านคน) ส่วนปี 2559 มีผู้ไม่มาลงคะแนนประมาณ 23 ล้านคน (ผู้มีสิทธิ์ประมาณ 50 ล้านคน มาใช้สิทธิ์ 27 ล้านคน)
ดังนั้นหากนับรวมคะแนน ‘โหวตโน’ และ ‘โนโหวต’ อาจถือได้ว่าเป็นชัยชนะของ ‘ฝ่ายไม่เอาคณะรัฐประหาร-คสช.’ ก็ว่าได้ !
แต่ความเป็นจริงคงไม่อาจทำได้เช่นนั้น
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกันคือ กรณีคำถามพ่วงที่เปิดโอกาสให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีได้นั้น จะเห็นได้ว่า มีผู้เห็นชอบ 13,969,594 คน (58.11%) ไม่เห็นชอบ 10,070,599 คน (41.89%) ซึ่งคะแนนเห็นชอบน้อยกว่าการรับร่างรัฐธรรมนูญถึงเกือบ 2 ล้านคน ส่วนผู้ไม่เห็นชอบก็มากกว่าร่างรัฐธรรมนูญประมาณ 1 ล้านคน
แสดงให้เห็นว่าในฝ่าย ‘โหวตเยส’ ร่างรัฐธรรมนูญ ก็กา ‘โหวตโน’ ไม่เอาคำถามพ่วงด้วยเป็นจำนวนไม่น้อย
สะท้อนถึงปัญหาในการเอา ส.ว. เข้ามาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ ส.ว. ชุดดังกล่าว คสช. เป็นคนแต่งตั้งขึ้น ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย ที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. และ ส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนปวงชนต้องเป็นคนเลือก ?
ทั้งหมดคือสถิติ-ข้อมูล นับตั้งแต่การทำประชามติปี 2550 เลือกตั้ง ส.ส. ปี 2554 กระทั่งประชามติปี 2559 ที่บ่งบอกถึงสาเหตุ-ปัจจัยสำคัญว่า ทำไม ‘โหวตเยส’ ถึงชนะ และ ‘โหวตโน’ ถึงแพ้
แต่ฉากต่อไปที่น่าจับตามองมากที่สุดต่อจากนี้คือ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว กระบวนการต่อไปจะเป็นอย่างไร และประชาชนจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่กันแน่ !
(ดูอินโฟกราฟฟิคประกอบ)
อ่านประกอบ :
เคาะเหตุผลเบื้องหลังสามจังหวัดใต้ "โหวตโน"
4 แนวทางหลังประชามติร่าง รธน. ไม่ผ่านเอาไงต่อ-จับตา คสช.ฉลุยหรือแห้ว?