- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เบื้องหลัง! กก.สรรหาชง‘เรวัต’นั่งผู้ตรวจฯอีกรอบ-จับตา สนช.กลืนน้ำลาย?
เบื้องหลัง! กก.สรรหาชง‘เรวัต’นั่งผู้ตรวจฯอีกรอบ-จับตา สนช.กลืนน้ำลาย?
“…คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไม ‘หมอเรวัต’ ถึงกลับเข้ามาสมัครได้อีกครั้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ที่ประชุม สนช. ต่าง ‘ส่ายหน้า’ ไม่เอาไปแล้ว และที่สำคัญคือ ยังได้รับ ‘ความไว้วางใจ’ จากคณะกรรมการสรรหาฯ ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ได้อีก ว่ากันว่า คนหนุนหลังให้เข้ามานั่งเก้าอี้ร้อนตัวนี้คือ ‘บิ๊กในสภา’ และ ‘บิ๊กจากฝ่ายทหาร’ ?...”
กลายเป็นเรื่องชวนสงสัยอีกครั้ง!
กรณีที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวน 6 คน ประกอบด้วย 1.นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานฯ 2.นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 3.นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด 4.นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 5.พล.ท.ศิลปชัย สรภักดี บุคคลที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก และ 6.นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ บุคคลที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก เป็นกรรมการ
มีมติเห็นชอบให้ ‘นพ.เรวัต วิศรุตเวช’ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ และอดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้ตรวจการแผ่นดินอีกหน !
ภายหลังก่อนหน้านี้คณะกรรมการสรรหาชุดดังกล่าวเคยมีมติเห็นชอบให้ ‘หมอเรวัต’ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในชั้น สนช. มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อตรวจสอบประวัติ ก่อนจะประชุมลับกันร่วม 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นมีการลงคะแนนลับ ปรากฏว่าไม่ได้คะแนนเสียงข้างมาก จึงไม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน
ว่ากันว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ ‘หมอเรวัต’ อดนั่งเก้าอี้ร้อนตัวนี้ เนื่องจากมีสมาชิก สนช. หลายคนสงสัยประเด็นที่เคยเปลี่ยนชื่อและนามสกุล โดยบางชื่อเคยปรากฏในคดีที่ฟ้องร้องกันอยู่ รวมถึงอาจมีสายสัมพันธ์ทางการเมืองเกี่ยวกับ ‘ซีกสีแดง’ เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา รมช.พาณิชย์ (นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) และที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของนายสมศักดิ์ เกีรยติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ก่อนหน้านี้
ไม่ว่าข้อเท็จจริงข้างต้นจะเป็นอย่างไร แต่ประเด็นที่น่าสงสัยคือ ไฉน ‘หมอเรวัต’ จึงสมัครเข้ามาในการคัดเลือกรอบสองได้อยู่อีก และทำไมคณะกรรมการสรรหาฯ จึงมีมติเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินอีกครั้ง ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
แหล่งข่าวจาก สนช. ระบุว่า แคนดิเดตที่จะนั่งเก้าอี้ผู้ตรวจการแผ่นดินคราวนี้ มีอยู่ 2 คน ได้แก่ 1.นพ.เรวัต 2.นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดีคณะกรรมการสรรหาฯ ต้องโหวตกันถึง 30 ครั้ง จึงจะได้ชื่อของ นพ.เรวัต
สำหรับการโหวตนั้น 29 ครั้ง คะแนนเสียงออกมาเท่ากัน 3 ต่อ 3 ได้แก่ ฝ่ายสนับสนุน นพ.เรวัต คือ นายพรเพชร พล.ท.ศิลปชัย และนายปิยะ ส่วนฝ่ายสนับสนุนนางเสาวนีย์ ได้แก่ นายวีระพล นายนุรักษ์ และนายอัครวิทย์
กระทั่งในการโหวตครั้งที่ 30 ปรากฏว่า คณะกรรมการสรรหาฯ อาจจำเป็นต้องใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 206 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติไว้เพื่อเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิ แต่สามารถนำมาใช้สรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินได้โดยอนุโลม
โดยมาตรา 206 วรรคท้าย ระบุว่า กรณีไม่อาจสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิได้ภายในเวลาที่กำหนด ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 3 คน และให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวน 2 คน เป็นกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการแทน
(อ่านประกอบ : http://www.mua.go.th/users/he-commission/doc/law/Constitution2550.pdf)
ทำให้นายนุรักษ์ ซึ่งค้านไม่เอา นพ.เรวัต มาตลอด 29 ครั้ง ‘กลับลำ’ เลือก นพ.เรวัต แทน ส่งผลให้มติออกมาเป็น 4 ต่อ 2 ได้แก่ ฝ่ายสนับสนุน นพ.เรวัต คือ นายพรเพชร พล.ท.ศิลปชัย นายปิยะ และนายนุรักษ์ ส่วนฝ่ายสนับสนุนนางเสาวนีย์ คือ นายวีระพล และนายอัครวิทย์
ทั้งหมดคือเบื้องลึก-ฉากหลังในวงประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ ที่ท้ายสุดมีมติเลือก ‘หมอเรวัต’ ให้กลับเข้ามาขึ้นแท่นนั่งเก้าอี้ผู้ตรวจการแผ่นดินอีกครั้ง ภายหลังก่อนหน้านี้ถูกมติ สนช. ไม่เห็นชอบ
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไม ‘หมอเรวัต’ ถึงกลับเข้ามาสมัครได้อีกครั้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ที่ประชุม สนช. ต่าง ‘ส่ายหน้า’ ไม่เอาไปแล้ว และที่สำคัญคือ ยังได้รับ ‘ความไว้วางใจ’ จากคณะกรรมการสรรหาฯ ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ได้อีก
ว่ากันว่า คนหนุนหลัง ‘หมอเรวัต’ ให้เข้ามานั่งเก้าอี้ร้อนตัวนี้คือ ‘บิ๊กในสภา’ และ ‘บิ๊กจากฝ่ายทหาร’ ?
ข้อสั่งเกตอีกประการหนึ่งคือ นายวีระพล ประธานศาลฎีกา และ พล.ท.ศิลปชัย ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ต่างลงคะแนนเสียงต่างกันทั้งที่มาจากหน่วยงานเดียวกัน เช่นเดียวกันกับที่ นายปิยะ ประธานศาลปกครองสูงสุด และนายอัครวิทย์ ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ก็โหวตต่างคนละฝ่ายเช่นกัน
นอกจากนี้เหตุใด กรรมการสรรหาฯทั้ง 3 ราย (นายพรเพชร นายปิยะ พล.ท.ศิลปชัย) จึงยังมั่นใจเลือก นพ.เรวัต เหมือนตอนสรรหาครั้งแรก หากเลือกแล้วที่ประชุม สนช. ลงมติไม่ผ่านอีก จะรับผิดชอบอย่างไร ?
โดยเฉพาะนายพรเพชร ที่เป็นถึงประธาน สนช. ทำไมถึงไม่ฟังเสียงสมาชิก สนช. คนอื่นบ้าง เพราะตามมารยาทแล้วไม่ควรเลือกคนที่ไม่ผ่านมติของ สนช. กลับเข้ามาอีก !
ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาดูกันไปต่อจากนี้คือ เมื่อกรณีนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้น สนช. จะต้องมีการตั้ง กมธ.ตรวจประวัติฯอีกครั้ง ก่อนจะบรรจุเข้าสู่วาระประชุมเพื่อลงมติ
จะมี สนช. รายไหนกล้า ‘กลืนน้ำลาย’ ตัวเอง โหวตให้ผ่านหรือไม่ ต้องรอลุ้นกันอีกครั้ง !