- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- โชว์ชัดๆ ภาพชุดเส้นทางจักรยานราชบุรี19ล. สตง.ชี้ปัญหาเพียบ-สั่งลุยสอบทั่วปท.
โชว์ชัดๆ ภาพชุดเส้นทางจักรยานราชบุรี19ล. สตง.ชี้ปัญหาเพียบ-สั่งลุยสอบทั่วปท.
"สตง.ให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาเส้นทางจักรยาน เพราะนอกจากจะเป็นรักษาผลประโยชน์การใช้งบประมาณแผ่นดินที่คุ้มค่าแล้ว จะเป็นช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้ถนนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาอุบัติเหตุการใช้เส้นทางจักรยานในประเทศไทย เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง และหากประชาชนในพื้นที่ไหนมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ขอให้แจ้งเข้ามาที่ สตง.ได้ทันที"
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.ได้ทำหนังสือถึง นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อให้รับทราบผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาเส้นทางจักรยานทั่วประเทศ สายเส้นทางตามแนวถนนทางหลวงชนบท อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ของแขวงทางหลวงชนบทราชบุรี วงเงิน 19,955,000 บาท ใน 2 ประเด็นหลัก คือ
1. จากการตรวจสอบประมาณราคากลางของคณะกรรมการกำหนดราคากลางจำนวน 9 รายการ พบว่า มีการคำนวณราคากลางไม่เป็นไปตามหลัเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของราชการ ทำให้ราคากลางที่คณะกรรมารกำหนดไว้จำนวน 20 ล้านบาท สูงกว่าที่คำนวณได้ตามหลักเกณฑ์เป็นจำนวนเงิน 463,137.72 บาท และราคาตามสัญญาจ้างสูงกว่าที่คำนวณจำนวน 418,137.12 บาท
2. จากการตรวจสอบสัญญาจ้างพบว่า ตามสัญญาจ้างกำหนดให้ผู้รับจ้างทำงานให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2558 แต่ในขณะเข้าตรวจสอบสังเกตการณ์งานก่อสร้าง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 ผู้รับจ้างยังไม่ได้ส่งมอบงานตามสัญญาจ้างตามงวดงานที่กำหนดไว้ทั้งหมด 7 งวด แต่ประการใด ซึ่งเป็นดำเนินการล่าช้าเกินสมควร และอาจส่งกระทบต่อการใช้ประโยชน์ของโครงการก่อสร้างตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้
เบื้องต้ง สตง. ได้แจ้งให้แขวงทางหลวงชนบทราชบุรี พิจารณาดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยให้ตรวจสอบราคากลางทุกรายการ หากพบว่าราคากลางสูงกว่าที่ควรจะเป็นตามหลักเกณฑ์ให้แก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ แต่หากไม่สามารถแก้ไขได้ให้ดำเนินการทางละเมิดและดำเนินการทางวินัยกับคณะกรรมการกำหนดราคากลาง และผู้เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณี
ขณะที่ แขวงทางหลวงชนบทราชบุรี แจ้งผลการดำเนินการตอบกลับสตง.ว่า ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงราคากลางทุกรายการ พบว่า ราคาที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคำนวณได้มีมูลค่าต่ำกว่าราคาของคณะกรรมการกำหนดราคากลางเป็นจำนวนเงิน 1,549,437.39 บาท จึงได้ปรับแก้ค่างานให้ตรงกับการดำเนินการจริงและได้แก้ไขสัญญาจ้างโดยปรับลดจำนวนเงินตามสัญญาลงจำนวน 1,549,437.39 บาท จากเดิม 19,955,000 บาท คงเหลือค่างานตามสัญญาจำนวน 18,405,562.61 บาท
ทั้งนี้ การดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2558 ซึ่งตามสัญญาจ้างครบกำหนด ภายในวันที่ 10 ต.ค.2558 จึงเป็นการส่งมอบงานเกินระยะเวลาตามกำหนดจำนวน 55 วัน ค่าปรับวันละ 46,013.91บาท เป็นเงินค่าปรับทั้งสิ้น 2,530,765.05 บาท
(อ่านประกอบ : สั่งปรับเงินผู้รับเหมา2.5ล.!สตง.ชี้งานพัฒนาทางจักรยานราชบุรีปัญหาเพียบ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในการตรวจสอบข้อมูลของ สตง. ยังพบข้อสังเกตสำคัญอีกข้อ คือ ลักษณะทั่วไปของโครงการเป็นการตีสีเทอร์โมพลาสติกบนผิวจราจรบริเวณไหล่ทาง ตามแนวทางหลวงชนบท 4 สายทาง รบ.4020 รบ.4019 รบ.4064 และรบ.4068 รวมระยะทาง 52.255 กม.
โดยพบข้อสังเกตบนสายทาง รบ.4064 บริเวณช่วง กม.4+500 ถึง กม.11+000 รวมระยะทาง 6.5 กม. มีการตีเส้นช่องทางจักรยานบนพื้นผิวจราจรเนื่องจากถนนในช่วงดังกล่าวไม่มีไหล่ทาง
@ รวมภาพภ่ายโครงการส่งเสริมและพัฒนาเส้นทางจักรยานทั่วประเทศสายเส้นทางตามแนวถนนทางหลวงชนบท อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ของแขวงทางหลวงชนบทราชบุรี สายทาง รบ.4064 บริเซรชวง กม.4+500 ถึงกม. 11+000 รวมระยะทาง 6.500 กม.
ทั้งนี้ สตง.ได้เน้นย้ำให้ แขวงทางหลวงชนบทราชบุรี พิจารณาดำเนินการหาแนวทางแก้ไขหรือวิธีการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เส้นทางบริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้เส้นทางดังกล่าวและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับทางราชการ
นอกเหนือจากการแจ้งให้แขวงทางหลวงชนบทราชบุรี พิจารณาดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยให้ตรวจสอบราคากลางทุกรายการ หากพบว่าราคากลางสูงกว่าที่ควรจะเป็นตามหลักเกณฑ์ให้แก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ แต่หากไม่สามารถแก้ไขได้ให้ดำเนินการทางละเมิดและดำเนินการทางวินัยกับคณะกรรมการกำหนดราคากลาง และผู้เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณี และให้แจ้งผู้ควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจการจ้าง และผู้เกี่ยวข้องเร่งรัดการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง และติดตามกำกับ ควบคุมงานก่อสร้างให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด เพื่อประโยชน์การใช้งานตามระยะเวลาและวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทางราชการ
ขณะที่ แขวงทางหลวงชนบทราชบุรี ได้ดำเนินการปรับแก้ค่างานเพิ่มเติมในเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น ดังนี้
1. เพิ่มเติมการตีเส้นจราจรแบ่งช่องทางจักรยานให้ชัดเจนให้รถยนต์รู้ว่า มีช่องทางจักรยานใช้ร่วมกัน ซึ่งช่องทางดังกล่าวนั้น ผู้ขับขี่รถจักรยานและรถยนต์สามารถวิ่งทับเส้นทางกันได้
2. ติดตั้งป้ายจราจรทางจักรยานพร้อมสัญลักษณ์ทางร่วม (Shear the rosd) สลับกับป้ายทางจักรยานพร้อมสัญลักษณ์ลูกศรนำทางตลอดแนวเส้นทาง
3. ติดตั้งป้ายจราจรทางร่วมรถยนต์-รถจักรยาน เป็นป้ายขนาดใหญ่ให้เห็นได้ชัดเจนที่บริเวณจุดเริ่มต้น ตรงกลางเส้นทาง และท้ายเส้นทาง เพื่อให้ผู้ขับขี่รถยนต์ระมัดระวังผู้ขับขี่รถจักรยานให้มากขึ้น
4. ดำเนินการทำแผนงานปรับปรุงทางในระยะยาวให้มีการขยายไหล่ทางเพื่อให้ทางจักรยานต่อไป
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranrws.org ว่า แม้ว่า แขวงทางหลวงชนบทราชบุรี จะชี้แจงว่าได้ปรับแก้ไขงานตามข้อเสนอของ สตง.แล้ว แต่ สตง.จะเข้าไปตรวจสอบยืนยันผลว่า มีการดำเนินการตามที่ชี้แจงมาแล้วจริงหรือไม่ และจะมีการขยายผลการตรวจสอบไปยังจังหวัดอื่นๆ ด้วย
"สตง.ให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาเส้นทางจักรยาน เพราะนอกจากจะเป็นรักษาผลประโยชน์การใช้งบประมาณแผ่นดินที่คุ้มค่าแล้ว จะเป็นช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้ถนนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาอุบัติเหตุการใช้เส้นทางจักรยานในประเทศไทย เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง และหากประชาชนในพื้นที่ไหนมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ขอให้แจ้งเข้ามาที่ สตง.ได้ทันที"
"ส่วนการทำหนังสือแจ้งไปถึง นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็คาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่าน ในการช่วยติดตามควบคุมกำกับดูแลงานส่วนนี้ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่สตง.ทำหนังสือแจ้งไปด้วย "
เพราะในข้อเท็จจริง แม้การดำเนินงานโครงการนี้ จะไม่ได้ใช้งบประมาณจำนวนมากนัก แต่ถ้าพิจารณาในประเด็นเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชน ที่อาจได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต จากการใช้เส้นทางจักรยานดังกล่าว "ไม่วัวหาย แล้วจึงค่อยมาล้อมคอก"
เรื่องนี้จึงมีความสำคัญมากกว่าเรื่องตัวเงิน และผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทุกฝ่าย ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด!