- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดหนังสือ ป.ป.ช.-ป.ป.ท.โยนลูกสอบ ‘คณบดี-รองฯ’ มรภ.นครสวรรค์ ลอกงานวิจัย
เปิดหนังสือ ป.ป.ช.-ป.ป.ท.โยนลูกสอบ ‘คณบดี-รองฯ’ มรภ.นครสวรรค์ ลอกงานวิจัย
เปิดหนังสือ ป.ป.ช.-ป.ป.ท โยนลูก สอบ‘คณบดี-รองฯ’มรภ.นครสวรรค์ ลอกงานวิจัย อ้าง‘ไม่มีอำนาจ’ หลังมีผู้ร้องตั้งแต่ต้นปี 58 ผ่าน 1 ปี ไม่คืบ - พลิก ประกาศ กม. ตีความ ต่ำกว่า ซี 8 ผอ.กอง ?
สืบเนื่องจากมีผู้ยื่นเรื่องต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิตยา ชนินทยุทธวงศ์ และนางสาวเพชรอำไพ สุขารมณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีและรองคณบดี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ ลอกงานวิจัยแล้วขอรับเงินสนับสนุนการทำวิจัยของมหาวิทยาลัย จำนวน 40,000 บาท ขณะเดียวกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปราณี ตปนียวรวงศ์ อาจารย์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ ได้ยื่นเรื่องต่อ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดนครสวรรค์ให้ตรวจสอบในเรื่องเดียวกัน ตั้งแต่เดือน ม.ค.2558
ต่อมา ป.ป.ท.ไม่รับเรื่องไว้ไต่สวนโดยอ้างว่า ผู้ถูกร้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจ ของ ป.ป.ช. จึงได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2559 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดนครสวรรค์ ได้ทำหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าว ซึ่งดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า เป็นอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ท. จึงมีส่งเรื่องให้ คณะกรรมการ ป.ป.ท.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
เท่ากับ 2 องค์กร ต่างฝ่ายต่างอ้างว่า ‘ไม่มีอำนาจ’ ทั้งๆที่ผู้ร้องเรียนได้ร้องเรียนต่อทั้ง ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ตั้งแต่ต้นปี 2558 หรือผ่านมาเป็นเวลากว่า 1 ปี
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเอกสาร 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องมาเสนอดังนี้
ฉบับแรก หนังสือต้นเรื่องที่ นายฉัตรชัย ยอดอุดม รองเลขาธิการฯ ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ส่งถึง เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อ 2 เม.ย.58 ระบุว่า
“ด้วยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ได้รับหนังสือร้องเรียน 1)ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิตยา ชนินทยุทธวงศ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และ 2) น.ส.เพชรอำไพ สุขารมณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีและรองคณบดี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ ถูกกล่าวหาที่ 2 กรณีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และ 2 เสนอขอรับเงินสนับสนุนโครงการวิจัยจาก มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ จำนวน 40,000 บาท เพื่อทำโครงการวิจัย เรื่อง “การศึกษาการบัญชีและสิ่งแวดล้อมของธุรกิจอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดนครสวรรค์” แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และ 2 กลับนำสารนิพนธ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่เสนอเพื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทเรื่อง “การศึกษาการบัญชีสิ่งแวดล้อม : กรณีศึกษาธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตในเขตจังหวัดนครสวรรค์” มาปรับปรุงข้อมูลและเสนอเป็นรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์แทน รายละเอียดปรากฏตามที่ส่งมาแล้ว
สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 และได้นำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณาแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 11/2558 เมื่อวันที่ 25 มี.ค.58 มีมติว่า ไม่รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง เนื่องจากเป็นเรื่องร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้ส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ดังนั้น จึงขอส่งเรื่องดังกล่าวให้ สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่แก้ไขแล้ว ต่อไป”
ฉบับที่สอง หนังสือแจ้งผลการพิจารณาของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงผู้ร้อง โดย นายประทีป จูฑะศร ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครสวรรค์ ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 27 เม.ย.2559 ระบุว่า
“ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้กล่าวหาร้องเรียนผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิตยา ชนินทยุทธวงศ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ กับพวก เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณี ร่วมกันเสนอโครงการวิจัยเรื่อง การศึกษาการบัญชีและสิ่งแวดล้อมของธุรกิจอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อขอรับการสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยจาก มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ โดยทุจริต
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า จากการแสวงหาข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า ซึ่งอยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ข้อเท็จจริงของ คณะกรรมการ ป.ป.ท. จึงมีมติส่งเรื่องให้ คณะกรรมการ ป.ป.ท.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป” (ดูเอกสาร)
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ผู้ถูกกล่าวหา มีตำแหน่ง ‘คณบดี-ผู้ช่วยศาสตราจารย์’ ถูกร้องเรียนขณะดำรงตำแหน่งคณบดี กระทำความผิด(ตามข้อร้องเรียน) ขณะเป็นรองคณบดีฯ
พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 กำหนดตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวน
“ผู้อํานวยการกอง” หมายความว่า ข้าราชการซึ่งดํารงตําแหน่งตั้งแต่ผู้อํานวยการระดับต้นหรือ เทียบเท่าขึ้นไป ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือข้าราชการตามกฎหมายอื่น ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
ขณะที่ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทจริตแห่งชาติ เรื่อง กําหนดตําแหน่งผู้อํานวยการระดับต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไปตามกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2554 ข้ อ 7 ตําแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง มาตรฐานการจําแนกตําแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่
(ก) ตําแหน่งประเภทผู้บริหารที่เป็นอํานวยการระดับต้น ได้แก่ อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เทียบเท่าคณะ ผู้อํานวยการสํานักงานอธิการบดี หรือผู้อํานวยการสํานักงานวิทยาเขต ผู้อํานวยการกองหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะ เทียบเท่ากอง และมีตําแหน่งทางวิชาการระดับรองศาสตราจารย์ ระดับ 8 หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 8
(ข) ตําแหน่งประเภทผู้บริหารที่เป็นผู้อํานวยการระดับต้น ได้แก่ ผู้อํานวยการกอง หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากองและมีตําแหน่งทางวิชาการในระดับ รองศาสตราจารย์ระดับ 9 ศาสตราจารย์ระดับ 10 หรือศาสตราจารย์ระดับ 11
(ค) ตําแหน่งประเภทผู้บริหารที่เป็นอํานวยการระดับสูง ได้แก่ รองอธิการบดี คณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เทียบเท่าคณะ ผู้อํานวยการสํานักงานอธิการบดีหรือผู้อํานวยการสํานักงาน วิทยาเขตและมีตําแหน่งทางวิชาการในระดับรองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ระดับ 10 หรือระดับ 11
(ง) ตําแหน่งประเภทอํานวยการหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะ เทียบเท่ากอง
ถ้ายึดตามเหตุผลของ ป.ป.ช. ตามที่ ปรากฏในหนังสือฉบับข้างต้น เท่ากับ ตำแหน่ง ‘คณบดี-รองคณบดีฯ-ผู้ช่วยศาสตราจารย์’ ไม่เทียบเท่า‘ผู้อำนวยการกอง’ จึงตีกลับไปยัง ป.ป.ท.?
เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี
การบังคับใช้กฎหมาย ในการสอบสวนข้อเท็จจริง จึงต้องรอกันต่อไป
อ่านประกอบ:
ป.ป.ช.ตีกลับ ป.ป.ท.สอบปม‘คณบดี-รองฯ’มรภ.นครสวรรค์ ลอกงานวิจัยรับ 4 หมื่น
อาจารย์ มรภ.นครสวรรค์ชงข้อมูลเลขาฯ ป.ป.ช. 4 ข้อคดี‘คณบดี-รองฯ’ลอกงานวิจัย
เปิด“สารนิพนธ์-งานวิจัย”สอบคณบดี-รองฯ มรภ.นครสวรรค์ ลอกต้นฉบับ รับ 4 หมื่น
ส่งหนังสือ ฉ.3 จี้อธิการฯมรภ.นครสวรรค์เร่งสอบปม‘คณบดี-รองฯ’ลอกวิจัยรับ 4 หมื่น
ป.ป.ท.รับสอบ “คณบดี-รอง” มรภ.นครสวรรค์ลอกงานวิจัยรับ 4 หมื่น
อธิการฯมรภ.นครสวรรค์ตั้งกก.สอบ“คณบดี-รอง”ปมลอกงานวิจัย รับ 4 หมื่น