- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- กางระเบียบปปง.!จับพิรุธ กุนซือปธ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน รับค่านายหน้าขายที่ดิน‘ศุภชัย’ 60 ล.?
กางระเบียบปปง.!จับพิรุธ กุนซือปธ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน รับค่านายหน้าขายที่ดิน‘ศุภชัย’ 60 ล.?
“…ขณะที่ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ในระเบียบ ปปง. ฉบับนี้ ไม่มีการระบุถึง ‘ค่านายหน้า’ ตามที่นายณฐพร ให้สัมภาษณ์ไว้แต่อย่างใด ? ตกลงแล้วแคชเชียร์เช็คที่นายณฐพรรับ เป็นเงินค่าอะไร จากไหนกันแน่ เพราะจากการตรวจสอบในสัญญาการขายที่ดินก็ไม่ปรากฏชื่อของนายณฐพร ขณะที่แคชเชียร์เช็คที่ออกให้นายณฐพร ก็เป็นคนละวัน และออกโดยธนาคารต่างสาขากัน กับแคชเชียร์เช็คที่สั่งจ่ายคืนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กับบุคคล 3 ราย ที่ปรากฏชื่อในสัญญาด้วย…”
หลายคนอาจจะทราบกันไปแล้วว่า นายณฐพร โตประยูร ที่ปรึกษาด้านกฎหมายประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายศรีราชา วงศารยางกูร) เป็นหนึ่งในตัวละครที่ได้รับแคชเชียร์เช็ค วงเงิน 60 ล้านบาท จากการขายที่ดินของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดียักยอกทรัพย์สินของสหกรณ์ฯกว่าหมื่นล้านบาท ตามมติของคณะกรรมการธุรกรรมสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายดังกล่าว มีพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และตัวแทนผู้เสียหาย (สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น) ร่วมด้วย
อย่างไรก็ดีการทำสัญญาขายที่ดิน 1,822 ไร่ มูลค่ากว่า 477 ล้านบาท ของนายศุภชัย ซึ่งถูกดีเอสไออายัดไว้ก่อนหน้านี้ ขายให้กับบริษัท พิษณุโลกเอทานอล จำกัด มีการระบุว่า ให้ดำเนินการตามระเบียบ ปปง. ว่าด้วยการนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด พ.ศ.2544 โดยอนุโลม ซึ่งนายศุภชัยกับพวกได้เข้าใจข้อความดังกล่าว และยินยอมแล้ว
แต่ในตัวสัญญากลับเป็นการขายที่ดินระหว่างนายศุภชัย กับบริษัท พิษณุโลกเอทานอล จำกัด โดยตรง
ขณะเดียวกันมีนายณฐพร โตประยูร ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราทำนองว่า รับแคชเชียร์เช็คดังกล่าวในฐานะทนายความของนายศุภชัย โดยเป็นเงินในลักษณะค่านายหน้าในการขายที่ดิน
(อ่านประกอบ : กุนซือ ปธ.ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เช็ค 60 ล.อ้างค่านายหน้าขายที่ดิน‘ศุภชัย’)
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กางระเบียบ ปปง. ที่เกี่ยวข้อง สรุปใจความสำคัญให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ก่อนหน้าที่จะมีการดำเนินการขายทรัพย์สินทอดตลาด เลขาธิการ ปปง. จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขายทอดตลาดขึ้น มีทั้งหมด 3 คน โดยมีข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าลงมา เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามคำสั่ง
ในหมวด 1 การดำเนินการขายทอดตลาด ข้อ 9 ระบุว่า สถานที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินตามปกติ ให้ขาย ณ ที่ทำการของสำนักงาน สถานที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ หรือสถานที่เก็บรักษาทรัพย์สิน เว้นแต่ในกรณีที่เลขาธิการเห็นสมควรจะมีคำสั่งให้ดำเนินการขายทอดตลาด ณ สถานที่อื่นได้
ข้อ 10 ระบุว่า ให้คณะกรรมการขายทอดตลาดจัดให้มีการส่งประกาศขายทอดตลาดจัดให้มีการส่งประกาศขายทอดตลาดไปยังผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และปิดประกาศขายทอดตลาดนั้นไว้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ที่จะขาย สถานที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ และที่ชุมชน หรือสถานที่อื่นที่เห็นสมควรก่อนวันเวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน
ในกรณีที่เห็นสมควรจะลงแจ้งความการขายทอดตลาดทรัพย์สินในหนังสือพิมพ์รายวัน หรือประกาศทางวิทยุกระจายเสียง หรือทางโทรทัศน์ ก่อนกำหนดวันขายก็ได้
ขณะที่ในหมวด 2 วิธีการขายทอดตลาด ข้อ 16 ระบุว่า ก่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินให้คณะกรรมการขายทอดตลาดแจ้งให้บรรดาผู้สู้ราคาซึ่งจะเข้าสู้ราคาในนามของบุคคลอื่นแสดงใบมอบอำนาจก่อนเข้าสู้ราคา และแจ้งด้วยว่าถ้าผู้สู้ราคาผู้ใดเข้าสู้ราคาแทนบุคคลอื่นโดยมิได้แสดงใบมอบอำนาจก่อน จะถือว่าผู้สู้ราคานั้นกระทำการในนามตนเองในกรณีเช่นนี้ถ้าทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดนั้นเป็นทรัพย์สินที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้สู้ราคาผู้นั้นจะขอให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ซื้อโดยอ้างว่าตนเป็นเพียงตัวแทนมิได้
ข้อ 17 การขาดทอดตลาดทรัพย์สินย่อมบริบูรณ์เมื่อคณะกรรมการขายทอดตลาดแสดงความตกลงขายด้วยวิธีเคาะไม้
ข้อ 18 การเสนอสู้ราคาผู้เสนอสู้ราคาจะต้องวางหลักประกันในการเข้าสู้ราคาไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของราคาประเมินทรัพย์สินที่นำออกขายทอดตลาดนั้น ประเภทของหลักประกันที่นำมาวางให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการขายทอดตลาดกำหนดและในการขายทอดตลาดให้เป็นไปตามอัตราเพิ่มราคาที่เลขาธิการกำหนด และแจ้งให้ผู้เข้าสู้ราคาทราบก่อนการขายทอดตลาด
หมายความว่า ในการดำเนินการขายทรัพย์สินทอดตลาดนั้น เลขาธิการ ปปง. จะต้องทราบเรื่อง และแต่งตั้งคณะกรรมการขายทอดตลาดขึ้น พร้อมการติดประกาศให้สาธารณชนรับทราบ โดยใช้วิธีการประมูล เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคา
แต่ในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินในการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายคดียักยอกทรัพย์สินสหกรณ์ฯ ปรากฏว่า นายศุภชัย เป็นผู้ทำสัญญาขายที่ดินด้วยตัวเอง โดยขายให้กับบริษัท พิษณุโลกเอทานอล จำกัด โดยตรง ไม่พบมีการใช้วิธีแต่งตั้งคณะกรรมการขายทอดตลาด เพื่อให้สาธารณชนประมูล ตามที่อ้างว่า ให้ดำเนินการตามระเบียบ ปปง. ดังกล่าว แต่อย่างใด ?
อีกประเด็นหนึ่งคือ ในการขายที่ดินดังกล่าว พบว่า นายศุภชัย ได้ขอให้บริษัท พิษณุโลกเอทานอล จำกัด ออกแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายเป็นรายชื่อบุคคล/หน่วยงาน จำนวน 6 ใบ โดยให้นำมามอบแก่นายศุภชัยเพื่อนำไปชดใช้ค่าเสียหายต่อไป
แต่ตามระเบียบ ปปง. ดังกล่าว หมวด 4 วิธีรับเงินและเก็บรักษาเงิน ข้อ 32 ระบุว่า เมื่อได้รับชำระเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินแล้วไม่ว่าเป็นการชำระเงินเป็นเงินสด เช็ค หรือตั๋วแลกเงินก็ตาม ให้คณะกรรมการขายทอดตลาดส่งมอบให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์สินตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินว่าด้วยการเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด พ.ศ. 2543 เก็บรักษาต่อไป
ส่วนข้อ 33 การรับเงินเป็นเช็คหรือตั๋วแลกเงิน หากเรียกเก็บเงินไม่ได้ ให้ผู้มีหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์สินแจ้งให้เลขาธิการทราบเพื่อดำเนินการเรียกร้องผู้ซื้อได้ให้ชำระเงินนั้นหรือดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
นั่นหมายความว่า หากการขายที่ดินครั้งนี้ ดำเนินการตามระเบียบ ปปง. ว่าด้วยการนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด พ.ศ.2544 จริง แคชเชียร์เช็คทั้งหมดจะต้องถูกส่งให้กับคณะกรรมการขายทอดตลาด เพื่อส่งคืนกลับ ปปง. ไปเก็บรักษาไว้ก่อน ไม่ใช่ออกแคชเชียร์เช็คไปคืนบุคคล/หน่วยงานต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้
อีกประการหนึ่งคือ ที่ผ่านมาการส่งทรัพย์สินให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายนั้น ปปง. ไม่เคยมีการตั้งคณะทำงานประสานงานฯมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นคดีอดีตผู้บริหารธนาคารมหานครทุจริตยักยอกทรัพย์สินกว่า 4.1 พันล้านบาท หรือคดีฉ้อโกงประชาชนอื่น ๆ
แต่คดียักยอกทรัพย์สินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กลับมีการตั้งเจ้าหน้าที่จาก ปปง. เป็นประธาน ทั้งที่ในการประชุมการดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายคดีนี้ ระบุไว้ชัดเจนว่า เลขาธิการ ปปง. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานเรื่องให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอเป็นคนดำเนินการ ดังนั้นพนักงานสอบสวนดีเอสไอน่าจะเป็นประธาน เพราะต้องรับผิดชอบในการคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหาย
ขณะที่ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ในระเบียบ ปปง. ฉบับนี้ ไม่มีการระบุถึง ‘ค่านายหน้า’ ตามที่นายณฐพร ให้สัมภาษณ์ไว้แต่อย่างใด ?
ตกลงแล้วแคชเชียร์เช็คที่นายณฐพรรับ เป็นเงินค่าอะไร จากไหนกันแน่ เพราะจากการตรวจสอบในสัญญาการขายที่ดินก็ไม่ปรากฏชื่อของนายณฐพร
ขณะที่แคชเชียร์เช็คที่ออกให้นายณฐพร ก็เป็นคนละวัน และออกโดยธนาคารต่างสาขากัน กับแคชเชียร์เช็คที่สั่งจ่ายคืนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กับบุคคล 3 ราย ที่ปรากฏชื่อในสัญญาด้วย
ดังนั้น ในสัญญาการขายที่ดินของนายศุภชัย พนักงานสอบสวนดีเอสไอ และ ปปง. ได้ดำเนินการตามระเบียบฉบับนี้จริงหรือไม่ ต้องพิสูจน์กันต่อไป !
อ่านประกอบ :
โชว์ชัดๆ สัญญา ‘ศุภชัย’ขายที่ดินได้เงิน477ล. ไฉนคืนส.คลองจั่นแค่100 ล.?
เปิดตัวบ.ซื้อที่ศุภชัย 477ล. ที่แท้คนตระกูล 'อัษฎาธร' บิ๊กธุรกิจน้ำตาลไทย
ระดมกู้บริษัทในเครือ!เจาะแหล่งเงินคนตระกูล'อัษฎาธร' รับซื้อที่ ‘ศุภชัย’ 477ล.
ปปง.-ดีเอสไอ ขายที่'ศุภชัย' 477ล. ตีเช็คให้ตัวเอง249 ล. คืนสหกรณ์แค่100 ล.