- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ข้อมูล 2 พิธีกรสาวชื่อดัง ในผลสอบกรณีเอแบคฯ จ่ายค่าตอบแทนนักข่าวฉาว!
ข้อมูล 2 พิธีกรสาวชื่อดัง ในผลสอบกรณีเอแบคฯ จ่ายค่าตอบแทนนักข่าวฉาว!
"...เพิ่งมาทํางานเป็นนักข่าว ไม่ทราบว่าสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ให้เงินนั้นเป็นค่าอะไร ซึ่งทางสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ไม่ได้เป็นผู้เรียกให้ทางสถานีไปทําข่าวนี้ แต่เป็นการไปทําข่าวตามประเด็นของสถานีเอง และไม่มีการให้ลงชื่อรับเงินในเอกสารใด ๆ.."
จนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่แต่งตั้งโดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 4 องค์กร ประกอบด้วย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้สรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จ่ายค่าตอบแทนให้กับสื่อมวลชน จำนวน 163 รายการ รวมเป็นเงิน 4,420,500 บาท แล้ว
โดยผลการสอบสวนสรุปว่า อดีตนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ที่รับเงินค่าตอบแทนมากที่สุด จำนวน 2,150,866 บาท ,นักข่าวสทท. และอดีตผู้ประงานโครงการพิเศษไทยพีบีเอส มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน และจะเสนอให้สภาและสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนแต่ละองค์กรพิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ที่กําหนดไว้ตามธรรมนูญ ข้อบังคับประกาศ และแนวปฏิบัติของสภาและสมาคมวิชาชีพของแต่ละองค์กร
(อ่านประกอบ : กก.สอบ4 องค์กรวิชาชีพสื่อสรุป นักข่าวรับเงิน'เอแบคฯ' พฤติการณ์ชัด3ราย!)
แต่สาธารณชน อาจจะยังไม่ทราบว่า ในการสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ มีการระบุถึงข้อมูลเกี่ยวกับ 2 ผู้ประกาศสาวชื่อดัง ปรากฎอยู่ด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอ ณ ที่นี้
@ พิธีกรข่าวสาวคนแรก
ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการใส่ชื่อ อดีตผู้ประงานโครงการพิเศษไทยพีบีเอส (1 ใน 3 นักข่าวที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด) ไปทำข่าวสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ และได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวนหลายพันบาท ในซองที่ใส่มาในเอกสาร จึงทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องการทำหน้าที่
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้มีการเชิญ พิธีกรข่าวสาวรายนี้ มาให้ถ้อยคำ ได้รับคำชี้แจงว่า ในช่วงที่เกิดเหตุ มีหน้าที่ดูแลรายการข่าวรายการหนึ่งของไทยพีบีเอส
โดยช่วงเวลานั้นเป็นช่วงก้าวขึ้นปีใหม่ มีการกำหนดวาระข่าวด้วยประเด็นเรื่องดัชนีชี้วัดการพัฒนาประเทศที่น่าจะเป็นเรื่องของความสุข ซึ่งมีทางรายการมีการกำหนดชื่อสํานักวิจัยเอแบคโพลล์เป็นหนึ่งในแหล่งข่าวด้วย ที่จะต้องขอสัมภาษณ์ความเห็นว่า จากนั้นจึงมีการมอบหมายทีมข่าวไปทำข่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการบันทึกข้อมูลทีมข่าวที่จะออกมาไปงาน โดยทีมงานรายหนึ่ง เป็นผู้บันทึกข้อมูลโดยใช้ชื่อและรหัสของพิธีการสาวรายนี้ เพื่อบันทึกข้อมูลภารกิจงาน
พิธีกรสาวรายนี้ ระบุว่า ภายหลังจากที่มีข่าวปรากฎว่า มีนักข่าวไทยพีบีเอส ถูกระบุว่าได้รับเงินค่าตอบแทนจากสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้สอบถามช่างภาพและผู้ช่วยช่างภาพแล้ว ได้รับแจ้งว่า จําเรื่องนี้ไม่ได้ว่านักข่าวที่ไปทํางานนี้คือใคร แต่ช่างภาพยืนยันว่า ไม่ทําเรื่องตามที่เป็นข่าวแบบนี้
ส่วนข้อมูลของนักข่าวที่ทําข่าวเรื่องนี้ พิธีกรข่าวสาวรายนี้ ยืนยันกับคณะกรรมการว่า ภายหลังทราบชื่อ ได้พยายามติดต่อช่องทางต่างๆ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จนกระทั่งฝากข้อความไว้ในเฟซบุ๊ก และได้รับการติดต่อกลับมา หลังจากเวลาผ่านพ้นไปประมาณ 2-3 สัปดาห์
พร้อมได้รับแจ้งว่า ที่หายไปนาน เพราะต้องเข้าโรงพยาบาล มีปัญหาเรื่องครอบครัว แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำงานเป็นสื่อมวลชนแล้ว เป็นแม่บ้านอยู่ที่จังหวัดแห่งหนึ่งในภาคใต้
และยอมรับเคยได้รับซองเงินจากการไปสัมภาษณ์ผู้บริหารรายหนึ่งของ สํานักวิจัยเอแบคโพลล์จริง
พิธีการสาวรายนี้ ยังให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการว่า เดิมน้องคนนี้ ไม่ได้มาเป็นนักข่าว มาทําหน้าที่ช่วยประสานงานตั้งแต่แรกในรายการหนึ่ง ปกติไม่ค่อยถูกส่งไปทําข่าว เข้าใจว่า วันนั้น นักข่าวไม่เพียงพอ และเป็นการสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียว จึงได้รับมอบหมายให้ออกไปทำข่าว
พิธีกรสาวรายนี้ ยังให้ข้อมูลด้วยว่า เคยพูดคุยกับเพื่อนที่เป็นช่างภาพอาวุโส ว่าเรื่องการให้ซองเงินเคยมีอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่เคยรับจากประสบการณ์ที่เคยทําข่าวกรณีของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เคยมีการใส่ซองเงินไว้ในกระเช้าตอนที่ไปจัดเวทีสาธารณะ โดยใส่ไว้ใต้กระเช้า มีซองเงินอยู่ 4,000 บาท จึงให้น้องเอาไปคืน ซึ่งพนักงานในกลุ่มงานจะทราบกันดีว่า เรื่องแบบนี้ ไม่ให้มีอย่างเด็ดขาด
"เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เคยมีการพูดคุยกันมาก่อน เพิ่งมาทราบเมื่อมีการค้นหากําหนดการข่าวนี้ ทําให้ทราบว่า มีทีมข่าวของสถานีถูกระบุว่ารับเงินในวันที่ที่มีการจ่ายเงินด้วย จึงมีการตรวจสอบกันว่า ใครเกี่ยวข้องในกรณีนี้บ้าง เพราะไม่แน่ใจว่าสํานักวิจัยเอแบคโพลล์มีการให้ซองเงินแก่นักข่าวจริงหรือไม่ เนื่องจากข่าวที่ทําเรื่องนี้ เป็นกําหนดการข่าวที่รายการเป็นผู้กําหนดประเด็นขึ้นเอง ไม่ใช่ประเด็นที่ทางสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ต้องการจะประชาสัมพันธ์ผลงานของตน"
ขณะที่ อดีตผู้ประสานงานโครงการพิเศษไทยพีบีเอส ที่รับผิดชอบไปทำข่าวสํานักวิจัย
เอแบคโพลล์ ดังกล่าว ชี้แจงต่อคณะกรรมการว่า เข้าไปทําข่าวที่สํานักวิจัยเอแบคโพลล์จริง พอทําข่าวเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่สํานักวิจัยเอแบคโพลล์มอบซองสีชมพูมาให้ 1 ซอง พอเปิดซองออกมาเป็นเงินประมาณหลักพัน แต่ไม่ได้คิดอะไร เพราะตั้งแต่ทําข่าวมายังไม่เคยได้รับเงินจากแหล่งข่าวเลย ตอนที่รับซองมาพร้อมกับเอกสาร ทางเจ้าหน้าที่สํานักวิจัยเอแบคโพลล์ ก็ไม่ได้แจ้งอะไรด้วย
อดีตผู้ประสานงานโครงการ ยังระบุด้วยว่า เพิ่งมาทํางานเป็นนักข่าว ไม่ทราบว่าสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ให้เงินนั้นเป็นค่าอะไร ซึ่งทางสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ไม่ได้เป็นผู้เรียกให้ทางสถานีไปทําข่าวนี้ แต่เป็นการไปทําข่าวตามประเด็นของสถานีเอง และไม่มีการให้ลงชื่อรับเงินในเอกสารใด ๆ ผู้ที่นําเอกสารและซองเงินมามอบให้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้หญิงของสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ ไม่ใช่ผู้ที่ให้สัมภาษณ์
"พอสัมภาษณ์เสร็จ ก็ขอตัวกลับไปสถานี ไม่ได้รายงานให้หัวหน้ารับทราบ เพราะไม่ทราบมาก่อนว่าเรื่องนี้เป็นความผิด ตอนนั้นยังเป็นเด็ก ยังไม่ได้มีความคิดอะไร เพราะเพิ่งจบมาไม่นาน คิดว่านักข่าวคงทํากันอย่างนี้"
"เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของตัวเองว่า การให้เงิน ควรเป็นกรณีที่แหล่งข่าวเป็นผู้จ้างไปทําข่าว ให้ไปทําข่าวแล้ว จึงมอบเงินให้ แต่ครั้งนี้ สถานีมีประเด็นที่จะทําข่าวเอง แล้วหาผู้ที่มีข่าวประเด็นนี้ ให้กับสถานีได้ โดยปกติ การไปทําข่าวในต่างจังหวัด ชาวบ้านมักจะให้ผลไม้มา ที่ให้เงินแก่นักข่าวมีที่นี่ที่เดียว" อดีตผู้ประสานงานโครงการพิเศษไทยพีบีเอส ที่รับผิดชอบไปทำข่าวสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ ดังกล่าว ระบุ
@ พิธีกรข่าวสาวคนที่สอง
ถูกระบุว่า ได้เงินจำนวน 39,000บาท จากสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ ผ่านอดีตนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ที่รับเงินค่าตอบแทนมากที่สุด จำนวน 2,150,866 บาท
ทั้งนี้ ในการชี้แจงข้อมูลของอดีตนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ยืนยันว่า เงินจำนวน 39,000บาท ได้นำไปจ่ายให้กับ พิธีกรข่าวสาว มีชื่อย่อว่า 'ข' เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการทำหน้าที่พิธีกรให้กับสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ เนื่องจากเป็นเพื่อนกัน
พร้อมระบุว่า ตนเองเป็นผู้ชักชวนให้ พิธีกรสาวรายนี้ มาทำงานเป็นพิธีกรให้ ซึ่งหลังจบงานได้มีการนำเงินไปมอบให้กับพิธีกรสาวรายนี้เรียบร้อยแล้ว
เงินจำนวนนี้ จึงไม่ใช่ค่าตอบแทนนักข่าวแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในการชี้แจงข้อมูลต่อคณะกรรมการฯ อดีตนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 รายนี้ ได้ยืนยันว่า เงินที่ได้จากสํานักวิจัยเอแบคโพลล์เป็นเงินค่าวิทยากร ค่าสอนหนังสือ ในฐานะเป็นอาจารย์ ค่าจ้างที่ปรึกษาในการประชาสัมพันธ์ ไม่ได้เป็นเงินค่าตอบแทนที่ให้กับนักข่าว แต่ก็ไม่ได้ส่งหลักฐานประกอบการชี้แจงแต่อย่างใด การให้ถ้อยคำยังมีลักษณะขัดแย้งกับข้อมูลในเอกสารหลักฐานที่ปรากฎ
คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า เงินที่นักข่าวรายนี้ได้รับตอบแทนจากสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ไป เป็นค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับนักข่าว
ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนฯ สรุปผลออกมาแบบนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจอะไร ที่จะมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เงินจำนวน 39,000บาท ที่พิธีกรสาวได้รับไป
แท้จริงแล้ว เป็นเงินค่าจ้างพิธีกร หรือ เงินค่าตอบแทนนักข่าวกันแน่?
(อ่านประกอบ : โดนยัดซองในเอกสาร!'ไทยพีบีเอส' แจงนักข่าวรับเงิน'เอแบคฯ'พ้นสภาพนานแล้ว)