- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ผลสอบ สตง.เฉลยจุดอ่อน! งบท่องเที่ยวเจ๊ง 324 ล.-ชงปลัดฯแก้ด่วน!
ผลสอบ สตง.เฉลยจุดอ่อน! งบท่องเที่ยวเจ๊ง 324 ล.-ชงปลัดฯแก้ด่วน!
“…จากการตรวจสอบพบจุดอ่อนสําคัญของการจัดทํารายละเอียดของโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณของกรมการท่องเที่ยว และการจัดทําข้อเสนอโครงการของหน่วยงานเจ้าของโครงการโดยไม่มีรายละเอียดข้อมูลที่ครบถ้วน ชัดเจน ไม่สามารถจะวิเคราะห์ถึงความเหมาะสม และความสําเร็จที่แท้จริงตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้…”
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในทันที !
ภายหลังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบงบประมาณโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2552-2557 จากทั้งหมด 361 โครงการ 2.6 พันล้านบาท (ดำเนินการแล้วเสร็จ 141 โครงการ 914 ล้านบาท)
พบว่า มีบางโครงการ “ล้มเหลว” ถูกทิ้งร้าง-ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ทำรัฐเสียหายกว่า 324 ล้านบาท !
(อ่านประกอบ : สตง.พบงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวปี’52-57 ล้มเหลว 35% เจ๊ง 324 ล.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญของผลสอบ สตง. ในกรณีดังกล่าว มานำเสนอดังนี้
ผลการดําเนินงานการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามแผนที่กําหนดไว้
ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่ํากว่าแผนที่กําหนดไว้เป็นจํานวนมากทุกปีงบประมาณ และโครงการส่วนใหญ่ไม่สามารถดําเนินการได้ภายในปีงบประมาณที่สนับสนุน บางโครงการล่าช้า 2 – 3 ปีอาจทําให้สภาพต่าง ๆ ของพื้นที่หรือความต้องการและความจําเป็นอาจเปลี่ยนแปลงไป
ส่งผลให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่า ซึ่งเป็นการบริหารงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศและไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยพบว่า
1.1 ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่ำกว่าแผนที่กําหนดไว้เป็นจํานวนมากทุกปีงบประมาณ โดยมีจำนวนเงินที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ภายในปีงบประมาณนั้น ๆ รวม 5 ปีเป็นเงิน 1,495.23 ล้านบาท
1.2 การดําเนินงานตามโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นไปอย่างล่าช้า โดยพบว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 – 2556 กรมการท่องเที่ยวมีแผนสนับสนุนงบประมาณให้กับโครงการต่าง ๆ จํานวน 342 โครงการ มีจํานวนโครงการที่ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณที่สนับสนุนโครงการ ซึ่งเป็นการดําเนินงานล่าช้า/ไม่เป็นไปตามแผน มีจํานวนมากคิดเป็นร้อยละ 91.30 ของจํานวนโครงการทั้งหมด
จากการสุ่มตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับผลการดําเนินโครงการของปีงบประมาณ พ.ศ. 2552–2556 ใน 22 จังหวัดจํานวน 201 โครงการข้อมูลเพียงวันที่ 11 มีนาคม 2557 ซึ่งควรต้องดําเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้ว พบว่า มีบางโครงการที่ยังดําเนินการไม่แล้วเสร็จ จํานวน 47 โครงการ ในจํานวนนี้พบว่าเป็นโครงการของปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 – 2556 แสดงได้ว่าล่าช้าไม่น้อยกว่า 1 – 3 ปี
ปัญหาสําคัญที่ส่งผลต่อความล่าช้าของการดําเนินการดังกล่าว พบว่า เกิดจากโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณไปยังสํานักงบประมาณของกรมการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะถูกตัดงบประมาณเป็นรายโครงการ ทําให้ไม่สามารถดําเนินการตามแบบรูปรายการที่แต่ละโครงการกําหนดไว้ได้ตลอดจนต้องผ่านกระบวนการพิจารณาแบบรูปรายการใหม่ซึ่งมีจํานวนมากและใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน
จากการตรวจสอบพบจุดอ่อนสําคัญของการจัดทํารายละเอียดของโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณของกรมการท่องเที่ยว และการจัดทําข้อเสนอโครงการของหน่วยงานเจ้าของโครงการโดยไม่มีรายละเอียดข้อมูลที่ครบถ้วน ชัดเจน ไม่สามารถจะวิเคราะห์ถึงความเหมาะสม และความสําเร็จที่แท้จริงตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้ในขณะที่ กระบวนการพิจารณากลั่นกรองของสํานักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด/จังหวัด และกรมการท่องเที่ยวไม่ได้ดําเนินการอย่างเคร่งครัด
ตลอดจนไม่มีการสอบทานพื้นที่เป้าหมายการดําเนินโครงการก่อนการพิจารณาอนุมัตินอกจากนี้ยังพบปัญหาความไม่พร้อมของพื้นที่เป้าหมายที่ผ่านการพิจารณาและได้รับการอนุมัติให้ดําเนินการ ซึ่งบางแห่งติดปัญหาเรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงทําให้เกิดความล่าช้าและไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนที่กําหนดได้
ข้อเสนอแนะ ให้อธิบดีกรมการท่องเที่ยว พิจารณาดําเนินการดังนี้
1. รายงานข้อมูลปัญหา อุปสรรค โดยจัดทําอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอไปยังปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อรับทราบและนําเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อนําเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้รับทราบปัญหาต่อไป
กรณีที่งบประมาณเพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่เสนอขอรับการจัดสรรแต่ละปีโดยปรากฏว่าโครงการส่วนใหญ่ถูกสํานักงบประมาณตัดงบประมาณเป็นรายโครงการ ส่งผลกระทบต่อแบบรูปรายการที่ต้องปรับตามเพื่อให้สอดคล้องกันซึ่งจะใช้เวลาค่อนข้างนานในการดําเนินการ ทั้งกระบวนการประสานงานไปยังหน่วยงานในพื้นที่/เจ้าของโครงการ การปรับแบบโดยหน่วยงานเจ้าของโครงการ และการพิจารณาสอบทานแก้ไขการปรับแบบรูปรายการโดยกรมการท่องเที่ยว ในขณะที่กรมการท่องเที่ยวมีข้อจํากัดอย่างมากด้านบุคลากรที่มีความรู้ความชํานาญด้านการออกแบบ การดําเนินการตามกระบวนการต่าง ๆ ประกอบกับโครงการที่ต้องดําเนินการกรณีดังกล่าวมีเป็นจํานวนมาก ทําให้การดําเนินการประสบปัญหาล่าช้าอย่างมากมีเงินค้างเบิกจ่ายเป็นจํานวนมากทุกปีและจะไม่สามารถตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลได้
ทั้งนี้กรมการท่องเที่ยวต้องให้ความสําคัญต่อการพิจารณาทบทวนการจัดทํารายละเอียดโครงการ ประกอบการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจําปีเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยต้องมีรายละเอียดและแผนการดําเนินงานและกิจกรรมที่ชัดเจน ที่ต้องสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนมีความชัดเจนต่อการปฏิบัติในทิศทางที่จะเกิดผลสําเร็จตามการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของกรมการท่องเที่ยว วัตถุประสงค์ของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างแท้จริง และจะเกิดความคุ้มค่าโดยเหมาะสม และผ่านการพิจารณากลั่นกรองแล้วอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทุกโครงการ
2. ให้มีการพิจารณาทบทวนรวมถึงประเมินผลการดําเนินงานที่ผ่านมาของกรมการท่องเที่ยว
เพื่อทราบจุดอ่อนของการดําเนินการที่ส่งผลต่อความล่าช้า และทราบว่าแต่ละขั้นตอนใช้ระยะเวลาของการดําเนินการมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะขั้นตอนการสอบทานและปรับแบบรูปรายการของกรมการท่องเที่ยว เพื่อพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีที่เกิดขึ้น รวมถึงสั่งการกําชับให้ผู้ที่รับผิดชอบเร่งรัดดําเนินการโดยเร็วตามกรอบระยะเวลาที่กําหนดโดยเหมาะสม
3. ให้ความสําคัญในการนํามาตรการ เงื่อนไข และแนวทางการปฏิบัติงานที่กรมการท่องเที่ยวกําหนดขึ้นใหม่และประกาศใช้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จริงจัง
ทั้งหน่วยงานเจ้าของโครงการ สํานักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด และกรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการจัดส่งข้อมูลเอกสาร หลักฐาน ประกอบการเสนอขอรับการสนับสนุนโครงการ ข้อเสนอโครงการ และการพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ ต้องมีความครบถ้วน ชัดเจนในทุกกระบวนการตามที่กรมการท่องเที่ยวกําหนด เช่น หลักฐานการแสดงถึงความพร้อมด้านพื้นที่ดําเนินโครงการ อาทิหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์การอนุญาตให้ใช้พื้นที่หรืออนุญาตให้ดําเนินการได้จากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
4. สั่งการ กําชับผู้ที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสําคัญต่อการติดตามความคืบหน้าของการดําเนินการในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุน
โดยต้องจัดส่งรายงานตามรูปแบบและระยะเวลาที่กรมการท่องเที่ยวกําหนดโดยเคร่งครัด โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกรมการท่องเที่ยวต้องมีการพิจารณาสอบทาน ติดตามอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่กําหนดให้ต้องส่งรายงานความคืบหน้า หากเห็นว่ามีความผิดปกติหรือความล่าช้าประการใด กรมการท่องเที่ยวต้องให้มีกระบวนการติดตาม เร่งรัด หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้หน่วยงานในพ้นทื ี่มีการดําเนินการที่เป็นไปโดยเร็ว
ทั้งหมดคือผลการตรวจสอบบางส่วนและข้อเสนอแนะของ สตง. ชงเรื่องไปยังปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยด่วน !
ส่วนจะมีโครงการไหนบ้างที่ติดโผ โปรดติดตามต่อเร็ว ๆ นี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบสถานที่ท่องเที่ยวจาก handupthailand.com