- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- โชว์ 5 กรอบใหญ่ร่าง รธน.ใหม่"ฉบับมีชัย" จับตา คปป.แปลงร่าง?
โชว์ 5 กรอบใหญ่ร่าง รธน.ใหม่"ฉบับมีชัย" จับตา คปป.แปลงร่าง?
“…ในข้อสามที่ระบุว่า ให้มี “มาตรการ” เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง โดยใช้เงินไป “ล่อใจ” ประชาชน จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาตินั้น อาจหมายความถึงการจัดตั้งองค์กรใหม่ในรัฐธรรมนูญที่อาจมีอำนาจคล้ายคลึงกับ คปป. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด “วิกฤติ” ขึ้นมาอีกหรือไม่ อย่างไร ?...”
เห็นโผรายชื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้ง 21 คนไปแล้ว เป็นไปตามคาด “มีชัย ฤชุพันธุ์” เนติบริกรใหญ่ ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่งเป็นประธานฯ
พร้อมกับนำ “พลพรรค” จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงเครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัย-นักวิชาการ-นักกฎหมาย มาร่วมลง “เรือแป๊ะ” ลำใหม่นี้ด้วย
“เมื่อนายกฯในฐานะผู้ที่ต้องรับผิดชอบสูงสุด และเป็นผู้ที่เสี่ยงเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองให้ลุล่วงไป ได้ยืนยันว่ามีความจำเป็น ผมก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่สมควรจะไปซักไซ้มากกว่านี้ ก็ต้องเชื่อในดุลยพินิจของท่าน และในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง มีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือตามกำลังความสามารถ ผมจึงไม่อาจเห็นแก่ความสุขสบายที่ชักจะเริ่มเคยตัว และไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธได้ ไม่เช่นนั้นจะได้ชื่อว่า เป็นพวกที่ไม่รู้จักทดแทนคุณของแผ่นดิน”
เป็นคำยืนยันของ “มีชัย” ภายหลังมติที่ประชุม คสช. แต่งตั้งให้เป็นประธาน กรธ.
พร้อมกับเปิดเผย 5 กรอบใหญ่ในการร่างรัฐธรรมนูญ ตามความมุ่งหมายของ คสช. !
มีอะไรบ้าง ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเปิดเผยให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
หนึ่ง ให้เป็นที่ยอมรับนับถือของสากล ในขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหา ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประเทศไทยและคนไทยที่มีหรือเป็นอยู่
สอง ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูปและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้
สาม ให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้การเมืองใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้องโดยใช้เงินแผ่นดินไปอ่อยเหยื่อกับประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรม โดยมิได้มุ่งหมายให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขในระยะยาว จนเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรงและเกิดวิกฤติที่หาทางออกไม่ได้
สี่ มีแนวทางการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างได้ผล
ห้า สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในอันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และร่วมกันรับรู้และรับผิดชอบต่อความเจริญและการพัฒนาประเทศสังคมโดยรวม
เมื่อพิจารณาจากกรอบใหญ่ข้างต้น จะเห็นได้ว่าในข้อที่สอง กับสามคล้ายคลึงกับต้นกำเนิดของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง (คปป.) ในร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ” อย่างมาก จนเป็นหนึ่งในชนวนเหตุให้ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
เพราะในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว ระบุหน้าที่ของ คปป. ไว้นอกเหนือจากการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่าง ๆ แล้ว ยังมีอำนาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการขจัดความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง และหากคณะรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอหรือแนวทางและมาตรการใดได้ชี้แจงเหตุให้รัฐสภาและ คปป. ทราบ หาก คปป. ทบทวนข้อเสนอดังกล่าวแล้ว มีมติยืนยันด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามมติของ คปป.
ขณะเดียวกันถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นเอกราช หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ หรือกรณีมีความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงในประเทศ หรือพูดง่าย ๆ ว่า “เกิดวิกฤติทางการเมือง-เศรษฐกิจ” คปป. จะลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 มีอำนาจใช้ “มาตรการ” ที่จำเป็นเพื่อจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวแทนได้
ดังนั้นในข้อสามที่ระบุว่า ให้มี “มาตรการ” เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง โดยใช้เงินไป “ล่อใจ” ประชาชน จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาตินั้น อาจหมายความถึงการจัดตั้งองค์กรใหม่ในรัฐธรรมนูญที่อาจมีอำนาจคล้ายคลึงกับ คปป. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด “วิกฤติ” ขึ้นมาอีกหรือไม่ อย่างไร ?
สอดคล้องกับคำพูดของ "บิ๊กต๊อก" พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และแกนนำ คสช. ยืนยันว่า ต้องสร้างความเข้าใจในการมี คปป. โดยที่หลายคนเกรงว่ากลายเป็นรัฐซ้อนรัฐ และเมื่อกังวลใจจึงต้องสร้างการรับรู้และให้เข้าใจว่าทำไมต้องเกิดกลไกนี้ขึ้นมา เพราะสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือจะมีอะไรเป็นหลักประกันว่า สิ่งที่ คสช. สิ่งที่รัฐบาลคิดมา รัฐบาลใหม่จะเดินหน้าสานต่อ ทั้งการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ซึ่งนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องมีกลไกอันหนึ่งขึ้นมา รวมถึงต้องมีกลไกมาสร้างความปลอดภัยและการสร้างความปรองดองให้กับประเทศด้วย
"วันนี้กลไกที่ว่าเรียกว่า คปป. แต่อนาคตมันอาจจะมีกลไกใหม่ขึ้นมาแทน คปป.ก็ได้ ตามที่นายกฯ ให้ไปช่วยคิดกันมา แต่ต้องมุ่งไปสู่การปฏิรูป การปรองดองประเทศได้ ไม่มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังมี กรธ.อีก 2-3 เดือนก็จะรู้แล้ว หน้าตากลไกที่ว่าจะเป็นอย่างไร มีแนวทางเป็นอย่างไร"
บทสรุปทั้งหมด ต้องจับตาดู 21 อรหันต์ชุดใหม่ ที่จะเริ่มประชุมนัดแรก ที่รัฐสภาในวันที่ 6 ต.ค. นี้ !
อ่านประกอบ : เจาะโครงสร้างกก.ยุทธศาสตร์ฯ "รัฏฐาธิปัตย์ซ่อนรูป" สืบทอดอำนาจ คสช.?
หมายเหตุ : ภาพประกอบรัฐสภาจาก mthai, ภาพนายมีชัยจาก munjeed.com, ภาพพานรัฐธรรมนูญจาก 3armyarea-rta.com