- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- พันธสัญญา "ปค." เปิดเกมรุกเต็มสูบป้องงบตำบลละ 5ล. โชยกลิ่นทุจริตแรง?
พันธสัญญา "ปค." เปิดเกมรุกเต็มสูบป้องงบตำบลละ 5ล. โชยกลิ่นทุจริตแรง?
"..ขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่า หากโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลครั้งนี้ล้มเหลวหรือเสียหาย เนื่องจากการทุจริตหรือเรียกเงินจากผู้รับเหมา/ผู้รับจ้างหรือใช้รายชื่อผู้รับจ้างมาเบิกเงินโครงการโดยไม่ได้จัดทำโครงการแล้ว จะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติบ้านเมืองของเราและจะทำให้ฝ่ายปกครองไม่ได้รับความไว้วางใจทั้งจากรัฐบาลและประชาชนอีกต่อไป.."
ทำไมกรมการปกครอง ถึงกลัวปัญหาทุจริตโครงการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาท มากนัก?
คือ คำถามที่อยู่ในใจหลายคน หลังจากที่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้หนังสือเวียนหลายฉบับ ไปถึงหัวหน้าส่วนราชการท้องถิ่น ให้ดูแลเข้มงวดการดำเนินงานตามโครงการนี้เป็นพิเศษ ห้ามมิให้มีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด
"ขอให้ผวจ.และนอภ.ทุกท่านได้ลงไปกำกับดูแลการจัดทำโครงการและการพิจารณาอนุมัติโครงการโดยใกล้ชิดอย่าให้เกิดช่องว่างนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่นอย่างเด็ดขาด"
"ปค.ทราบดีว่า ขณะนี้มี ผวจ./นอภ./ปลัดอำเภอตลอดจน กำนัน/ผญบ.จำนวนมากได้ให้ความสำคัญต่องานตามโครงการดังกล่าว โดยได้ตั้งใจร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ด้วยความทุ่มเททั้งในและนอกเวลาราชการด้วยความเหนื่อยยาก เพราะต้องเร่งรัดงานต่างๆให้ทันตามกำหนดเวลาที่รัฐบาลได้กำหนดไว้เพื่อมุ่งช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติ และประชาชน ปค จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย และจะได้นำผลงานดังกล่าวมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาบำเหน็จความชอบ การเลื่อนระดับ หรือการแต่งตั้ง โยกย้ายด้วยระบบคุณธรรม(merit system)ต่อไปด้วย"
(อ่านประกอบ : ใช้ผลงานตัดสินเลื่อนขั้น-โยกย้าย! ปค.สั่งคุมงบตำบลละ5 ล. ห้ามทุจริตเด็ดขาด)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2558 นายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้รับทราบข้อสั่งการของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การบริหารจัดการตามโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ในการประชุมกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2558 ที่ผ่านมา ในหลายประเด็น
โดยเฉพาะการจัดทำโครงการเพื่อเสนอขออนุมัติงบประมาณที่จะต้องมีความโปร่งใส่ ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
อย่างไรก็ดี หนึ่งในข้อสั่งการของ พล.อ.อนุพงษ์ ที่ปรากฎให้หนังสือดังกล่าว คือ กรณีมีการกล่าวอ้างว่า มีผู้ประกอบการบางรายสามารถประสานงานกับจังหวัด/อำเภอ /กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน /คณะกรรมการหมู่บ้าน ในการจัดทำรายละเอียดโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล เพื่อหวังผลเข้ามาดำเนินโครงการในลักษณะผูกขาด
(อ่านประกอบ : กลิ่นทุจริตแรง! "พล.อ.อนุพงษ์" สั่งสอบเอกชนจ้องผูกขาดงบตำบลละ 5 ล้าน)
นับจนถึงจุดๆ นี้ คำตอบที่พอคงคาดเดากันได้ไม่ยาก คือ การดำเนินงานโครงการลักษณะนี้ไม่ใช่โครงการใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศ มีหลายโครงการที่ทำกันมาแล้ว และก็ประสบปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นมาตลอด
อาทิ การขออนุมัติโครงการลม ได้งบประมาณไปแล้วก็ไม่ได้นำเงินไปใช้ทำโครงการจริง เงินถูกนำไปแบ่งกันในกลุ่มชาวบ้าน มีการเรียกรับประโยชน์ค่านายหน้าหัวคิว เอกชนหัวใสเข้าไปติดต่อกับชาวบ้านเพื่อเสนอทำโครงการให้มาซื้อสินค้าของตนเอง เป็นต้น
ส่งผลทำให้เม็ดเงินในโครงการจำนวนมหาศาล แทนที่จะกระจายเข้าไปในพื้นที่เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า พยุงเศรษฐกิจของประเทศ ก็ไม่เกิดผลสำเร็จเท่าที่ควร
แถมยังสถานะของโครงการยังกลายเป็นขุมทรัพย์ให้คนบางกลุ่มเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์อย่างอิ่มหมีพลีมันกันเป็นแถว
แต่ที่สำคัญที่สุด หากโครงการนี้ซึ่งเกิดขึ้นในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประกาศนโยบายต่อสาธารณชนว่า จะปราบปรามปัญหาการทุจริตให้หมดสิ้นไป เกิดปัญหาการทุจริตขึ้น จะกระทบต่อภาพลักษณ์และเกิดเป็นช่องโหว่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามนำมาใช้เป็นข้อมูลโจมตีการทำงาน
ประหนึ่งว่า "พวกคุณดีกว่าพวกผมตรงไหน?"
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ในกรมการปกครอง ว่า นายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง ได้ทำหนังสือฉบับใหม่ แจ้ง ผวจ./นอภ./กำนัน/ผญบ./กรรมการหมู่บ้าน/ชุมชนทุกจังหวัด เพื่ออธิบายถึงความสำคัญในโครงการนี้อีกครั้ง
ระบุว่า ขณะนี้หมู่บ้าน ตำบลต่างๆคงกำลังจัดทำโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลๆละ 5 ล้านบาท
ปค.ขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า ในการจัดทำโครงการขอให้พวกเรายึดหลักการมีส่วนร่วม ทำโครงการเพื่อผลประโยชน์ของพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน เป็นหลัก ยึดความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ด้วย ทั้งนี้ขอให้แนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม ดังนี้
1. ขอให้อำเภอเน้นย้ำ กม. ร่วมกันพิจารณาว่าปัญหาของหมู่บ้านตำบลที่ชาวบ้านประสบอยู่นั้นมีปัญหาอะไรบ้างเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่หรือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในหมู่บ้าน ตำบลหรือไม่ และให้ กม.จัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหาให้ชัดเจนแน่นอนด้วย
2. ปค.คาดการณ์ว่าในช่วงเวลาอีก 3-4 เดือนข้างหน้านั้น ประเทศไทยจะประสบปัญหาความแห้งแล้งมากกว่าทุกปี ดังนั้น การจัดทำโครงการควรเน้นในเรื่องการซ่อมแซมหรือสร้างที่เก็บน้ำ เช่น เหมือง/ฝาย/การทำความสะอาดลำห้วย หนอง คลอง บึงให้ปราศจากผักตบชวาหรือขยะขวางทางน้ำ/การขยายประปาหมู่บ้าน/การขุดบ่อสระขนาดต่างๆคล้ายหลุมขนมครกไว้ดักหรือกักนำ้ไว้ใช้ในฤดูแล้งหรือประสานงานกับมูลนิธิปิดทองหลังพระในการซ่อม/สร้าง/เสริมสร้างแหล่งน้ำต่างๆตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย
3. ขอให้หลีกเลี่ยงการทำโครงการจัดซื้อ จัดหาคุรุภัณฑ์ เช่น หม้อข้าวหม้อแกงเต๊นท์ โต๊ะ เก้าอี้ ชุดอุปกรณ์เครื่องกระจายเสียงมาแจกจ่ายหรือมาติดตั้งรวมทั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในหมู่บ้านด้วยไม่ควรจัดซื้ออย่างยิ่ง
4. ในความสับสน ความไม่เข้าใจของหมู่บ้าน/ตำบลในพื้นที่ที่ถูกหักเงินจากมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือเกษตรกรฯ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนโดยสนับสนุนจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรฯทำให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่ครบตำบลละ 5 ล้านบาทนั้น ขอให้จังหวัด/อำเภอจัดทำป้ายประกาศและข่าวประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางหลายๆครั้งเพื่อให้ให้กำนัน/ผญบ./กรรมการหมู่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบว่า วงเงินที่ถูกหักไปนำไปใช้ในมาตรการใด โครงการอะไร วงเงินเท่าใด ในพื้นที่ใด
5. ในการแสดงความซื่อสัตย์ สุจริตและบริสุทธิ์ใจ โปร่งใส ตรวจสอบได้ขอให้นายอำเภอ/ผวจ.ได้แต่งตั้งผู้แทนหอการค้า/สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเข้าเป็นกรรมการพิจารณาโครงการระดับจังหวัดและหรือร่วมเป็นกรรมตรวจติดตามโครงการในพื้นที่ด้วยพร้อมทั้งควรจัดทำป้ายแสดงรายละเอียดของโครงการแสดงไว้ในหมู่บ้าน ตำบล เพื่อให้ประชาชนมาตรวจสอบ ประเมินผลโครงการ จะได้รับรู้ รับทราบว่าเงินตำบลละ 5 ล้านบาทได้มาทำประโยชน์อะไรบ้างในหมู่บ้าน ตำบล
6. ขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่า หากโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลครั้งนี้ล้มเหลวหรือเสียหาย เนื่องจากการทุจริตหรือเรียกเงินจากผู้รับเหมา/ผู้รับจ้างหรือใช้รายชื่อผู้รับจ้างมาเบิกเงินโครงการโดยไม่ได้จัดทำโครงการแล้ว จะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติบ้านเมืองของเราและจะทำให้ฝ่ายปกครองไม่ได้รับความไว้วางใจทั้งจากรัฐบาลและประชาชนอีกต่อไป
อย่าลืมนะครับว่า เรายังเหลือเวลาให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เข้าใจผิด จนอาจทำให้โครงการไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ไปได้อีก 5-7 วันก่อนถึงวันที่ 30 ก.ย. 58 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการเสนอโครงการ
"ผมในฐานะอธิบดีกรมการปกครอง และในวาระที่จะมาทำหน้าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย นั้น จึงขอเน้นย้ำมายังผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอทุกท่านได้ลงไปตรวจสอบ ดูแล แก้ไขปัญหา อุปสรรค หรือจัดระบบการกำกับติดตามการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลโดยใกล้ชิดด้วยตนเอง อย่าให้เกิดการทุจริตเรียกเงิน หรือผลประโยชน์ที่มิชอบจากโครงการนี้โดยเด็ดขาดครับ"
เห็นความตั้งใจจริง ของ อธิบดีกรมการปกครอง ที่พยายามหาทางป้องกันปัญหาการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้นในโครงการนี้แล้ว ก็อดรู้สึกชื่นชมไม่ได้
แต่โลกแห่งความเป็นจริง โหดร้ายกว่าโลกในความฝันมาก
สิ่งที่อธิบดีกรมการปกครองคาดหวังไว้จะทำได้ดีแค่ไหน ขณะนี้ยังไม่มีใครรู้
แต่ที่รู้แน่ๆ คือ กลิ่นทุจริตโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ในระดับพื้นที่ คงโชยกันมาแรงมากๆ
ไม่งั้น "อธิบดีปค." รวมไปถึง "รมว.มหาดไทย" คงไม่ออก "ตัวแรง" วางมาตรการป้องปราบการทุจริตคอร์รัปชันอย่าง เข้มข้น ขนาดนี้