- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เบื้องหลัง! ตั้งอัยการแก้ต่าง "สมชาย-พวก" คดีสลายพธม.ครม."บิ๊กตู่" จัดให้
เบื้องหลัง! ตั้งอัยการแก้ต่าง "สมชาย-พวก" คดีสลายพธม.ครม."บิ๊กตู่" จัดให้
"..คำถามสำคัญในเวลานี้ที่สาธารณชนต้องร่วมกันค้นหาความจริงกันต่อไป คือ บุคคลที่ทำหนังสือไปถึงอสส. เพื่อขอให้แต่งตั้งพนักงานอัยการเข้ามาทำหน้าที่เป็นทนายความแก้ต่างในคดีนี้ เป็นใครกันแน่?.."
ทำไม "พนักงานอัยการ" ถึงถูกแต่งตั้งให้เข้ามาทำหน้าเป็นทนายความแก้ต่างคดีให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. ได้?
น่าจะเป็นคำถามสำคัญที่ค้างคาใจใครหลายคน หลังองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีความที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 4 ราย ในฐานะจำเลย กรณีคดีกล่าวหาการสั่งสลายการชุมนุมปี 2551 เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา
และมีคำสั่งให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 4 ราย แต่งตั้งทนายความใหม่เข้ามาดำเนินการกระบวนการพิจารณาคดีแทนพนักงานอัยการที่ถูกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ทนายความแก้ต่างในคดีให้ก่อนหน้านี้
เนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาเห็นว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจว่าความแก้ต่างในคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้งสี่ได้
(อ่านประกอบ : ศาลฎีกามติ 8 ต่อ 1ห้ามตั้งอัยการแก้ต่างให้"สมชาย-พวก"คดีสลาย พธม.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบข้อมูลสำคัญเพิ่มว่า ก่อนหน้าที่ จำเลยทั้งสี่ ในคดีนี้ ประกอบไปด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. จะมอบหมายให้ทนายความส่วนตัว แถลงต่อศาลว่า ประสงค์จะให้พนักงานอัยการแก้ต่างคดีให้ ก่อนที่องค์คณะผู้พิพากษา จะลงมติ 8 ต่อ 1 เสียงเห็นว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจว่าความแก้ต่างในคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้งสี่ได้
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2558 มีการนำเรื่องการแต่งตั้งให้พนักงานอัยการเป็นผู้แก้ต่างคดีให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมอย่างเป็นทางการ
โดย ครม.พิจารณาแล้วเห็นว่า
1. ปัจจุบันพนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการรับแก้ต่างในคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือคดีอาญา ให้แก่ส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 และมติครม. (12 ธ.ค.2549) อยู่แล้ว แต่พนักงานอัยการจะไม่รับแก้ต่างให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ซึ่งถูกหน่วยงานของรัฐ เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องคดีในกรณีที่พนักงานอัยการรับดำเนินการฟ้องคดีแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น
2. ที่ผ่านมาปรากฎว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการโดยไม่ใช่พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดี เช่น กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องคดีเอง เพราะพนักงานอัยการมีความเห็นไม่ควรฟ้อง เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องว่า จ้างทนายความในการแก้ต่างคดีด้วยตนเอง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ปฏิบัติตามหน้าที่ทางราชการย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 อยู่แล้ว
ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการในกรณีดังกล่าว เห็นควรประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุดให้พนักงานอัยการพิจารณารับแก้ต่างให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีข้อ 1 และข้อ 2 ด้วย
ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบในหลักการและมอบให้รองนายกรัฐมนตรี (วิษณุ เครืองาม) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับความเห็นของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ในทำเนียบรัฐบาลว่า การพิจารณาเรื่องนี้ของที่ประชุม ครม. มีความเกี่ยวข้องกับคดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น ในฐานะจำเลยกรณีคดีกล่าวหาการสั่งสลายการชุมนุมปี 2551 โดยตรง
"ก่อนหน้าที่ ครม.จะมีมติเรื่องนี้ออกมา มีบุคคลๆ หนึ่ง ได้ทำหนังสือไปถึง อสส. เพื่อให้ตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความแก้ต่างคดีนี้ให้ เบื้องต้น อสส.ได้มีการตั้งคณะทำงานชุดใหญ่ขึ้นมาพิจารณา ปรากฎว่า คณะทำงานเสียงส่วนใหญ่ เห็นว่า ไม่สามารถทำได้ โดยมีความเห็นสอดคล้องกับความเห็นทางกฎหมายขององค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ออกมา"
"แต่ก็ความเห็นของพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาที่เป็นเสียงส่วนน้อย ที่อยากรับทำคดีให้ จากนั้นไม่นาน บุคคลคนนี้ผลักดันให้มีการตั้งเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม. และปรากฎออกมาเป็นมติดังกล่าว เพื่อประสานไปยัง อสส.ให้พิจารณาแต่งตั้งพนักงานอัยการเข้ามาเป็นทนายความแก้ต่างคดีให้ดังกล่าว"
ส่วนมติ ครม. ที่ออกมาจะมีความเหมาะสมหรือไม่ ขอให้พิจารณาความเห็นทางกฎหมายขององค์คณะผู้พิพากษาที่ระบุไว้ 2 ประการหลัก แบบชัดๆ อีกครั้ง คือ
1. การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายแผ่นดินตามมาตรา 11 มิใช่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อต่อสู้คดีกับแผ่นดินในกรณีที่แผ่นดินโดยองค์กรของรัฐเป็นผู้ฟ้องคดีเสียเอง
2. ประกอบกับการดำเนินคดีนี้ ศาลจะต้องใช้สำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา เมื่อปรากฎจากคำฟ้องว่า อัยการสูงสุดส่งสำนวน รายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องคืนให้แก่โจทก์เพื่อฟ้องคดีเอง แสดงว่าอัยการสูงสุดเห็นควรไม่ฟ้องคดีนี้ให้แก่องค์กรของรัฐแล้วการที่พนักงานอัยการจะเข้าแก้ต่างคดีนี้ให้แก้จำเลยทั้งสี่ จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฎิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการซึ่งได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542
อย่างไรก็ดี คำถามสำคัญในเวลานี้ที่สาธารณชนจะต้องร่วมกันค้นหาความจริงกันต่อไป คือ บุคคลที่ทำหนังสือไปถึงอสส. เพื่อขอให้แต่งตั้งพนักงานอัยการเข้ามาทำหน้าที่เป็นทนายความแก้ต่างในคดีนี้ เป็นใคร?
ทำไมถึง มีอำนาจบารมี ขนาดผลักดันให้มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม. เพื่อใช้อำนาจมติครม. แจ้งให้ อสส. พิจารณาแต่งตั้งพนักงานอัยการเข้ามาเป็นทนายความแก้ต่างคดีให้ได้แบบนี้?