- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- "ตร." ชนะ "อดีตผู้พิพากษา" เมื่อกฤษฎีกาชี้ขาดใช้มือถือขณะรถติดไฟแดงผิดกม.
"ตร." ชนะ "อดีตผู้พิพากษา" เมื่อกฤษฎีกาชี้ขาดใช้มือถือขณะรถติดไฟแดงผิดกม.
"..การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะที่หยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดงโดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริมตามข้อยกเว้นดังกล่าง จึงเป็นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระหว่างการขับรถ และเป็นความผิดตามมาตรา 43 (9) ซึ่งมีโทษตามมาตรา 157 แห่งพ.ร.บ.จราจรทางบท พ.ศ.2522.."
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย กรณีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะหยุดรถตามสัญญาณจราจรสีแดง (ไฟแดง)
โดยระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2558 สรุปความได้ว่า มีอดีตผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ได้ตั้งประเด็นในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะรถจอดติดสัญญาณไฟแดง โดยเห็นว่าไม่เป็นความผิดตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522
เนื่องจากความหมายตามพจนานุกรม คำว่า "การขับขี่" หมายความว่า สามารถบังคับเครื่องยนต์ให้ยานพาหนะเคลื่อนที่ไปได้ โดยอ้างว่าขณะรถติดสัญญาณไฟแดงรถไม่ได้เคลื่อนที่ จึงก่อให้เกิดปัญหาความเคลือบแคลงในทางกฎหมาย
และเมื่อ สตช. ได้สอบถามความเห็นของหน่วยงานในสังกัดแล้ว ปรากฎว่า ได้ความว่า การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะรถจอดติดสัญญาณไฟแดงโดยไม่มีอุปกรณ์สำหรับสนทนาเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ
เนื่องจากผู้ขับขี่รถ ถือว่าเป็นบุคคลผู้ใช้ทางเดินรถ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั้งที่ เป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ มิใช่ตีความตามพจนานุกรม กรณีการจอดรถในขณะติดสัญญาณไฟแดง ยังถือว่า ผู้ขับขี่ ต้องควบคุมรถอยู่ตามกฎหมายจราจร และพร้อมที่จะขับเคลื่อนต่อไปเมื่อมีสัญญาณไฟเขียว ผู้ขับขี่จำเป็นต้องมีสติและสมาธิตลอดเวลาในการใช้มือทั้งสองข้างควบคุมรถ
สตช. จึงเห็นว่า เนื่องจากกรณีดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งผู้ให้ความเห็นเป็น "อดีตผู้พิพากษา" จึงอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติหากมีการจับกุมในกรณีดังกล่าว อันอาจทำให้เจ้าพนักงานถูกฟ้องร้องดำเนินดคี แต่หากไม่ดำเนินการใดๆ ก็อาจทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดความเคยชิน และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
สตช. จึงขอหารือตามรายละข้างต้นว่า การใช้โทรศัพ์เคลื่อนที่ในขณะหยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟแดง เป็นความผิดตามมาตรา 43 (9) แห่งพ.ร.บ.จราจาทางบกฯ หรือไม่
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 4) ได้เชิญตัวแทนผู้เกี่ยวข้องและพิจารณาข้อกฎหมายแล้ว มีความเห็น 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก ความหมายของการขับรถและการหยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดง อยู่ในความหมายของการขับรถหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.จราจร ทางบกฯ กำหนดให้ผู้ขับขี่ซึ่งควบคุมรถอยู่ในทางเดินรถ จะต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร ซึ่งรวมถึงการหยุดรถหลังเส้นให้รถหยุดเพื่อรอสัญญาณไฟจราจรด้วย
ดังนั้น การหยุดรถเพื่อรอสัญญาณไฟจราจร จึงเป็นเพียงการปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรเท่านั้น โดยผู้ขับขี่ยังต้องควบคุมรถและปฏิบัติตามสัญญาณไฟแดงเจรจรต่อไป การหยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดงดังกล่าว จึงยังอยู่ในความหมายของการขับรถ
ประการสอง ขอยกเว้นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ ตามที่บัญญัติไว้ใน (9) ของมาตรา 43
มาตรา 43 พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ บัญญัติห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในกรณีต่างๆ เช่น ขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ ขับรถในขณะเมาสุรา ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ฯลฯ, รวมทั้งในมาตรา 43 (9) กำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่
เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อห้ามดังกล่าว ก็จะต้องได้รับโทษปรับตั้งแต่ 400 บาท ถึง 1,000 บาท
ทั้งนี้ เนื่องจากการที่ผู้ขับขี่ถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ ทำให้ผู้ขับขี่ต้องควบคุมการจับพวงมาลัยด้วยมือเพียงข้างเดียว ซึ่งมีโอกาศที่ผู้ขับขี่จะเสียการควบคุมและการบังคับรถได้ อันส่งผลให้ประสิทธิภาพ ในการขับรถลดลง และอาจทำให้เกิดการกีดขวางทางจราจรหรือทำให้การเจราจรติดขัด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาจราจร และยังอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนด้วย
ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภับสำหรับผู้ใช้รถ จึงกำหนดห้ามผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ โดยกำหนดข้อยกเว้นไว้กรณีเดียว คือ กรณีการใช้งานโดยผ่านอุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
จากข้อพิจารณาทั้งสองประเด็นดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า เมื่อความในมาตรา 43(4) กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย
ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะห้ามการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะผู้ขับขี่ควบคุมรถอยู่ในทางเดินรถ ไม่ว่ารถดังกล่าวจะอยู่ในระหว่างการเคลื่อนที่หรืออยู่ระหว่างการหยุดรถตามสัญญาณจราจร โดยยกเว้นไว้เฉพาะการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น
ฉะนั้น การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะที่หยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดงโดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริมตามข้อยกเว้นดังกล่าง จึงเป็นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระหว่างการขับรถ และเป็นความผิดตามมาตรา 43 (9) ซึ่งมีโทษตามมาตรา 157 แห่งพ.ร.บ.จราจรทางบท พ.ศ.2522
อนึ่ง สำหรับอดีตผู้พิพากษา ที่โพสต์แสดงความเห็นเรื่องนี้ คือ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา โดยได้โพสต์แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557
(อ่านความเห็นกฤษฎีกาฉบับเต็มได้ที่นี่ http://web.krisdika.go.th/data/comment/comment2/2558/c2_1181_2558.tif)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google