- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- "ตำแหน่ง-สถานะ" ของ "ยิ่งลักษณ์" หลังสิ้นสภาพ "นายกฯ"..แต๊งกิ้ว ทรีไทม์
"ตำแหน่ง-สถานะ" ของ "ยิ่งลักษณ์" หลังสิ้นสภาพ "นายกฯ"..แต๊งกิ้ว ทรีไทม์
"..ใครหลายคนเชื่อว่า เส้นทางชีวิต ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลังจากก้าวลงจากตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว จะอุดมไปด้วย ปัญหา และความยุ่งยากในการต่อสู้ คดีความต่างๆ อย่างต่อเนื่อง.."
ภายหลังคำแถลงอำลาตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" คนที่ 28 ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันเป็นผลพ้วงมาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีโยกย้ายตำแหน่ง "นายถวิล เปลี่ยนศรี" เลขาฯ สมช. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในช่วงเย็นวันที่ 7 พ.ค.2557 ที่ผ่านมา สิ้นสุดลงเป็นทางการ
พร้อมกับประโยคคำพูดที่ว่า "ต่อไปนี้ไม่ว่าดิฉันจะอยู่ในสถานะใด ดิฉันก็จะขอเดินตามเส้นทางของระบอบประชาธิปไตย และยึดมั่นในหลักของนิติรัฐและนิติธรรม ในการสร้างความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกันของสังคม"
หลายคนคงสงสัยว่า "ตำแหน่ง"และ "สถานะ" ใด ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังเหลืออยู่หลังจากหนังชีวิตเรื่องยาวบนถนนสายการเมือง ที่กินระยะเวลานานกว่า "2 ปี 9 เดือน 2 วัน" ต้องรูดม่านปิดฉากลงไปแบบไม่สวยงามนัก
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่แจ้งไว้ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ช่วงก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554
พบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แจ้งประวัติทางการเมืองย้อนหลัง 5 ปี ไว้จำนวน 2 ตำแหน่ง คือ
2545-2549 กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส
2549- มิ.ย. 2554 ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น
ขณะที่ในส่วนเงินลงทุนแจ้งว่า มีจำนวน 81 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนในกองทุน จำนวน 4 แห่ง และหุ้นบมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น
โดนในส่วนหุ้นบมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่นนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ แจ้งว่า มีหุ้นอยู่ในความครอบครอง จำนวน 5,566,00 หุ้น แจ้งว่าได้มาเมื่อปี 2554 มูลค่าหุ้นละ 5 บาท มูลค่า ณ วันแสดงบัญชี 79,037,200 บาท ซึ่งปัจจุบันยังคงถือครองอยู่
หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลือกที่จะหันหลังให้กับถนนสายการเมืองอย่างเด็ดขาด และย้อนกลับไปสู่ถนนสายธุรกิจดังเดิม
ตำแหน่งผู้บริหาร บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (ในช่วงเวลาที่เหมาะสมตามข้อกฎหมาย) จึงอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์
นอกเหนือจาก "สถานะ" ความเป็น "แม่" ที่จะได้มีเวลาให้กับ ลูกชาย อย่างเต็มที่ หลังจากปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งนายกฯ มาอย่างยาวนาน เป็นระยะเวลา 2 ปี 9 เดือน 2 วัน
ถ้าเรื่องราวเป็นแบบนั้น จริงๆ ช่วงชีวิตหลัง "อวสาน" ชีวิตนักการเมือง ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คงจะมีความสุขอยู่ไม่น้อย
หลังจากผ่านวิบากกรรมทางการเมืองมาตลอด โดยเฉพาะความอึดอัด และเจ็บปวด การถูกดูแคลนดูหมิ่น ใน"ศักดิ์ศรี" "คุณค่า" ความเป็นนายกฯของประเทศไทย.."แต๊งกิ้ว ทรีไทม์"
อย่างไรก็ตาม เส้นทางชีวิต ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ หลังตำแหน่งนายกฯ อาจจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แบบที่ใครหลายคนคิดไว้
เพราะ "ชะตากรรม" อันเป็นผลพ่วงจากการทำหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่จบสิ้นลงไปง่ายๆ โดยเฉพาะการเผชิญหน้าต่อสู้คดีความต่างๆ ที่ยังค้างคาอยู่หลายเรื่อง
โดยเฉพาะคดีปล่อยปละเลยการทจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะเป็นดาบสอง ที่ฟาดฟัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อเนื่องจากคดีโยกย้าย "นายถวิล เปลี่ยนศรี"
ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด แม้ว่าการหยุดปฎิบัติหน้าที่นายกฯ จะไม่ใช่เรื่องสำคัญของน.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกต่อไปแล้ว
แต่สิ่งที่ยังเหลืออยู่ และหนักกว่าการพ้นสภาพ ความเป็นนายกรัฐมนตรี คือ ความรับผิดชอบทางกฎหมาย
โดยเฉพาะความรับผิดชอบจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ระบุว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
ซึ่งถูกระบุเป็นหนึ่งในกฎหมายสำคัญที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. นำมาใช้ในการพิจารณาการกระทำความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีการปล่อยปละเลยการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องนาฬิกา เรือนละ 2.5 ล้านบาท ที่ไม่ปรากฏอยู่ในรายการบัญชีทรัพย์สิน ที่กำลังอยู่ระหว่างการไต่สวน ของ ป.ป.ช. อีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งคดีนี้ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถชี้แจง รวมถึงหาหลักฐานมายืนยันความบริสุทธิ์ได้ และถูกชี้มูลความผิดแล้ว
อาจมีความเสี่ยงที่จะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากกรณีการแจ้งข้อมูลทรัพย์สินเป็นเท็จ รวมถึงการถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี อีกด้วย
นี่ยังไม่นับรวมกับกรณีล่าสุด ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือแจ้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี รับทราบเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเงินเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ที่สูญเสียไปกว่า 3.8 พันล้าน ซึ่งยังไม่รู้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหาย ที่เกิดขึ้นต่อเรื่องนี้ด้วย หรือไม่ อย่างไร? เท่าไร?
ด้วยเหตุผล และข้อเท็จจริงเหล่านี้ จึงทำให้ใครหลายคนเชื่อว่า เส้นทางชีวิต ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลังจากก้าวลงจากตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว จะอุดมไปด้วย ปัญหา และความยุ่งยากในการต่อสู้ คดีความต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
เหมือนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชาย ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญหน้ามาแล้วในช่วงก้าวลงจากตำแหน่ง นายกฯ
แต่จะแตกต่างกันอยู่เรื่องเดียวก็คือ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย แต่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" เลือกที่จะหลบหนี ออกไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ
แบบที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้