- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดจุดตาย “ยิ่งลักษณ์” ปมย้าย “ถวิล” ในเงื้อมมือ “ศาลรธน.”
เปิดจุดตาย “ยิ่งลักษณ์” ปมย้าย “ถวิล” ในเงื้อมมือ “ศาลรธน.”
"แต่ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ข้องใจประเด็นนี้เป็นพิเศษ เพราะสงสัยว่ามีเหตุจำเป็นอะไรที่ต้องเร่งรีบ โดยเฉพาะ “จรัญ ภักดีธนากุล” ที่ถามย้ำหลายครั้งหลายรอบ และเป็นคนถาม “ถวิล” ว่าวันที่ 4 กันยายน 2554 คือวันอาทิตย์ใช่หรือไม่ แถมยังสงสัยอีกว่าวันหยุดราชการทำไมถึงต้องเร่งออกหนังสือ"
เมื่อวันที่ 6 พฤกษภาคม 2556 “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้นัดสืบพยาน 4 ปาก ในคดีโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” ประกอบด้วย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ว.สรรหา “พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี” อดีตผบ.ตร. อดีตเลขาธิการสมช. และตัว “ถวิล”
“ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ซักไซ้ไล่เลียงในประเด็นข้อสงสัยกว่า 4 ชั่วโมง ก่อนจะสรุปว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 เวลา 12.00 น.
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงรวบรวม “จุดตาย” ในคำชี้แจงทั้งพยาน 4 ปาก ที่อาจจะทำให้ “ยิ่งลักษณ์” ต้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีได้
ประเด็นหนึ่ง : ตามธงที่ตั้งไว้คือการโยกย้าย “ถวิล” เพื่อการเปิดทางให้ “พล.ต.อ.วิเชียร” ซึ่งนั่งเป็นผบ.ตร. ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมช. ก่อนจะแต่งตั้ง “พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์” พี่ชาย “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” อดีตภรรยา “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี นั่งตำแหน่งผบ.ตร.
แม้ “ยิ่งลักษณ์” จะชี้แจงว่า “คุณหญิงพจมาน” ได้หย่าขาดกับ “พ.ต.ท.ทักษิณ” แล้ว แต่สังคมรับรู้กันดีว่าเป็นการหย่าเพื่อหวังผลทางกฎหมายเท่านั้น “ยิ่งลักษณ์” ไม่มีข้อพิสูจน์ได้ว่าทั้ง “คุณหญิงพจมาน-พ.ต.ท.ทักษิณ” หย่าขาดชนิดไม่เกี่ยวข้องมาอธิบายต่อ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”
ประเด็นสอง : “ยิ่งลักษณ์” ชี้แจงว่าแต่งตั้งโยกย้ายได้มอบหมายให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบดูแล ซึ่งกรณีที่อยู่ในความรับผิดชอบของ “พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ” กำกับดูแลสมช. “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” กำกับดูแลสตช.
แม้ “ยิ่งลักษณ์” จะมอบหมายให้รัฐมนตรีดูแล แต่การโยกย้ายในตำแหน่งสำคัญ ในฐานะ “ผู้นำ” สามารถพิจารณาคัดค้านได้ หากเห็นว่าไม่เหมาะสม-ไม่เป็นธรรม
ประเด็นสาม : “ยิ่งลักษณ์” อ้างว่าแม้จะมีสิทธิเสนอชื่อ “ผบ.ตร.” เข้าสู่ที่ประชุม “คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ” (กตช.) แต่หากไม่ได้รับการอนุมัติจากกตช.ก็ไม่สามารถแต่งตั้งผบ.ตร.ได้ โดยเทียบเคียงการแต่งตั้งสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์
แต่ “ยิ่งลักษณ์” อาจจะลืมไปว่าหากตัวเองไม่เสนอชื่อของ “พล.ต.อ.เพรียวพันธ์” คณะกรรมการกตช. ไม่มีทางที่จะหยิบชื่อ “พล.ต.อ.เพรียวพันธ์” ขึ้นมาพิจารณาได้
และเมื่อเทียบเคียงกับการแต่งตั้งผบ.ตร. สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์มีความแตกต่างกันสิ้นเชิง เพราะขณะนั้นมีการแข่งขันกัน 2 แคนดิเดตคือ “พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ” และ “พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย” มิหนำซ้ำยังมีเรื่อง “สัญญาณพิเศษ” เข้ามาเกี่ยวข้อง
การเทียบเคียงการแต่งตั้งผบ.ตร.สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงไม่สามารถเทียบเคียงกันได้
ประเด็นสี่ : กรณีที่ในวันที่ 4 กันยายน 2554 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีหนังสือไปถึง “พล.ต.อ.โกวิท” โดยระบุว่าสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นชอบแล้วว่าสามารถรับโอนได้ แต่กลับมีหนังสือลงวันที่ 5 กันยายน 2554 ระบุว่า สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมรับโอน “ถวิล”
เท่ากับว่า “รัฐมนตรี” ที่กำกับดูแลหน่วยที่รับโอนยังไม่ได้เห็นชอบ แต่มีหนังสือออกมาก่อนแล้ว ทำให้ไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยที่โอนและหน่วยรับโอน
แม้ในประเด็นดังกล่าว “คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม” และ “ศาลปกครองสูงสุด” จะไม่นำมาพิจารณา เพราะเห็นว่าไม่ใช่สาระสำคัญของคดี
แต่ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ข้องใจประเด็นนี้เป็นพิเศษ เพราะสงสัยว่ามีเหตุจำเป็นอะไรที่ต้องเร่งรีบ โดยเฉพาะ “จรัญ ภักดีธนากุล” ที่ถามย้ำหลายครั้งหลายรอบ และเป็นคนถาม “ถวิล” ว่าวันที่ 4 กันยายน 2554 คือวันอาทิตย์ใช่หรือไม่ แถมยังสงสัยอีกว่าวันหยุดราชการทำไมถึงต้องเร่งออกหนังสือ
ทั้งหมดคือจุดอ่อน-จุดตาย-จุดสลบ ที่ “ยิ่งลักษณ์” ต้องเผชิญ ทิศทางการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร วันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 12.00 น.(เที่ยงตรง) “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำตอบ!