- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดคำร้อง “ยิ่งลักษณ์” ฝ่าฝืน รธน.กรณีโยกย้าย “ถวิล” ฉบับ "ส.ว.ไพบูลย์"
เปิดคำร้อง “ยิ่งลักษณ์” ฝ่าฝืน รธน.กรณีโยกย้าย “ถวิล” ฉบับ "ส.ว.ไพบูลย์"
เปิดคำร้อง “ยิ่งลักษณ์” กรณีโยกย้าย “ถวิล” ฉบับ ส.ว.ไพบูลย์ ส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกระทำการฝ่าฝืน รธน. สิ้นสุดความเป็น นายกรัฐมนตรี
จากกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันการทุจริตและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ กรณีร่วมกับ ส.ว. อีก 28 คน เข้าชื่อต่อประธานวุฒสภา ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 วรรค ( 7 ) ประกอบมาตรา 268 จากกรณีการโยกย้ายตำแหน่งนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งล่าสุดศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คืนตำแหน่งดังกล่าวไปแล้วนั้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบ คำร้องที่นายไพบูลย์ ยื่นต่อประธานวุฒสภาเพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากกรณีดังกล่าว มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้
“ข้าพเจ้า นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา พร้อมคณะสมาชิกวุฒิสภา ดังรายนามแนบท้ายในฐานะ “ผู้ร้อง” ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 3 ปรกอบมาตรา 91 เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัย ว่า นายกรัฐมนตรี ( นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ) “ผู้ถูกร้อง” กระทำการอันต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรี ของนาวสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 ( 7 ) โดยมีเหตุผลและรายละเอียดดังต่อไปนี้”
เหตุผลประกอบคำร้อง ข้อ 1. ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ผู้ถูกร้อง ได้ตราพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 มีผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะ พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 ( 2 ) นับแต่วันดังกล่าว ซึ่งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 กำหนดให้ผู้ถูกร้อง อยู่ในตำแหน่งนายก เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่ การที่ผู้ถูกร้อง อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปดังกล่าว ย่อมหมายความว่า สถานะความเป็นรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง หาได้ สิ้นสุดลง แต่อย่างใด
ดังนั้น ตลอดช่วงเวลา ที่ผู้ถูกร้อง อยู่ในตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จึงเป็นการดำรงอยู่ ภายใต้ บังคับเงื่อนไข ที่ว่าจะต้อง ไม่ปรากฏเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 เช่น ตาย ลาออก หรือกระทำการอันต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 หรือ มาตรา 269 เป็นต้น
เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ย่อมมีผลทำให้ ความเป็นรัฐมนตรี ของผู้ถูกร้อง ต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และไม่สามารถอยู่ในตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรี ที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่ ได้อีกต่อไป
คำร้องของนายไพบูลย์ อธิบายชี้ว่า เหตุประการหนึ่งที่มีผลทำให้ ความเป็นรัฐมนตรี ของ ถูกร้อง สิ้นสุดลง เฉพาะตัว คือเหตุตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 ( 7) ที่ว่า “กระทำการอันต้องห้าม ตามมาตรา 268” ซึ่งรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักกรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 268 บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่ไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้
"การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลือนเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือ ลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ การให้ ข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง”
โดยทั้งสองมาตรา บัญญัติไว้ ในหมวด 12 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และเป็นบทบัญญัติในส่วนที่สอง ว่าด้วยการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันมีเจตนารมณ์ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เป็นไปโดยชอบ ป้องกันมิให้เกิดการกระทำ ที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ที่เรียกว่า “ผลประโยชน์ขัดกัน” อันจะก่อให้เกิดสถานการณ์ขาดจริยธรรม ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจ ทำให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างประโยชน์ส่วนตัว กับประโยชน์สาธารณะ เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งคำนึงถึง ประโยชน์ส่วนตัว ของตนมากกว่า ประโยชน์ สาธารณะ การขัดกัน ระหว่าง ผลประโยชน์ ส่วนตัว กับการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ จึงขัดกันในลักษณะที่ผลประโยชน์ส่วนตัวได้มาจากการเสียไปซึ่งประโยชน์สาธารณะ
เหตุผลประกอบคำร้องข้อที่ 2. มีใจความสำคัญระบุถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ) แต่งตั้ง โยกย้ายข้าชการอย่างไม่เป็นธรรม โดยอ้างถึงข้อเท็จจริง ในคดีหมายเลขดำที่ อ.922/2556 หมายเลขแดงที่ อ.33/2557 ระหว่างนายถวิล เปลี่ยนศรี ผู้เป็นโจทก์ ในคดีดังกล่าว กับ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 ( และเป็นผู้ถูกร้อง ตามคำร้องฉบับนี้ ) และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรณี นายกรัฐมนตรีมีคำสั่ง ที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ให้นายถวิล ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และต่อมา มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 ให้นายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ( นักบริหารระดับสูง ) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2554
และต่อมาได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2554 แต่งตั้งให้พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ให้พลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2554
นอกจากนี้ คำร้องของนายไพบูลย์ ได้ระบุถึงคำพิพากษา ของศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าว ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า “ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ( นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ) ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ( นักบริหารระดับสูง ) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ( นักบริหารระดับสูง ) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นั้น เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาให้เพิกถอนประกาศดังกล่าว
เหตุผลประกอบคำร้องประการต่อมา อ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้น ( ศาลปกครองกลาง) ในส่วนที่วินิจฉัยว่า การออกคำสั่งให้นายถวิลพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. มิใช่การกระทำ ตามอำนาจหน้าที่ ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาแต่อย่างใด และอ้างถึงขอเท็จจริง คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่ชี้ให้เห็นว่า การโยกย้ายนายถวิล เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคำร้องของนายไพบูลย์ ระบุถึงใจความสำคัญส่วนนี้ว่าจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีดังกล่าว ย่อมรับฟังเป็นที่ยุติว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง มิใช่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการ ตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงไม่อาจเข้าข่ายได้รับการยกเว้นความผิด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 268 บัญญัติว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่ไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลือนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือ ลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ การให้ ข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง ดังที่ระบุไว้ในตอนต้นของคำร้อง
“จากข้อเท็จจริง และพฤติการณ์ที่ปรากฏดังกล่าว ผู้ร้องจึงเห็นว่า การดำเนินการของผู้ถูกร้อง ( นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ) ในการเปลี่ยนแปลงนายถวิล เปลี่ยนศรี จากการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำนั้น มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนแต่งอย่างใด หากแต่เป็นกระบวนการ ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตัวผู้ถูกร้อง ( นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ) เอง แก่เครือญาติของผู้ถูกร้อง ไม่ว่าจะเป็นพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร คุณหญิง พจมาน ณ ป้องเพชร พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ สามารถขึ้นไป ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ ทั้งๆ ที่ในขณะนั้น ยังมีพลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อยู่ในตำแหน่งดังกล่าว”
เหตุผลประกอบคำร้องต่อมา นายไพบูลย์ระบุว่า
“เมื่อปรากฏว่าผู้ถูกร้อง ( นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ) ได้ใช้สถานะ หรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปแต่งตั้งหรือโอน หรือทำให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และให้ไปดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเปิดช่อง ให้สามารถผลักดันให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เครือญาติของผู้ถูกร้อง ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ การกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าว
จึงเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองในเรื่องการแต่งตั้ง หรือโอนข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมืองพ้นจากตำแหน่ง โดยการกระทำดังกล่าวมิใช่การกระทำตามอำนาจหน้าที่ ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาและมิได้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 ( 2 ) และ ( 3 ) อย่างชัดแจ้ง มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรี ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง สิ้นสุดเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง ( 7 )”
เหตุผลประกอบคำร้อง ประการสุดท้าย ระบุว่า
“อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้ร้องจึงขอให้ประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทำการอันต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนงสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง ( 7 ) และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรี ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคหนึ่ง ( 1 ) และจะต้องดำเนินการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 และ มาตรา 173 โดยอนุโลม จึงเรียนมา เพื่อโปรดดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพบูลย์ ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา ในวันที่ 10 มีนาคม 2557 ส่วนหนึ่งของเอกสารประกอบคำร้องคือ สำเนาคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.992 / 2556 หมายเลขแดงที่ อ.33/2557 ระหว่างนายถวิล เปลี่ยนศรี ผู้ฟ้องคดี กับ นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
จากนั้น วันที่ 17 มีนาคม 2557 นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ส่วนนายไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และคำวินิจฉัยกรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ตนตัดสินใจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคำวินิจฉัยชัดแจ้งว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบและตนเห็นว่าเป็นความผิดตามมาตรา 268 ที่ห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการแทรกแซงการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ
แต่หากศาลปกครองสูงสุด ยกคำร้องในคดีดังกล่าว นายไพบูลย์ยืนยันว่าตนก็จะไม่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีประเด็นชัดเจน
“จากนี้ก็รอฟังว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ หากศาลรับคำร้อง ก็อาจจะมีผลการพิจารณาวินิจฉัยภายในสองสัปดาห์” นายไพบูลย์ระบุ
(อ่านประกอบ : "ธีระชัย"กางรธน.ชี้ "ปู-ครม."พ้นตำแหน่งทั้งคณะ เหตุย้าย"ถวิล"เร็วกว่ากรณี"ข้าว")