- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- “ดาบ 4 เล่ม” ในมือ “องค์กรอิสระ” จ่อคอหอยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
“ดาบ 4 เล่ม” ในมือ “องค์กรอิสระ” จ่อคอหอยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ผ่านไปอย่างทุลักทุเล สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
แต่ปัญหาอยู่ที่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ไม่สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งทั้งหมดได้ เพราะหลายพื้นที่ไม่มีผู้สมัคร ไม่มีบัตรเลือกตั้ง บางหน่วยเลือกตั้งต้องปิดตัวล่วงหน้า เพราะไม่มีกรรมการประจำหน่วย หรือเกรงจะเกิดเหตุรุนแรง
ที่สำคัญผู้มาลงคะแนนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดกว่า 2 ล้านคนยังไม่ได้ลงคะแนน
ส่งผลให้การนับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ไม่สามารถกระทำได้
เมื่อ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับ 1 พรรคเพื่อไทย
สถานะ ส.ส.ของ “ยิ่งลักษณ์” รวมถึงผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย รายอื่นๆ จึงยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย จนกว่า “กกต.” จะสามารถนับคะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้
ไม่รวมถึง 28 เขตเลือกตั้ง ที่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส.เขต เนื่องจากมวลชนไปปิดล้อมหน้าสถานที่รับสมัคร
ทำให้โอกาสที่จะได้ ส.ส.ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ หรือ 475 คน จากทั้งหมด 500 คน เพื่อจะเดินหน้าเปิดประชุม “สภาผู้แทนราษฎร” ครั้งแรก เพื่อเลือก “นายกรัฐมนตรีคนที่ 29” ริบหรี่เต็มที
ทั้งนี้ ตามมาตรา 78 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 ระบุว่า ในกรณีที่หน่วยเลือกตั้งใดมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถลงคะแนนได้ ให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในหน่วยนั้นโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ จะต้องไม่เกิน 180 วันนับจากวันเลือกตั้ง
หมายความว่าการกลับมาครองอำนาจเต็มของ “พรรคเพื่อไทย” จึงต้องรอไปก่อน และนับจากวันที่ 3 กุมภาพันธ์ “ยิ่งลักษณ์” มีเวลาในการตำแหน่งรักษาการอีก 180 วัน
ความฝันของ “พรรคเพื่อไทย” คือให้ “กกต.” จัดการการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ จนครบทุกเขตเลือกตั้ง ครบเมื่อไรจัดตั้ง “รัฐบาล” ได้เมื่อนั้น
ทว่ากว่าจะเดินทางถึงความฝัน “พรรคเพื่อไทย” ต้องเผชิญอุปสรรคระหว่างทางมากมาย โดยเฉพาะ “ดาบ” จากองค์กรอิสระ ที่รอฟันพลพรรค “เพื่อไทย” อยู่ และการไตร่สวนในหลายคดีมีความคืบหน้าไปมาก
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงรวบรวมอุปสรรคของ “เพื่อไทย” ก่อนที่จะเดินทางไปถึงวันจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้มองภาพการเมืองในอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้ “ยิ่งลักษณ๋ ชินวัตร” น้องคนสุดท้ายของตระกูลชินวัตร ให้มาเป็นนายกฯ สมัยที่ 2
“ดาบหนึ่ง” การไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่มา ส.ว. ซึ่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัยว่าขัดมาตรา 68 ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นการไต่สวนของ “คณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ” (ป.ป.ช.) และ ป.ป.ช.ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหาให้กับ ส.ส.และ ส.ว. จำนวน 310 คนแล้ว
ผลสะเทือนของคดีนี้คือ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสี่ ระบุว่า หาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลกับบุคคลใด “ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหา” จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่ากระบวนการถอดถอนในวุฒิสภาจะได้ข้อยุติ นั่นคือหาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยรายใดถูก ป.ป.ช.ชี้มูลในคดีนี้ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว นับแต่วันที่ชี้มูล
หลังจากนั้น ยังต้องไปรอลุ้นว่าจะถูก ส.ว.ลงมติถอดถอนหรือไม่ ซึ่งหากใครได้รับเสียงถอดถอนเกินกว่า 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ว.เท่าที่มีอยู่ จะต้องถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งใดทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
ที่สำคัญคือหากมี ส.ว.รายใดถูก ป.ป.ช.ชี้มูล ก็จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้เป็นการชั่วคราว เช่นเดียวกัน และต้องถูกลงมติถอดถอนเช่นเดียวกับ ส.ส.
นั่นความหมายว่า ส.ว.ที่จะพิจารณาลงมติถอดถอน "ส.ส.-ส.ว." ในคดีนี้ อาจจะเหลือแค่ ส.ว.จำนวนหนึ่ง ที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น !
“ดาบสอง” โครงการรับจำนำข้าว คดีนี้อยู่ที่ ป.ป.ช.เช่นกัน โดยล่าสุด ป.ป.ช.ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหากับ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” แกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีต รมว.พาณิชย์ กรณีจีทูจีขายข้าวกับจีนเป็นเท็จ ส่วน “ยิ่งลักษณ์” ก็ถูกตั้งอนุกรรมการไต่สวนในฐานะ “ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)” กรณีที่ทราบถึงความเสียหายโครงการดังกล่าวแต่ไม่ระงับยับยั้ง
จุดเสี่ยงของคดีนี้ ก็เช่นเดียวกันคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือหาก “ยิ่งลักษณ์” ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
ที่น่าสนใจคือกรณีนี้มีผู้ยื่นคำร้องให้เอาผิดกับ “ยิ่งลักษณ์” ทั้งปมถอดถอน และปมให้ดำเนินคดีอาญา
หากเป็นกรณีถอดถอน จะใช้เวลาดำเนินการไม่นาน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้ต้องทำ “โดยเร็ว” ส่วนกรณีดำเนินคดีอาญา แม้จะส่งไปที่ “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงศาลเดียว” แต่จากสถิติการดำเนินคดีในศาลฎีกาฯ ดังกล่าว มักจะใช้เวลา 1-2 ปีด้วยกัน
ทว่าเมื่อถึงวันที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาออกมา ต้องรอลุ้นกันว่า "ยิ่งลักษณ์" ยังกล้าที่จะต่อสู้ด้วยการมานั่งฟังความพิพากษา หรือจะเลือกชะตากรรมเดียวกับ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องระหกระแหนหนีคดีไปต่างประเทศ
“ดาบสาม” กรณีที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ว.สรรหา และ “วิรัตน์ กัลยาศิริ” อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ยื่นให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินของ “รัฐบาล” ขัดต่อมาตรา 181 (4) หรือไม่
เพราะการเลือกตั้งในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีความชอบธรรมมากพอหรือไม่ และหากไม่มีความธรรมการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะเฉพาะพื้นที่กทม.-ปริมณฑล หรือจะโมฆะทั้งประเทศ
ซึ่งต้องรอลุ้นคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ในเร็วๆนี้
เพราะแน่นอนว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังกล่าว เป็นไปโดยไม่ชอบ ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล จะต้องยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้ไต่สวน "ครม.ยิ่งลักษณ์" ในฐานะผู้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่ออีก อย่างแน่นอน
และ “ดาบที่สี่” สดๆ ร้อนๆ จากกรณีที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า จะให้ฝ่ายกฎหมายของพรรค ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการที่รัฐบาลยังดึงดันจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ต่อไป แม้ กกต.จะทักท้วงถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ แล้ว อาจการกระทำเพื่อให้ได้อำนาจมาโดยมิชอบเข้าข่ายฝ่ายฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่า ในคำร้องที่ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะขอให้ "การเลือกตั้งเป็นโมฆะ" แล้ว จะมีกรณีที่ขอให้ "ยุบพรรคเพื่อไทย" ด้วยหรือไม่
ทั้งหมดคือ “ดาบ” จากมือ “องค์กรอิสระ” ที่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ยังต้องเผชิญหน้าด้วย เส้นทางที่ความฝันที่หอมหวาน อาจจะแปรเปลี่ยนเป็นขื่นขมก็ได้