- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ถอดบทเรียน ‘อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต’ ชุมชนไทยเปื้อนพิษ
ถอดบทเรียน ‘อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต’ ชุมชนไทยเปื้อนพิษ
ม.นเรศวรเปิดกรณีศึกษา 4 ชุมชนเปื้อนพิษ 'สารตะกั่วคลิตี้-ขยะพิษหนองเเหน-เหมืองทองคำ พิจิตร-แคดเมียม เมืองตาก' หวังดันหลักวิศวกรรมทางเลือกฟื้นฟูร่วมกับภาครัฐ ขจัดความมักง่ายของนายทุนค้าทรัพยากร
ภายใต้การพัฒนาที่มุ่งเน้นตัวเลขจีดีพีทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เพื่อหวังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการเติบโตที่ล้ำหน้าของประเทศ หากแต่ผลกระทบที่ตามมานั้นกลับตกอยู่กับชาวบ้านที่ต้องประสบกับปัญหาสุขภาพ อันเนื่องจากสารพิษตกค้างของกระบวนการผลิต ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขเร็วพลันอาจทำให้ประเทศไทยเป็นเมืองเปื้อนพิษในอนาคต
ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาผ่านงานวิจัยจึงมีส่วนสำคัญ
ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในงาน ‘Thailand Research Expo’ ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยม.นเรศวรได้หยิบยกข้อมูลการวิจัย เรื่อง ‘ประเทศไทยเปื้อนพิษ’ ขึ้นมาเป็นหัวข้อหลักในการเสวนา หวังเป็นพื้นที่เสนอแนวทางที่ถูกต้อง
มลพิษตะกั่วเปื้อน ‘ลำห้วยคลิตี้’ โจทย์ที่รอเยียวยา
‘มลพิษตะกั่วคลิตี้’ นับเป็นมหากาพย์การต่อสู้ของชุมชนไทยเรื่องหนึ่งที่ดูท่าจะยืดเยื้อต่อไป แม้เมื่อ 10 ม.ค. 2556 ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จ่ายค่าชดเชยแก่ชาวบ้านคลิตี้ล่างจำนวน 22 คน รายละ 1.7 แสนบาท พร้อมจัดทำแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และให้ตรวจคุณภาพน้ำทุกฤดูกาลต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี ฐานละเลยปฏิบัติหน้าที่ให้บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปล่อยสารตะกั่วปนเปื้อนสะสมในลำห้วยคลิตี้ จนสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรซึ่งเป็นแหล่งอาหารของชุมชน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่การดำเนินงานใด ๆ เลย
ชลาลัย นาสวนสุวรรณ ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง เล่าย้อนเหตุการณ์ว่า ชาวบ้านเริ่มรู้สึกทรัพยากรในพื้นที่ผิดปกติตั้งแต่ปี 2518 ทันทีที่น้ำในลำห้วยคลิตี้ขุ่น ส่งกลิ่นเหม็น จนสัตว์น้ำพากันตาย โดยไม่คาดคิดว่าจะมีสาเหตุจากการทำเหมืองตะกั่วและโรงแต่งแร่ตะกั่ว กระทั่งปี 2538 หลายคนเกิดเจ็บป่วยจึงได้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ โดยไม่มีการตรวจหาสารปนเปื้อนแต่อย่างใด
ต่อมานับวันยิ่งมีชาวบ้านล้มป่วยมากขึ้น...
วัวควายที่เลี้ยงตายโดยไร้สาเหตุ หน่วยงานต่าง ๆ จึงเข้ามาให้ความสนใจกับความผิดปกติในลำห้วยคลิตี้ และทำให้ทราบว่า เกิดจากการสัมปทานเหมืองแร่ตะกั่ว ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขติดป้ายประกาศห้ามชาวบ้านใช้น้ำในลำห้วยคลิตี้เด็ดขาด หากแต่เป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้านที่มิอาจหลีกเลี่ยงการอุปโภคบริโภคจากแหล่งน้ำสายนี้ได้ เพราะชุมชนอยู่ห่างไกลความเจริญมากจนไม่สามารถออกไปหาอาหารที่อื่นได้นั่นเอง
สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เล่าถึงการเข้าไปช่วยเหลือของมูลนิธิฯ เริ่มต้นจากการชักชวนของนายสุรพงษ์ กองจันทึก ผอ.ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา ทำให้มีการลงพื้นที่ขึ้นครั้งแรก ซึ่งหากไม่ทราบมาก่อนว่า หมู่บ้านแห่งนี้มีสารตะกั่วในแหล่งน้ำ จะเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของไทยที่น่าไปพักผ่อนมาก เพราะรายล้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม
“ชาวบ้านไม่ต้องการเงิน แต่ต้องการให้สายน้ำกลับมาเป็นปกติดังเดิม” นี่คือเสียงของพวกเขา ดังนั้นจึงมีการปรึกษากันว่าจะดำเนินการฟื้นฟูอย่างไร
ผลสรุปต้องฟ้องร้อง ‘กรมควบคุมมลพิษ’ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการฟื้นฟูตั้งแต่ปี 2547 แม้ปัญหานี้จะไม่เกิดจากหน่วยงานภาครัฐโดยตรงก็ตามที แต่ในฐานะผู้กำกับจึงต้องฟ้องร้อง จนชนะคดีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ถามว่า ชาวบ้านชนะคดีแล้วได้รับเงินทันทีหรือไม่ เธอกล่าวเสียงดังฟังชัดว่า สาธารณชนส่วนใหญ่มักคิดว่าชาวบ้านคลิตี้ล่างรวยแล้ว หากแต่ความจริงคดีแพ่งที่เรียกค่าเสียหายอยู่ระหว่างการยื่นฎีกาของบริษัทสัมปทานเหมืองแร่ตะกั่วอยู่ ทำให้ขณะนี้ชาวบ้านยังไม่ได้รับเงินชดเชยแต่อย่างใด ซึ่งคาดว่าปลายปี 2556 ศาลฎีกาคงมีคำพิพากษา
“หากได้รับการชดเชยจริง ชาวบ้านต้องไปสืบทรัพย์สินว่าบริษัทมีเท่าไหร่ ก่อนจะบังคับคดีนำมาชดเชยเอง ซึ่งถือเป็นความยากลำบากของผู้ที่ไม่ได้ก่อมลพิษอย่างชาวบ้าน” สุภาภรณ์ ระบุ และว่าชาวบ้านมุ่งหวังที่จะให้เกิดการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จริงจัง ซี่งคพ.ได้มีแผนงานศึกษาวิธีการฟื้นฟูแล้ว แต่ยังขาดรายละเอียดที่ชัดเจนและการมีส่วนร่วมของชุมชนอยู่
ฟากนักวิชาการอย่างดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ หน่วยวิจัยเชิงบูรณาการด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร เริ่มต้นบทสนทนา เวลาได้ยินข่าวสารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาโท เขาเข้าใจว่า ได้มีการขุดลอกตะกอนปนเปื้อนแล้ว แต่เมื่อเรียนจบมา จึงทราบภายหลังว่าปัญหานี้ยังไม่ถูกสะสาง ด้วยระบบการจัดการมลพิษ 10 ปีที่ผ่านมาล้าสมัย
"ความจริงแล้วมีหลักวิชาการมากมายที่สามารถเชื่อมโยงการจัดการปัญหาได้ แต่ไทยยังใช้ ‘มาตรการควบคุมการกำจัดประโยชน์การใช้งาน’ มากกว่า เช่น ห้ามใช้น้ำปนเปื้อน ห้ามปลูกพืชบนดินปนเปื้อน ซึ่งถือเป็นวิธีระยะสั้นเพื่อบรรเทาเบื้องต้นก่อนการฟื้นฟู มิใช่ระยะยาวอย่างที่เข้าใจและปฏิบัติกัน"
เมื่อถามว่า ธรรมชาติบำบัดสามารถใช้ฟื้นฟูกรณีคลิตี้ได้หรือไม่ ดร.ธนพล ยืนยันว่า ธรรมชาติบำบัดเป็นกรรมวิธีที่ใช้กับสารอินทรีย์ โดยการสลายโดยธรรมชาติมีผลระดับหนึ่ง แต่ต้องประเมินโดยละเอียดเกี่ยวกับอัตราการไหลของตะกอนปนเปื้อน และต้องใช้ระยะเวลาไม่นานเกินไป รวมถึงความเสี่ยงจะต้องไม่กระทบร้ายแรงต่อชีวิต
“เทคนิคการฟื้นฟูสารปนเปื้อนเป็นเรื่องใหม่ของไทย โดยอดีตเรามีเพียงวิศวกรด้านการจัดการขยะ การจัดการอากาศ การจัดการน้ำเสีย เท่านั้น แต่ด้านการปนเปื้อนสารพิษยังไม่มี” และยังระบุถึงแนวทางการฟื้นฟูสารพิษตกค้างตามหลักวิชาการอีก 2 วิธี
1.การขุดลอกตะกอน จะสามารถย้ายสารพิษออกจากพื้นที่ได้ทันที ซึ่งคพ.เคยใช้วิธีดังกล่าวแล้ว แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการขุดลอกก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนปนเปื้อนสารพิษในลำห้วย ซึ่งความจริงเราสามารถออกแบบไม่ให้ฟุ้งกระจายได้ด้วยอุปกรณ์ขุดลอกและการเดินระบบขุดลอก
2.การครอบตะกอน สามารถขุดลอกตะกอนและป้องกันการฟุ้งกระจายได้ โดยสร้างชั้นตะกอนเทียมครอบตะกอนปนเปื้อนที่ตกค้าง
“กรณีลำห้วยคลิตี้พบตะกั่วปนเปื้อนระดับสูงมากและมีการฟุ้งกระจาย ค่อนข้างแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ฉะนั้นเบื้องต้นจึงใช้เทคนิคการขุดลอกตะกอน แต่เมื่อไม่สามารถกำจัดได้หมด จึงเสนอให้มีการขุดไปจนถึงชั้นดินแข็งแล้วนำเทคนิคการครอบตะกอนประกอบอีกทีหนึ่ง” นักวิชาการม.นเรศวร นำเสนอวิธี
‘ชาวพะเด๊ะ:จ.ตาก’ ทวงคืนผืนนาข้าวจากแคดเมียม
“รัฐควรทบทวนว่าจะเอาแร่เป็นเรื่องแย่ ๆ ของประเทศอีกต่อไปหรือไม่ ซึ่งจะต้องเร่งทบทวนยุทธศาสตร์สรุปจะเอาอย่างไร จะเหลือไว้ให้ลูกหลานใช้หรือจะขุดใช้ในยุคนี้ให้หมดแล้วปล่อยให้ลูกหลานลำบากต่อไปก็ช่างมัน”
คำติเสมือนเตือนสติผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของ ‘ญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์’ ชาวบ้านพะเด๊ะ อ.แม่สอด จ.ตาก
ภายหลังในชุมชนเคยเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีแห่งหนึ่งของประเทศ แต่เมื่อพบการปนเปื้อนของสารแคดเมียม (cadmium:Cd) ส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวถูกทำลายลง อันเชื่อว่าเกิดจากบริษัทสัมปทานเหมืองแร่สังกะสีขึ้นบนดอยผาแดง กระทั่งปี 2541-2543 สถาบันการจัดการน้ำนานาชาติ (International Water Management Institute - IWMI) สุ่มตรวจพบมีการปนเปื้อนสารแคดเมียมในดินมากและร้อยละ 95 ของเมล็ดข้าวที่สุ่มตรวจมีสารดังกล่าวปนเปื้อนสูงกว่าข้าวที่ปลูกในพื้นที่อื่นของไทยถึง 100 เท่า!!
ญาณพัฒน์ กล่าวว่า ชาวบ้านจึงรวมตัวกันหาทางออกต่อการแก้ไขปัญหาสารแคดเมียมตกค้างในดิน โดยเมื่อสำรวจมีพื้นที่ปนเปื้อนสูงถึง 1.3 หมื่นไร่ จึงเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามากำหนดขอบเขตตำแหน่งการปนเปื้อนในดินของสารแคดเมียมตัวนี้
สำหรับกรณีข้าวถูกระบุว่าปนเปื้อนสารแคดเมียมนั้น ภาครัฐเข้ามาซื้อข้าวจากยุ้งฉางของชาวบ้านเพื่อนำไปทำลาย แต่กลับไม่ทำอย่างต่อเนื่อง เมื่อไม่มีความชัดเจนในขั้นตอนการดำเนินงานทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกข้าวอีกครั้ง
กระทั่งปี 2547 ภาครัฐจึงตัดสินใจให้ชาวนาเกี่ยวข้าวทิ้ง แต่มีเพียง 3 รายไม่ยินยอม เพราะพวกเขาเชื่อว่าข้าวเป็นตัวแทนของพระแม่โพสพซึ่งมีพระคุณต่อชีวิตชาวนา
“ต่อมาปี 2548-49 ภาครัฐได้สั่งห้ามปลูกข้าวถาวร โดยจ่ายค่าชดเชยให้ไร่ละ 4,220 บาท พร้อมส่งเสริมให้เปลี่ยนมาปลูกอ้อยเป็นพืชพลังงานแทน แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาปลูกข้าวอีกครั้ง เนื่องจากภาครัฐไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยต่อ” ชาวพะเด๊ะ ท้าวความ และระบุต่อว่า การเปลี่ยนแปลงพืชเพาะปลูกในพื้นที่จากข้าวมาเป็นอ้อย ยางพารา ไม้สัก หรือสบู่ดำ ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะภาครัฐขาดการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ทั้งนี้ เขายังเปิดเผยด้วยว่า พบชาวบ้านมีสารแคดเมียมปนเปื้อนในร่างกายแล้ว 884 ราย จากประมาณ 7,000 รายที่เข้ารับการตรวจหาสารปนเปื้อน โดยจะมีอาการปวดกระดูกตามร่างกาย โรคไตเรื้อรัง
ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง ภาครัฐควรมีการศึกษาวิจัยหาแนวทางกำจัดสารแคดเมียมในดิน หรือการปรับเปลี่ยนอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตมากกว่านี้ เพราะท้ายที่สุดชาวบ้านยังต้องการปลูกข้าวเหมือนเดิม
ด้านดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ ผอ.สถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร บอกถึงอันตรายของสารแคดเมียมว่าเป็นโลหะหนัก ซึ่งร่างกายไม่ต้องการ แตกต่างจากสังกะสีที่ร่างกายต้องการระดับหนึ่ง โดยชาวบ้านมีความผิดปกติมากเพราะปะปนในห่วงโซ่อาหารได้ จึงเป็นปกติที่สารแคดเมียมจะอยู่ในดินตะกอน เช่นเดียวกับปลาไหลจะมีแคดเมียมในตัวสูง เพราะมักฝังตัวอยู่ในดิน
“ร่างกายของมนุษย์จะมีระบบป้องกันตัวเองระดับหนึ่ง แต่หากรับสารแคดเมียมในปริมาณมากเกินไปจะส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะระบบเลือด”
ซึ่งในทางวิศวกรรมฟื้นฟู สามารถลดปริมาณสารแคดเมียมด้วยการปรับปรุงผืนดิน เช่น ปลูกหญ้าแฝกที่มีความสามารถในการกำจัดสารตัวนี้ หรือใช้แม่เหล็กกรองสารแคดเมียม โดยม.นเรศวรได้ผลิตเป็นเครื่องต้นแบบขนาดเล็กสามารถขยายใหญ่ได้ ซึ่งกำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรอยู่
‘เหมืองทองคำ จ.พิจิตร’ บั่นทอนสุขภาพ-ชุมชนล่มสลาย
“คนส่วนใหญ่มักมองว่า ชุมชนที่มีเหมืองทองคำคงจะร่ำรวยและเหลืองอร่ามไปด้วยทองคำ แต่เมื่อได้เข้าไปดูขั้นตอนการผลิต บอกได้เลยว่าคนในชุมชนไม่อยากใส่ทอง”
นี่คือเสียงใส ๆ ที่แฝงไปด้วยความเข้มแข็งของ ‘ชนัญธิดา ฉากกลาง’ หญิงชาวบ้านจ.พิจิตรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการอัปยศดังกล่าว
ก่อนจะฉายภาพต่อว่า ช่วงแรกที่บริษัทสัมปทานเหมืองแร่ทองคำเข้ามาเพื่อขอประชาคมจากชุมชน ยอมรับว่าชาวบ้านดีใจมาก จนแทบอยากขุดทองคำขึ้นมาขายเอง แต่ช่วงที่ทำประชาคมนั้น บริษัทมิได้อธิบายถึงขั้นตอนการผลิต รวมถึงไม่รู้ว่าจะสร้างบ่อเก็บกากแร่เลย นอกเสียจากข้อดีที่จะมาพร้อมกับเหมืองแร่เท่านั้น
พอมารู้สึกตัวอีกที ระบบนิเวศที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป
“จากที่น้ำอุปโภคบริโภคเคยมีมากกลับเหลือน้อย เพราะการทำเหมืองแร่ทองคำดูดน้ำใช้ในปริมาณมาก เรียกได้ว่า ‘ใช้น้ำมากเป็นอันดับ 1-ใช้สารเคมีสกัดแร่มากเป็นอันดับ1’ ” หญิงสาวเมืองพิจิตร กล่าว และว่า ชาวบ้านเพิ่งรู้บ่อเก็บกากแร่เป็นอันตราย ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีคิดว่าคงเป็นเพียงกองขยะที่สามารถทำลายได้ด้วยวิธีทั่วไปและไม่มีผลต่อสุขภาพ
แต่สิ่งที่คิด ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะบ่อดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านของชาวบ้านเพียง 1 กม. สารเคมีต่างๆ ได้ซึมสารพิษลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน ทำให้เกิดอาการผื่นคันตามผิวหนัง เหน็บชา เมื่อใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค
นอกจากนี้ยังมีผลต่อ ‘การล่มสลายของหมู่บ้าน’ ด้วย เนื่องจากมีการกว้านซื้อพื้นที่เพื่อขยายกิจการสัมปทานเหมืองแร่ทองคำต่อ โดยอ้อนวอนชาวบ้านด้วยการทุ่มเงินแสนซื้อ “คิดดูเถิด ชาวบ้านจน ๆ พอเห็นเงินแสน เพื่อให้ย้ายบ้านไปอยู่ไกลกว่าเดิมจะไม่ชอบหรือ ? แต่เมื่อขายให้บริษัทแล้วหลายคนกลับรู้สึกเสียใจภายหลัง”
ชนัญธิดา เล่าต่อว่า ความเดือดร้อนของชาวบ้านจริง ๆ มาจาก ‘บ่อเก็บกากแร่’ ที่ปล่อยให้มีการรั่วซึมของสารพิษ จนทำให้หลายคนมีสารโลหะหนักจำพวก ‘ไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide:HCN) และสารหนู (arsenic:AS)’ ในร่างกาย แม้จะไม่แสดงอาการทันที แต่เมื่อชาวบ้านเริ่มสงสัยในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงหันมาซื้อน้ำดื่ม ทำให้อาการที่เคยเป็นค่อย ๆ หายไป
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังคงใช้น้ำเพื่อการอุปโภคอยู่ดี
“บ่อเก็บกากแร่ไม่มีวัสดุป้องกันการรั่วไหลเลย ทำให้เมื่อสารไซยาไนด์ถูกแสงแดดแผดเผากลายเป็นก๊าซลอยขึ้นไปในอากาศ ทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านต้องสูดอากาศที่มีสารเหล่านี้ปะปนไป แต่เป็นที่น่าเสียใจเมื่อขณะนี้บริษัทกำลังจะสร้างบ่อเก็บกักแร่แห่งที่ 2 ไว้กลางชุมชน เพราะบ่อแห่งแรกนั้นใกล้เต็มแล้ว” เธอตัดพ้อ
กรณีนี้ ดร.วิสาข์ ชี้ว่าความเดือดร้อนของชาวบ้านทำให้คณะวิจัยต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลสุขภาพเพื่อนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดอาการเหน็บชา เหนื่อยง่าย เพราะอาการเหล่านี้อาจเกิดจากปัจจัยอื่นที่คล้ายคลึงกันได้
แต่ทีมวิจัยกลับพบสิ่งที่ขาด คือ ‘ฐานข้อมูลบ่งชี้ทางสุขภาพ’
“เมื่อไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้อาการได้ ทำให้แพทย์ที่วินิจฉัยไม่สามารถเชื่อมโยงอาการ ดังนั้นเมื่อชาวบ้านป่วย บริษัทจึงบอกว่า เป็นอาการของโรคที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป ซึ่งยอมรับว่าไม่แปลกที่จะกล่าวเช่นนั้น เนื่องจากลักษณะของโรคมิได้เกิดแบบเฉียบพลัน แต่จะเกิดระยะยาวมากกว่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวิจัยข้อมูลเพื่อให้ตอบโจทย์ดังกล่าว”
โดยฐานข้อมูลบ่งชี้ทางสุขภาพต้องเก็บมาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ หรืออาจเก็บก่อนเริ่มต้นโครงการด้วย แต่สำหรับคณะวิจัยเก็บหลังเริ่มต้นโครงการแล้ว ด้วยการจัดหมวดหมู่ใหม่ มิใช่เหมือนที่เคยเป็นปัญหา คือ เก็บข้อมูลสุขภาพส่วนหนึ่ง ข้อมูลสิ่งแวดล้อมส่วนหนึ่ง อีกทั้งมีการตรวจสุขภาพเป็นครั้งคราวเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ควรตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่รศ.นพ.ดร.พงษ์เทพ วิวัฒนเดช คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ อธิบายถึงอันตรายที่จะเกิดจากสารไซยาไนด์ว่า หากรับประทานสารตัวนี้ในปริมาณเข้มข้นสูงจะเสียชีวิตทันที แต่ชาวบ้านในพื้นที่จะรับในปริมาณน้อย ทำให้เมื่อเข้าไปในร่างกายจะค่อย ๆ ฆ่าเซลล์ประสาทจนกล้ามเนื้อลีบหรือตาบอดได้
ส่วนสารหนูหากกำจัดไม่ดีปล่อยให้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำจัดให้ถูกวิธี มิใช่นำกากแร่มาแจกจ่ายให้ชาวบ้านนำไปถมที่ดินเหมือนปัจจุบัน
‘หนองแหน’ ชุมชนเปื้อนพิษจากความมักง่ายของนายทุน
อีกกรณีที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อสื่อมวลชนรายงานข่าวสถานการณ์ลักลอบทิ้งน้ำเสียอุตสาหกรรมปนเปื้อนสารอันตรายในบ่อดินลูกรังขนาด 15 ไร่ (บ่อ 15 ไร่) โดยชาวชุมชนหนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ได้ล้อมจับรถลักลอบและคัดค้านการประกันตัว
ต่อมาศาลได้พิพากษาตัดสินให้ผู้ลักลอบทิ้งทำการบำบัดน้ำเสียในบ่อ
จร เนาวโอภาส ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองแหน เล่าย้อนความว่า ชาวบ้านต.หนองแหนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยได้รับผลกระทบจากการลักลอบทิ้งน้ำเสีย 8 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 15 หมู่บ้าน ซึ่งยอมรับว่า โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ฟิวชั่น จำกัด บริษัท ศูนย์กำจัดของเสียไทย จำกัด และบริษัท เค เอส ดี รีไซเคิล จำกัด รวมถึงบ่อขยะฝังกลบกทม. มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย
เพียงแต่กรรมวิธีการกำจัดน้ำเสียปนเปื้อนนั้นอาจไม่ถูกวิธี ก่อให้เกิดมลภาวะกระทบชุมชน
“เราไม่รู้ว่า วัตถุที่นำมาทิ้งนั้นคืออะไร และมาจากที่ไหน มารู้อีกทีเมื่อชุมชนได้รับผลกระทบมีกลิ่นรบกวนรุนแรง นำมาสู่การร้องเรียนในระดับท้องถิ่น” ประธานสภาอบต.หนองแหน กล่าว และว่าได้เรียกผู้ประกอบการมาพูดคุยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา กระทั่งกลายเป็นข่าวครึกโครมในต่อมา
ดวงเดือน ศรีมาลัย เกษตรกรหญิงเลี้ยงสุกร เล่าว่า ตนเองอาศัยอยู่ในบ้านห่างจากที่ทิ้งขยะสารพิษเพียง 1 กม. ทุกวันจะได้กลิ่นเหม็น ยิ่งกลางคืนด้วยแล้วนอนไม่หลับ เพราะรู้สึกแสบคอแสบจมูก และเมื่อมีน้ำท่วมที่มีสารพิษปนเปื้อนไหลซึมในบ่อน้ำตื้นที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังได้รับสารพิษ
นอกจากนี้เมื่อปี 2552 เกิดน้ำท่วมไหลมาที่เล้าสุกร ส่งผลให้สุกรกินเข้าไปตายแรกคลอด หรือแท้งระยะสุดท้าย แรกเริ่มตนเองเข้าใจว่า อาจเกิดจากการบริหารจัดการเล้าไม่ดีและอาหารอาจมีเชื้อรา จึงส่งตัวอย่างให้สัตวแพทย์ตรวจ แต่ก็ไม่พบสารพิษใด ๆ
กระทั่งปี 2553 เมื่อเกิดน้ำท่วม สุกรก็ตายเช่นเดิมอีก จึงคิดว่า อาจเป็นเพราะวัคซีนที่ฉีดให้ แต่เมื่อน้ำแห้งเหตุการณ์ก็กลับเป็นปกติเช่นเดิม ล่าสุดปี 2554 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ สัตวแพทย์จึงนำน้ำไปตรวจสอบพบสารพิษบางอย่างในน้ำ และสุดท้ายจึงทราบสาเหตุอาจเกิดจากน้ำปนเปื้อนสารพิษในบ่อกักเก็บ
กรณีชุมชนหนองแหน ดร.ธนพล ชี้ว่า มีน้ำในบ่อน้ำตื้นหลายแห่งในชุมชนเสี่ยงใช้ไม่ได้ แต่ชาวบ้านบางคนยังจำเป็นต้องใช้อุปโภคบริโภคอยู่ อีกทั้งงบ่อน้ำเสียที่มีสารฟีนอลสูงก็ขาดการบำบัด จนเป็นต้นตอให้เกิดการรั่วไหลสู่ชั้นใต้ดิน ดังนั้นจึงต้องมาหามาตรการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง และยาว
ระยะสั้น เสนอให้สร้างเครื่องบำบัดสารพิษในบ่อน้ำตื้นที่ปนเปื้อนอยู่ในปัจจุบัน โดยมีโอโซนเป็นตัวสลายสารฟีนอลและสารชนิดอื่นได้ แต่ว่าอาจจะไม่ยั่งยืนนัก ตราบใดที่ต้นตอปัญหายังคงอยู่
ระยะกลาง ปลูกหญ้าแฝกฟื้นฟูดินโดยรอบ ซึ่งรากของหญ้าชนิดนี้เมื่อเจอสารฟีนอลจะทำปฏิกิริยาระคายเคืองและสลายได้ในที่สุด และพืชชนิดอื่นอาจทำไม่ได้
ระยะยาว ควรมีการประสานกับบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับมลภาวะดังกล่าวให้ตรวจสอบปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม นักวิศวกรฟื้นฟูท่านนี้ เชื่อมั่นว่าเทคนิคทางด้านวิศวกรรมไทยมีความพร้อม แต่อาจต้องใช้งบประมาณสูงในการแก้ไขปัญหา
ก่อนจะสรุป “ลงทุนสูงเพื่อการฟื้นฟูคุ้มค่ากว่าการลงทุนรักษาสุขภาพที่ได้รับผลกระทบแน่นอน” .