- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- “ประเทศไทย เปื้อนพิษ” ตอน ถอดบทเรียนมินามาตะ มาบตาพุด ถึงน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว
“ประเทศไทย เปื้อนพิษ” ตอน ถอดบทเรียนมินามาตะ มาบตาพุด ถึงน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว
จากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วในทะเลระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 จากทุ่นรับน้ำมันดิบ นอกฝั่งท่าเรือนิคมอุตาสาหกรรมมาบตาพุดไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 20 กิโลเมตรของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในเครือของปตท.หรือพีทีทีจีซี ได้ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลาถึง 1 เดือน แม้จะมีการแก้ไขสถานการณ์ได้บางส่วน แต่ผลกระทบในระยะยาวและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมของบริษัทพีทีทีจีซี มีความจริงใจมากน้อยเพียงใด ในฐานะที่เป็นผู้ก่อมลพิษให้เกิดขึ้นในครั้งนี้ยังคงเป็นคำถามที่คาใจของคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
หรือแม้กระทั่งขั้นตอนของการเยียวยาที่ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบรู้สึกเสมือนตกเป็นจำเลยด้วยข้อความบางประการในเอกสารการขอรับสิทธิในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว
เมื่อเร็วๆ นี้ ภายในงาน Thailand research expo 2013 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ด ภายในบูธนิทรรศการเล็กๆ ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีการตั้งวงเสวนาแลกเปลี่ยน “ประเทศไทยเปื้อนพิษ” ในหัวข้อ “มาบตาพุดเปื้อนพิษ กับท้องทะเลดำจากน้ำมันรั่ว อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด: การบำบัดฟื้นฟูและรับมือมลพิษ" ขึ้น
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณนิเวศ มองวันนี้เพื่อสะะท้อนให้เห็นอนาคตข้างหน้าว่า จริงอยู่แม้ปริมาณคราบน้ำมันปัจจุบันจะลดลง หรืออาจจะหมดไปแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ คนในชุมชนที่ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะเรื้อรังยาวนาวแค่ไหน
เธอเชื่อว่า การเยียวยาผลกระทบวัดผลไม่ได้ในระยะเวลา 30 วัน เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นในวันนี้ยังแก้ไขไม่ได้ทั้งหมด เราจึงต้องมองกันในระยะยาว
"กรณีน้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก สิ่งเหล่าหนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วถึง 226 ครั้ง ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว มันกลับมาเกิดขึ้นซ้ำๆโดยที่เราไม่หาทางป้องกัน”
อีกทั้งปตท.ถือเป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพ็ญโฉม เห็นว่า การแก้ปัญหาความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ที่มีแค่ทุ่นเพียง 200 เมตรนั้น แสดงให้เห็นว่า ทั้งเอกชนและรัฐบาลไม่มีความพร้อม รับมือสถานการณ์เลย
"ประเทศไทยมีพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ได้ระบุไว้ชัดเจน ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่กลับไม่มีการบังคับใช้เลยในบ้านเรา เรื่องการป้องกันชุมชนเองก็สำคัญที่สุด ซึ่งในหลายๆพื้นที่ชุมชนเข้มแข็งจะเฝ้าระวังพื้นที่ได้ดีที่สุด การป้องกันและแกไขปัญหาขอเพียงข้าราชการทำหน้าที่ของข้าราชการ ผู้รักษากฎหมายทำหน้าที่ของตนเอง แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ก่อขึ้น มองกำไรทางธุรกิจให้น้อยลง นึกถึงสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมมากขึ้น"
นอกจากนี้เธอยังเห็นว่า จุดที่เป็นอันตรายที่สุดคือการให้ข้อมูลของบริษัทที่อยู่ในมาบตาพุดว่า ในพื้นที่ยังสามารถเพาะเลี้ยงหอยได้ไม่มีอันตราย นั่นเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อสาธารณะ และเป็นการไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค
“หากวันนี้เรา ไม่มีความคิดเชิงป้องกันก็จะเกิดความหายนะได้ วันนี้ หากปตท. รับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นให้ดี โปร่งใส หากทำดีภาพลักษณ์จะดีเอง ไม่ต้องไปทำ CSR ให้เสียเงินเสียเวลา เพราะมันไม่ช่วยลดมลพิษ หากมองในเชิงการจัดการมลพิษ CSR คือการสร้างภาพที่หลอกลวง” เพ็ญโฉม ระบุ พร้อมกับเชื่อมั่นว่า การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคนทุกชนชั้น เราอาศัยในสังคมสิ่งแวดล้อมเดียวกัน มลพิษไม่มีขอบเขต ทุกคนต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใส่ใจชาวบ้าน ช่วยกันเฝ้าระวัง และผลักดันเพื่อไม่ให้เกิดการแก้ปัญหา
โดยเฉพาะนักวิชาการเป็นผู้ที่มีบทบาทเป็นอย่างมาก ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ หน่วยวิจัยเชิงบูรณาการด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร แสดงความเชื่อมั่น การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมสามารถแก้ไขได้ ด้วยเทคโนโลยีทางวิศวกรรม
“แต่ปัญหาคือ “แพงและยาก” ที่สำคัญคือไม่คุ้มค่า ดังนั้นการป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”
โดยเฉพาะที่การฟื้นฟู “อ่าวพร้าว” นักวิชาการจาก ม.นเรศวร เห็นว่า ยิ่งแก้ยาก!! และจะร้ายแรงจนต้องถมอ่าวหรือไม่เราก็ยังไม่รู้ การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด อีกทั้งประชาชนต้องช่วยกัน และมาตรการป้องกันต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้
นักวิชาการด้านวิศวะกรรมฟื้นฟูฯ ยังเสนอด้วยว่า ในภาคอุตสาหกรรมควรมีมาตรการในการจัดการ ให้มีประกันสิ่งแวดล้อม ดึงภาษีจากประกันออกมาใช้ เมื่อเกิดเหตุไม่ต้องเถียงกันว่าใครผิดดึงเอางบมาจัดการแก้ไขปัญหาก่อน แล้วค่อยมาฟ้องไล่เบี้ยเก็บทีหลัง เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้นและเป็นการควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลาย
แต่อย่างไรก็ตาม เขายังยืนว่า การป้องกันดีกว่าการแก้ไข แม้จะมีเทคนิคและงบประมาณในการแก้ปัญหาก็จะต้องใช้เวลานาน หากมองดูในระยะยาวรัฐบาลควรออกนโยบายเพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
ถอดบทเรียนจากมินามาตะสู่อ่าวพร้าว
ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ญี่ปุ่นประเทศที่ได้ชื่อพัฒนาแล้ว ก็มีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเช่นกัน
ดร.ทาเคชิ มิยาคิตะ ผู้อำนวยการศูนย์มินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคูมาโมโตกาคุเอง ประเทศญี่ปุ่น แสดงความเสียใจต่อกรณีน้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก่อนจะถ่ายทอดประสบการณ์การบำบัด ฟื้นฟู และรับมือกับมลพิษ ในประเทศบ้านเกิด
“ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอ่าวมินามาตะจากปัญหากรณีปล่อยน้ำเสียจากโรงงานเป็นระยะเวลาถึง 32 ปี หากวันนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นสั่งให้บริษัทยกเลิกการปล่อยน้ำเสีย จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมินามะตะก็จะน้อยลง ดังนั้นสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ตัวบริษัทเอกชนควรเลิกมองตัวเลข “กำไร” แต่ควรนึกถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติประกอบด้วย”
และแม้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจะสามารถแก้ไขปัญหาเยียวยาให้ประชาชน ยับยั้งการกระจายของสารปรอทในทะเลด้วยการถมอ่าว ปรับทัศนียภาพให้สวยงาม แต่นั่นก็ไม่ใช่การเยียวยาทั้งหมด ในมุมมองของผอ.ศูนย์มินามาตะศึกษาฯ
เพราะการเยียวยาที่แท้จริง คือ ต้องเรียกสิ่งแวดล้อมแบบเดิมให้กลับคืนมาได้ แต่วันนี้ความอุดมสมบูรณ์ไม่มีแล้ว ความมีชีวิตชีวาของท้องทะเลจากสัตว์น้ำได้หายไปแล้ว...
“ดังนั้น ประเทศไทยควรจะต้องหานโยบายร่วมกันว่า อยากให้อนาคตประเทศไปในทิศทางไหน สังคม ชุมชน ต้องการอะไร พัฒนาเรื่องใดบ้าง แล้วมานั่งคุยกัน นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดที่ควรจะทำ” ดร.ทาเคชิ มีข้อเสนอทิ้งท้าย
ส่วนช่างภาพผู้มีประสบการณ์ในการถ่ายภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในไทยมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี “เริงฤทธิ์ คงเมือง” เป็นผู้หนึ่งที่ไม่พลาดตามไปเก็บภาพสถานการณ์น้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ด้วยเช่นกัน
เขาเล่าว่า จากประสบการณ์ที่เคยถ่ายภาพมาทั้งหมด เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่ามีความรุนแรงมาก และการใช้กฎหมายในบ้านเราก็ไม่มีความชัดเจน จึงเป็นสิ่งที่ยากมากในการป้องกันและแก้ไข ฉะนั้น สิ่งที่อยากฝากคืออยากให้ผู้ประกอบการนึกถึงความทุกข์ของชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบ และสิ่งแวดล้อมให้มากกว่ากำไรทางธุรกิจ
นี่คงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลและเอกชน รวมถึงบริษัทในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องเปิดใจให้กว้าง รับฟังเสียงเล็กๆ ของประชาชน และทบทวนบทบาทหน้าที่ของตนเอง เพื่อหามาตรการในการป้องกันและแก้ไข ไม่ให้ “ประเทศไทย (เปรอะ) เปื้อนพิษ” ไปมากกว่านี้....
อ่าน คู่มือ ประเทศไทยเปื้อนพิษ ประกอบ