- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- 15 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง คำขอโทษของ “ทนง” กับข้อผิดพลาดของ “ธารินทร์”
15 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง คำขอโทษของ “ทนง” กับข้อผิดพลาดของ “ธารินทร์”
ย้อนรอยวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จากปากคำ "ทนง พิทยะ-ธารินทร์ นิมมานเหมินท์" ลดค่าเงินบาท ไอเอ็มเอฟ ปรส. แบงก์ชาติ และทักษิณ ชินวัตร
(ทนง พิทยะ - ธารินทร์ นิมมานเหมินท์)
ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระหว่างวันที่ 27-29 มี.ค.ที่ผ่านมา มี ส.ส.หลายคนอภิปรายพาดพิงถึงเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี 2540 ที่ทำให้รัฐบาลไทยเวลานั้นต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และไปกู้เงินจาก "กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)"
โดยเนื้อหาการอภิปรายของ ส.ส.บางคน ถูกอดีต รมช.คลังคนหนึ่งลุกขึ้นชี้แจงทันควัน ด้วยเกรงว่าข้อเท็จจริงจะถูกบิดเบือน เพราะเหตุการณ์ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ก็ผ่านมานาน กว่า 15 ปีแล้ว ทำให้เรื่องราวบางอย่างดูเลือนรางราวหมอกควัน
จนเปิดช่องให้นักการเมืองบางกลุ่มปั้นวาทกรรมโกยเครดิตใส่ตัวว่า รัฐบาลยุคพวกตนเป็นผู้ “ปลดหนี้ไอเอ็มเอฟ”
แต่ในอีกด้าน ก็มีความกังวลในภาคธุรกิจว่า เมื่อผู้บริหารขององค์กรเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐด้านเศรษฐกิจ ที่เคยเผชิญกับความยากลำบากจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ต่างวางมือหรือปลดเกษียณตัวเองไป ผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ จะนำ “บทเรียน” จากวิกฤตในอดีตมาปรับใช้แค่ไหน หรือจะละเลยจนนำไปสู่ “วิกฤต” ทางเศรษฐกิจของประเทศรอบใหม่
ในพ็อคเก็ตบุ๊ค ชื่อ "15 ปี วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน” ที่จัดทำโดย "สำนักข่าว Thaipublica" วางแผงครั้งแรกในวางสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ต้นปีนี้ ได้สัมภาษณ์บุคคลสำคัญ 12 คน ที่เกี่ยวข้องวิกฤตต้มยำกุ้ง เพื่อบันทึกข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ พร้อมกับหาคำตอบว่าสังคมไทยได้สรุป “บทเรียน” จากเหตุการณ์ครั้งนั้นแค่ไหน และอย่างไร
โดย 2 ใน 12 บุคคลสำคัญ ที่ “ไทยพับลิก้า” สัมภาษณ์ เป็น "อดีต รมว.คลัง" ที่มักถูกอ้างชื่อถึงเสนอ เมื่อกล่าวถึงบทบาทของรัฐบาลในการแก้ไขต้มยำกุ้ง
คนแรก คือ “ทนง พิทยะ” อดีต รมว.คลัง สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (2539-2540) ที่ระยะหลัง ชื่อแทบจะหายไปจากสื่อ
และคนที่สอง คือ “ธารินทร์ นิมมานเหมินท์” อดีต รมว.คลัง สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย (2541-2543) ที่ไม่เคยเปิดปากถึงเรื่องนี้มาก่อน
พ็อคเก๊ตบุ๊คปกเทาคาดแถบชมพูช็อกกิ้งพิงค์เล่มนี้ จึงเป็นครั้งแรกที่นำ “อดีตขุนคลัง” ทั้ง 2 คน มาพูดถึงวิกฤต 2540 บนเวทีเดียวกัน
เกิดอะไรขึ้นกันแน่ในช่วงเวลานั้น ? ใครควรรับผิด ใครควรรับชอบ ? เชิญติดตามอ่านได้ในบรรทัดถัดไป...
-----
“ทนง พิทยะ” (นามสกุลเดิม ลำใย) เป็น รมว.คลังคนที่ 2 ของรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ต่อจาก “อำนวย วีรวรรณ” ที่ลาออกหลังสู้การโจมตีค่าเงินบาทจากต่างชาติไม่ไหว โดย “บิ๊กจิ๋ว” ได้โทรศัพท์ไปตามตัวอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทยรายนี้ ขณะกำลังช็อปปิ้งอยู่กับภรรยา บนเกาะฮ่องกง ด้วยคำเชิญจากนายเก่าที่ตัวเขามิอาจปฏิเสธได้ นั่นคือ “ทนงกลับมาช่วยชาติหน่อย!”
เขาเล่าว่า หลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ก็มีการประชุมร่วมกับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อสอบถามข้อมูลต่างๆ ก็พบว่าเหลือเงินสำรองประเทศที่ใช้ได้จริงๆ อยู่เพียง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการปกป้องค่าเงินบาทอีกต่อไป
ในที่ประชุมจึงหารือถึงวิธีแก้ปัญหา 2 แบบ 1.ลอยตัวค่าเงิน และ 2.ลอยตัวแบบมีเพดาน ครั้งละ 5-10% ซึ่ง “เริงชัย มะระกานนท์” ผู้ว่าการ ธปท.สมัยนั้น ขอเวลากลับไปหารือกับเจ้าหน้าที่ของ ธปท.
วันเสาร์ที่ 28 มิ.ย.2540 เริงชัยโทรศัพท์กลับมาหาทนง เพื่อแจ้งว่าจะ “ลอยตัวค่าเงินบาท” !!
24 ชั่วโมงถัดมา บุคคลทั้ง 2 ก็เข้าพบ พล.อ.ชวลิตที่บ้านพัก เพื่อเรียนให้ทราบถึงการตัดสินใจดังกล่าว แต่ยังไม่ระบุว่า ว่าจะลอยตัวค่าเงินวันไหน เวลาใด
“ทนง” ให้เหตุผล ถึงการตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท วันพุธที่ 2 ก.ค.2540 ทั้งๆ ที่ได้ตัดสินใจจะลอยตัวตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 29 มิ.ย.2540 ว่า
“เราถามท่านผู้ว่าฯ ธปท.ว่าถ้าลอยตัววันจันทร์ ท่านคิดอย่างไร ท่านก็บอกว่ามันจะมีปัญหากับธนาคารพาณิชย์ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนจะขยับทันที แล้วธนาคารจะปิดบัญชีแบบขาดทุน ต้องเกิดปัญหาตามมาอีกเยอะ จะทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นท่านอยากให้มีการปิดบัญชีให้เรียบร้อยก่อน คือหลังวันปิดบัญชีวันที่ 30 มิ.ย. ส่วนวันที่ 1 ก.ค.เป็นวันหยุดของธนาคาร ซึ่งเราทำอะไรไม่ได้ เลยวางแผนว่าเอาวันที่ 2 ก.ค.ซึ่งเป็นวันพุธ”
อดีต รมว.คลังรายนี้กล่าวว่า ในตอนที่นำเอกสารลอยตัวค่าเงินบาทไปให้กับ พล.อ.ชวลิตเซ็นหลังการประชุม ครม. ในวันอังคารที่ 1 ก.ค.2540 ที่ห้องข้างห้องประชุม ครม. พล.อ.ชวลิตได้ถามว่า “จะเอาจริงหรือน้อง” เมื่อตนตอบว่า “มันอยู่แบบนี้ไม่ได้แล้วครับ” พล.อ.ชวลิตก็จับปากกาเซ็นเอกสารทันที
ทนงเล่าว่า ในตอนที่นายกฯ เซ็นคำสั่งลอยตัวค่าเงินบาท มีผู้ที่อยู่ในห้องดังกล่าว 5 คน นอกจาก พล.อ.ชวลิต ตนและผู้ว่าฯ ธปท.ก็ยังมี “โภคิน พลกุล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ กับ “กร ทัพพะรังสี” รมว.อุตสาหกรรม
เมื่อถูกถามจะมีนักการเมืองหรือนักธุรกิจคนใดรู้เรื่องดังกล่าวล่วงหน้า แล้วได้ประโยชน์จากข้อมูล “อินไซเดอร์” นั้นหรือไม่?
ทนงไม่ตอบคำถามนี้ตรงๆ แต่กล่าวว่า “คนที่พูดถึงสิ่งเหล่านี้ ส่วนมากเป็นเรื่องของการเมือง เป็นนักการเมืองที่พยายามทำร้ายนักการเมืองด้วยกัน ที่ผมเรียนแบบนี้ เพราะระหว่างวันอาทิตย์ถึงวันพุธตลาดมันวายไปหมดแล้ว ผมถามง่ายๆ ใครจะยอมเสียค่าโง่ ทุกคนรู้ว่าเงินบาทจะอยู่ไม่ได้
“หลังลอยตัวค่าเงิน 2 สัปดาห์ เราก็ตรวจสอบย้อนหลังไปยังทุกธนาคาร ว่ามีการถอนเงินเป็นกรณีพิเศษเพื่อไปเล่นค่าเงินไหม ก็ไม่มี ในเมื่อรู้ว่าจะไม่มีตลาดแล้ว ใครจะยอมขาดทุน คิดว่าต่างชาติเขาโง่กว่าเราหรือ และคิดว่าภายใน 3-4 วัน คนไทยมีปัญญาเอาเงินเป็นพันๆ ล้าน แล้วมีคนรับแทงเพื่อยอมขาดทุนหรือ ผมนึกไม่ออก ไม่มีหรอกครับ”
จากการลอยตัวค่าเงินบาทดังกล่าว ทำให้รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ต้องมีการกู้เงินจาก “ไอเอ็มเอฟ”
ในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว “ทนง” ยังกล่าวถึงเหตุผลของการตัดสินใจยื่นซองขาวลาออกจากตำแหน่ง รมว.คลังในเวลาต่อมา รวมสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วยกับที่วิธีการรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี “ธารินทร์ นิมมานเหมินท์" เป็น รมว.คลัง ใช้ในการแก้ไขปัญหาต้มยำกุ้ง
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือคำขอโทษ-ขออภัยจากปากผู้เสนอให้นายกฯ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทคนนี้
“ผมก็ต้องขออภัยที่บางคนต้องเจ็บปวด แต่ผมคิดว่าเป็นความเจ็บปวด ซึ่งในที่สุดทำให้เราได้เรียนรู้ แล้วทำให้เราประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา ผมเชื่อว่าหลายๆ คนที่เจ็บปวดจากการลอยตัวค่าเงินได้เรียนรู้ และฟื้นกลับมาเกือบครบทุกคน ผมก็คิดว่าเขาคงเข้าใจผมแล้ว ก็ต้องขออภัยที่ตอนนั้นเขาต้องเจ็บปวด”
-----
“ธารินทร์ นิมมานเหมินท์” อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ารับตำแหน่ง รมว.คลัง ใน ”รัฐบาลชวน 2” เมื่อเดือน พ.ย.2540 ซึ่งถือเป็นการกลับมารอบที่สอง หลังเข้ารับตำแหน่ง รมว.คลัง ใน "รัฐบาลชวน 1" มาแล้ว
"โจทย์ยาก" ของธารินทร์ในตอนนั้น ก็คือ นอกจากประเทศไทยจะขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก สถาบันการเงินเป็นอัมพาต เงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอ การลงทุนต่างๆ หยุดชะงัก ขณะที่การส่งออกอยู่ระหว่างการปรับตัวจากการลอยตัวค่าเงินบาท
การที่รัฐบาลชุดก่อนหน้า ของพรรคความหวังใหม่ ไปยอมรับ “เงื่อนไข” ต่างๆ ของไอเอ็มเอฟ แลกกับการขอรับเงินช่วยเหลือ ยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหายากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะทั้ง ห้ามรัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุล ควบคุมการใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจ และควบคุมอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
ในบทสัมภาษณ์ที่ “ธารินทร์” ให้เป็นครั้งแรกในรอบกว่าสิบปีกับไทยพับลิก้า มีการกล่าวถึงแนวคิดต่างๆ ในการแก้ไขวิกฤตปี 2540 ไว้อย่างน่าสนใจ
เริ่มจากเรื่องอื้อฉาวที่ยังมีการตามชำระจนถึงปัจจุบัน อย่างการต่อตั้ง “องค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน(ปรส.)”
“นโยบายเรื่อง ปรส. ได้ทำเป็นกฎหมาย ผมไม่คิดว่ามันผิด เพราะปัญหาใหญ่เวลานั้น ก็คือประเทศไปเป็นเจ้าหนี้เงินฝากของคนเหล่านี้ (สถาบันการเงินที่มีปัญหา) ทั้งหมด จึงต้องยึดทรัพย์สินมา เมื่อยึดมาแล้ว ถามว่ามีความสามารถในการบริหารไหม ในเมื่อเจ้าหนี้ส่วนใหญ่คือ ธปท. และกองทุนฟื้นฟูฯ เขาจะไปรู้อะไร และใครจะมานั่งบริหารเศรษฐกิจที่แท้จริงในส่วนที่ควรจะเป็น ทั้งหมดที่ทำคือชำระบัญชีเอาเงินคืนอย่างเดียว ฉะนั้นต้องมาดูว่ามีทางเลือกอื่นไหมที่ใช้ระบบคืนหนี้ให้ภาคเอกชนอย่างเร็วและถูกต้องที่สุดตามระบบตลาด นี่คือที่มาที่ไปของ ปรส.”
ธารินทร์ กล่าว่า หากไม่ตั้ง ปรส.มีอีกวิธีที่ทำได้ง่ายมาก คือตั้ง “ทนายแผ่นดิน” แล้วฟ้องทุกรายเอาเงินคืนมา แต่หากใช้วิธีนั้นเศรษฐกิจไทยเจ๊งแน่นอน
อดีต รมว.คลังรายนี้ จึงยืนยันว่านโยบาย ปรส.และ “บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน(บบส.)” เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
และด้วยเงื่อนไขต่างๆ ของไอเอ็มเอฟจะทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยเป็นไปได้ยาก เวลานั้น “ธารินทร์” จึงต้องเดินสายไปล็อบบี้ไอเอ็มเอฟ จนมีการนำเรื่องเข้าสภาคองเกรสของสหรัฐ โดยได้คุยกับทั้งบิล คลินตัน อัล กอร์ และนักการเมืองอเมริกันรายอื่นๆ กระทั่งสามารถ ปลดล็อคมาตรการที่เข้มงวดได้ ในท้ายที่สุด
“(เหตุที่ไอเอ็มเอฟต้องกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อย่างเข้มงวด) เพราะเขาเจอปัญหาอาร์เจนตินา จากปัญหาละตินอเมริกา พอเจอปัญหาเอเชีย ไทยกับเกาหลีใต้เป็น 2 ประเทศแรก เขาก็ปรับวิธีการในละตินอเมริกามาใช้ คือเข้มงวดทุกอย่าง เพราะสี่งที่ไอเอ็มเอฟกลัวมากๆ คือเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนคุมไม่อยู่ แล้วสิ่งที่จะตามมาคือความต้องการให้จ่ายไม่ลด การนำเข้าเท่าเดิม ทำให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นมหาศาล ไอเอ็มเอฟกลัวเรื่องนี้มาก เขาก็บอกว่าจะใช้โมเดลนี้กับเรา ซึ่งมันผิด เพราะเมืองไทยมีความต้องการใช้จ่ายที่ยืดหยุ่นมาก พอมีปัญหาก็ไม่ซื้อดีกว่า ผมจึงเจรจากับไอเอ็มเอฟว่าทันทีที่เงินเฟ้อของเราเริ่มลดลง ต้องแก้เงื่อนไขทั้งหมด เขาก็ยอมตามนั้น”
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาส่วนตัวบางประการ ที่ทำให้ “ธารินทร์” ถูกต่อว่าจากคนในพรรคประชาธิปัตย์ ว่าทำให้ถูกผู้นำรัฐบาลคนต่อไป ที่ชื่อ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ชุบมือเปิบ-เอาผลงานไป นั่นคือ “ปัญหาเรื่องการอธิบายความจริง” !!
“ตอนที่ตัดสินใจในขณะนั้น ผมไม่ได้อธิบายความจริงให้คนไทยฟัง เพราะคิดว่าถ้าอธิบาย เดี๋ยวหมดกำลังใจ แล้วจะพังกันหมด”
ถามว่าอะไรคือเรื่องใหญ่ในเวลานั้นที่ปิดไว้ เขากล่าวว่า “ก็ทุกเรื่อง ผมไม่เคยบอกว่าทุนสำรองเราหมด ไม่เคยบอกว่าธนาคารเราเจ๊ง และอีกเรื่องคือระบบธนาคารพาณิชย์ แต่เรื่องนี้มีคนบอกอยู่แล้วคือบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น มูดีส์ ที่จัดอันดับระบบธนาคารไทยเท่ากับระดับต่ำสุด”
สำหรับที่มาวิกฤตต้มยำกุ้ง “ธารินทร์” ชี้นิ้วไปที่ ธปท.หรือ “แบงก์ชาติ” ทั้งการการปกป้องค่าเงินด้วยการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสะร่ายแบบไม่ฉลาด รวมถึงไม่ยอมผ่อนคลายแรงกดดันด้วยการขยับอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม
เมื่อขอให้สรุปบทเรียน ว่าผ่านมากว่า 15 ปีแล้ว สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี 2540 บ้าง ?
อดีต รมว.คลัง 2 สมัยรายนี้ กล่าวว่า "ธปท.เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สถาบันการเงินก็มีความเข้มงวด คนที่บริหารธนาคารก็ดีขึ้น ระบบสถาบันการเงินก็เข้มแข็งขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมก็มีความหลากหลายมากขึ้น
“ผมคิดว่าเขาเรียนรู้ขึ้นมาก แต่กำลังไม่รู้อีกแล้ว ปัญหาตอนนี้ต้องให้คนรุ่นใหม่คิดต่อแล้วว่าจะต้องทำอย่างไร”
(หน้าปกหนังสือ "15 ปี วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน" จัดทำโดยสำนักข่าว Thaipublica)