- Home
- Isranews
- กระจายข่าว
- “ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง” นักวิจัยทีดีอาร์ไอ คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ
“ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง” นักวิจัยทีดีอาร์ไอ คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 59 สภาวิจัยแห่งชาติได้จัดงานแถลงข่าวรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี 2558 โดยคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติได้มีมติให้ประกาศเกียรติคุณนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาต่าง ๆ จำนวน 10 ท่าน โดยมี ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2558
รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยของประเทศ ซึ่งสภาวิจัยแห่งชาติเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2528 โดยมอบให้แก่นักวิจัยซึ่งได้อุทิศตนให้กับการวิจัยอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่มและเป็นผลงานวิจัยที่ทำสะสมกันมาเป็นเวลาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ทั้งเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัยจนเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการนั้นๆ สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยผู้อื่นได้ ในอันที่จะทุ่มเทกำลังใจ และสติปัญญาในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ
ที่ผ่านมา สภาวิจัยแห่งชาติได้พิจารณาและมอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติมาแล้วรวม 31 ปี สำหรับสาขาเศรษฐศาสตร์มีผู้ได้รับรางวัลมาแล้วจำนวน 11 คน ในระหว่างปี 2528-2554 ล่าสุดคนที่ 12 คือ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งเป็นนักวิจัยทีดีอาร์ไอคนที่สามที่ได้รางวัลนี้ ถัดจาก ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา (ปี 2529) และ ดร. ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ (ปี 2547)
ดร.วิโรจน์ จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาเภสัชศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2526 แล้วหันไปเรียนปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ที่ ดร. ได้เริ่มเป็นผู้ช่วยวิจัยในโครงการวิจัยของธนาคารโลกในระหว่างทำวิทยานิพนธ์ หลังจากนั้นก็มาเป็นผู้ช่วยวิจัยที่ทีดีอาร์ไอเป็นเวลาสามปี ก่อนที่จะลาไปศึกษาต่อปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ที่ Vanderbilt University และเมื่อจบการศึกษาก็ไปเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก (Postdoctoral Fellow) ที่ Economic Growth Center, Yale University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเป็นเวลาสองปี แล้วจึงกลับมาทำงานวิจัยที่ทีดีอาร์ไอตั้งแต่ปี 2540 มาจนถึงปัจจุบัน
ตลอดช่วง 30 ปีเศษที่ทำงานวิจัยนั้น ดร.วิโรจน์ มีผลงานวิจัยใน 5 ด้านหลักๆ คือ งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรและชนบท งานวิจัยด้านการศึกษาและการเลื่อนชั้นทางสังคม งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและหลักประกันด้านสังคมต่างๆ งานวิจัยประเมินผล (โครงการ แผนงาน และองค์กรต่างๆ) และงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง
ในช่วงที่จบการศึกษาปริญญาตรี ดร.วิโรจน์ ได้รับรางวัลภูมิพลจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี 2526 จากเรียงความ “นักศึกษากับการสร้างสรรค์สังคมไทย: บทบาทที่พึงปรารถนา” และในระหว่างที่ทำงานวิจัย ก็เคยได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติมาแล้ว 5 รางวัล ได้แก่รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยมสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2538 (จากหนังสือ “ประมวลความรู้เรื่องข้าว” ที่เขียนร่วมกับ ศ.อัมมาร สยามวาลา) รางวัลผลงานวิจัยสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในปี 2551 และรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2552 จากสองชุดโครงการวิจัยที่เกี่ยวกับการติดตามประเมินผลการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รางวัลผลงานวิจัยระดับดีสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในปีเดียวกัน (2552) จากงานวิจัยผลกระทบของการขยายบริการรักษาพยาบาลสำหรับคนไข้ต่างชาติ (Medical Hub) (ร่วมกับ ศ.อัญชนา ณ ระนอง และ รศ.ศิรชัย จินดารักษ์) และรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2557 จากงานวิจัย “การศึกษาเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย” และยังได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่น กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ประจำปี 2554 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากงานวิจัยที่ศึกษาการกระจายผลประโยชน์จากโครงการด้านสาธารณสุขและการศึกษาของภาครัฐที่มีต่อประชาชนกลุ่มเศรษฐานะต่างๆ (ร่วมกับ รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ ในชุดโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม)
ในโอกาสที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาเศรษฐศาสตร์ในครั้งนี้ ดร.วิโรจน์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเหตุผลที่หันมาเรียนและยึดอาชีพนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ก็เพราะต้องการร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้พยายามทำงานวิจัยเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสำคัญๆ ของประเทศ และนอกจากจะมีผลงานวิจัยหลายชิ้นที่มีข้อเสนอเชิงนโยบายโดยตรงแล้ว ที่ผ่านมาก็ถือเป็นหน้าที่ที่จะใช้ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยมานำเสนอความเห็นต่อสาธารณะ โดยพยายามอิงวิชาการและความรู้และข้อเท็จจริงที่ได้จากการวิจัยให้มากที่สุด
“ในงานแถลงข่าววันนี้ นักวิจัยดีเด่นหลายท่านบอกว่ารางวัลนี้ถือเป็นความภูมิใจในชีวิต ซึ่งในฐานะนักวิจัยอาชีพ ผมก็น่าจะรู้สึกแบบเดียวกัน แต่สิ่งที่ทำให้รางวัลนี้มีความหมายสำหรับผมมากที่สุด ก็คือรางวัลนี้ น่าจะช่วยเสริมรางวัลผลงานวิจัยต่างๆ ที่เคยได้รับ ซึ่งทุกรางวัลผ่านการตัดสินโดยผู้ทรงคุณวุฒิในวงวิชาการคงจะช่วยยืนยันว่าผลงานวิจัยที่ผ่านมามีฐานทางวิชาการและระเบียบวิธีการวิจัยที่เชื่อถือได้ และเป็นฐานความรู้ที่น่าจะหนักแน่นพอที่ผมควรจะนำไปใช้หรือต่อยอดในการแสดงความคิดเห็นเชิงนโยบายในเรื่องเหล่านั้นต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมาต่อไป ถึงแม้ว่าหลายความเห็นอาจเป็นความเห็นที่ต่างจากรัฐบาลหรือสวนกระแสสังคมก็ตาม”
เมื่อถูกถามว่ามีอะไรจะฝากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ๆ บ้าง ดร.วิโรจน์ ชี้ไปที่โปสเตอร์ซึ่งมีหัวข้อ “คติประจำใจ” ที่เขียนไว้ว่า “นักวิจัยควรมีความอยากรู้ ช่างคิด ช่างสงสัย ไม่ปักใจเชื่อง่ายๆ ตั้งใจ รัก และทุ่มเทในการหาคำตอบ เรียนรู้จากงานของผู้อื่น แต่ไม่มีผลประโยชน์หรือเอาตัวเองไปผูกพันกับคำตอบใดไว้ก่อน และพร้อมที่จะเปลี่ยนความเชื่อและจุดยืนตามข้อเท็จจริงและข้อค้นพบ”