สตง.ลุยสอบแล้ว สนช.-สปช. รับเงิน 2 ทาง เบื้องต้นพบยังไม่มี กม.ห้าม
สตง. ลุยสอบแล้ว ปม ขรก.ประจำนั่งเก้าอี้ สนช.-สปช. พบรวม 26 ราย รับเงิน 2 ทาง เบื้องต้นยังไม่มีกฎหมายห้าม แต่จะตรวจสอบต่อ
จากกรณีมีการเผยแพร่ข่าวจากสื่อมวลชนหลายสำนัก รายงานว่า มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลายราย ที่อาจเข้าร่วมประชุมไม่ครบ และไม่ได้ลงมติให้ครบ ตามข้อกำหนดของที่ประชุม สนช. ซึ่งเข้าข่ายอาจขาดคุณสมบัติการเป็น สนช. ได้นั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า นายพิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สั่งการให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภาคต่าง ๆ ดำเนินการตรวจสอบว่า มีหัวหน้าส่วนราชการ หรือข้าราชการประจำรายใด เป็นสมาชิก สนช. หรือสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บ้าง (ยังไม่มีการตรวจสอบกรณีข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.)
เบื้องต้น จากการตรวจสอบพบว่า หัวหน้าส่วนราชการ หรือข้าราชการประจำ ดำรงตำแหน่งเป็น สนช. รวม 4 ราย และได้รับตำแหน่งเป็น สปช. รวม 22 ราย (รวมทั้งหมด 26 ราย) ซึ่งทั้งหมดแจ้งว่า ได้รับเงินเดือนจากต้นสังกัดด้วย
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบบทบัญญัติตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ เช่น พ.ร.ก.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ.2557 กำหนดให้สมาชิก สนช. และ สปช. ได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์อื่นตอบแทน รวมถึงได้รับเงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มเป็นรายเดือน ค่าพาหนะในการเดินทางทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจากการศึกษากฎหมายที่มีบทบัญญัติในการจำกัดสิทธิการรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง กรณีได้รับตำแหน่งให้ดำรงตำแหน่งมากกว่า 1 ตำแหน่ง พบว่า หากกฎหมายนั้น ๆ มีเจตนาจะจำกัดสิทธิดังกล่าว จะต้องมีบทบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง
แต่เมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ก.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ.2557 มิได้มีบทบัญญัติในการจำกัดสิทธิการรับเงินเดือนไว้ เว้นแต่มาตรา 3 วรรคสาม ตาม พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว กำหนดให้ “ผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นเงินเดือนในตำแหน่งข้าราชการการเมืองอีก” และจากการศึกษากฎหมายที่มีบทบัญญัติในการจำกัดสิทธิการรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง กรณีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งมากกว่า 1 ตำแหน่ง พบว่า หากกฎหมายนั้น ๆ มีเจตนาจะจำกัดสิทธิดังกล่าว จะมีบทบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งดังที่กล่าวไว้ในข้อ 3 ดังนั้นกรณีประเด็นว่าจะมีการรับเงินเดือนจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอีกหรือไม่ จึงเห็นว่า จะต้องติดตามตรวจสอบต่อไป
ทั้งนี้จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเบิกจ่ายเงินของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รับแจ้งว่า ได้มีการจ่ายเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น ให้ผู้ดำรงตำแหน่งใน สนช. และ สปช. ตาม พ.ร.ก.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญตามบางตำแหน่ง พ.ศ.2557 ครบถ้วนแล้ว ใน พ.ย. 2557 แต่ไม่ได้มีการเบิกจ่ายเงินเดือนแต่อย่างใด
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า นับตั้งแต่ปี 2557-ปัจจุบัน สมาชิก สนช. มีจำนวนทั้งสิ้น 250 ราย มีทหารที่ดำรงตำแหน่งอยู่ และทหารที่เกษียณอายุราชการ รวมกันประมาณ 145 ราย ตำรวจที่ยังดำรงตำแหน่ง และที่เกษียณอายุราชการ ประมาณ 12 ราย ข้าราชการประจำ และข้าราชการประจำที่เกษียณอายุราชการ ประมาณ 66 ราย
หมายเหตุ : ภาพประกอบรัฐสภาจาก mthai