ทูลเกล้าฯขอรับร่าง รธน.ลงมาแก้-ใช้ ม.44 ตั้ง ป.ย.ป. 3 เดือนปรองดองได้ข้อยุติ
นายกฯทูลเกล้าฯขอรับพระราชทานร่าง รธน.ฉบับใหม่ ลงมาแก้ไข คาด 1 เดือนเสร็จ - ใช้ ม.44 ตั้ง ป.ย.ป. เผย ‘ประวิตร’ คุยกลุ่มการเมือง-พรรค เรื่องปรองดอง 3 เดือนได้ข้อยุติ ทำข้อตกลงสัจวาจา พูดแล้วต้องทำ ‘ไม่ขวางเลือกตั้ง-ยอมรับ รบ.ใหม่’ ลั่นวันนี้ไม่พูดเรื่องนิรโทษ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ได้ทูลเกล้าฯถวายขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ เพื่อนำลงมาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแล้ว คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 เดือน โดยคณะกรรมการพิเศษแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้ง 11 คนดังกล่าว ตรงนี้ต้องใช้เวลา เพราะต้องรอการแก้ไขในสมุดอาลักษณ์ลงสมุดไทยตามโบราณราชประเพณีด้วย
(อ่านประกอบ : มติ สนช.เอกฉันท์โหวตผ่าน 3 วาระรวดแก้ รธน.ชั่วคราว เปิดช่องแก้ รธน. ใหม่, พระราชกระแสรับสั่งให้แก้ รธน. ใหม่หมวดพระมหากษัตริย์-เข้าวาระ สนช. 13 ม.ค., เปิดหลักการ-เหตุผลแก้ รธน.ชั่วคราว-มติวิป สนช.ให้สภาใช้ดุลพินิจโหวต, ‘วิษณุ-มีชัย-บวรศักดิ์-พรเพชร-อสส. -ปธ.ศาลฎีกา’นั่ง กก.พิเศษแก้ร่าง รธน.ใหม่)
@ใช้ ม.44 ตั้ง ป.ย.ป.-ยันคุยปรองดอง 3 เดือนเสร็จ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่า ดำเนินการใช้มาตรา 44 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวแล้ว แบ่งเป็น 3 งาน ได้แก่ งานฟังก์ชั่น งานปฏิรูป จะเอาแผนงานปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้ามาคลี่ว่าอันไหนรัฐบาลทำแล้ว อันไหนอยากให้ทำต่อเพิ่มเติม จะเกลาทั้งหมด และดำเนินการจัดกฎหมายด้วย
ส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการปรองดองนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การปรองดองอยู่ที่จิตใจของคนที่มาพูดคุย ไม่ใช่ว่าคณะกรรมการฯชุดนี้ หรือตนบังคับให้เกิดการปรองดอง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติ ย้ำว่ารัฐบาล และ คสช. ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร อย่าเข้าใจผิด หลายคนบอกว่ารัฐบาลต้องเป็นกลาง เป็นอยู่แล้ว ถ้าไม่เป็นจะทำได้หรือไง ยินดีรับฟังทุกภาคส่วน และมอบนโยบายแก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้รับผิดชอบคณะกรรมการปรองดองไปแล้วว่าจะทำอย่างไร โดย พล.อ.ประวิตร ระบุว่า จะใช้เวลาพูดคุยกับพรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง ประมาณ 3 เดือนจึงได้ข้อยุติว่า ใครต้องการอะไร มีปัญหาตรงไหน แล้วค่อยว่าต่อตามขั้นตอน ขออย่าใจร้อน เพราะใจร้อนทีไรมีเรื่องทุกที
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับความเห็นเรื่องนิรโทษกรรม ยังไม่พูดในวันนี้ เพราะต้องใช้ตามหลักการอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรศ มรรค ให้ทุกพรรคพูดมา พูดเรื่องขัดแย้ง เรื่องปรองดอง เอาความคิดทุกพรรค ทุกกลุ่มการเมือง ให้ชี้แจงว่า จะปฏิรูปประเทศอย่างไร ปรองดองอย่างไร ในอนาคตข้างหน้าจะอยู่อย่างไร หาวิธีการแก้ปัญหากัน และดูในข้อกฏหมายอีกที
“อย่าเพิ่งพูดเรื่องนิรโทษกรรมก่อน พูดทีไรทะเลาะกันทุกที ที่ผ่านมามีปัญหากันแล้ว ในปี 2557 ที่มีปัญหากันก็เรื่องปรองดองนี่แหละ ไว้ทีหลัง ค่อยว่ากัน ให้ภาคประชาชน ภาคสังคมรู้ก่อนว่า พรรคการเมืองเป็นอย่างไร ต้องการอะไร จะปฏิรูปประเทศหรือไม่ ปรองดองอย่างไร ใครที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ใช่รัฐบาลนี้ ไม่ใช่ผม ผมไม่ได้เข้ามาเพื่อเกิดความขัดแย้ง ผมเข้ามาเพื่อยุติ ตั้งแต่ผมเข้ามาเงียบหรือไม่ หยุดขัดแย้งไหม ผมต้องทำหน้าที่นี้ต่อไปจนกว่า คณะฯนี้จะสรุปขึ้นมาว่า จะทำอย่างไรต่อไป ไปว่ากันต่อ มันไม่ได้จบ 1-2 วันเมื่อไหร่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นปรองดองถูกมองว่าจะสำเร็จหรือไม่ อย่าเพิ่งถามอย่างนี้ เราต้องคาดหวังว่าทำสำเร็จ ทุกคนต้องสร้างแนวคิด (Mind Set) ว่าต้องทำให้สำเร็จ เหมือนที่ตนเชื่อมั่นว่าทำได้ ทุกต้องร่วมมือ ทุกคนต้องมีแนวคิดเหมือนตน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ ที่บอกว่ารัฐบาลไม่เปิดเวทีให้ใครพูด ทั้งที่เปิดมาตลอด สื่อวิพากษ์วิจารณ์ได้ ปิดกั้นตรงไหน แค่หงุดหงิดนิดหน่อย แต่ก็ยังไม่ดำเนินการอะไรสักอย่าง การเคลื่อนไหวของนักศึกษา ถ้าทำในที่รโหฐาน ขออนุญาตมาก็ให้ ไม่ได้ปิดกั้นเลย ต้องสร้างความเข้าใจให้ต่างประเทศ แต่ถ้าโจมรัฐบาล ไม่มีประเทศไหนเขายอม
“ตอนนี้ต่างชาติจะมาลงทุนหรือไม่ เขารอดูว่าจะปรองดองกันได้หรือไม่ นี่ประเด็นสำคัญ ต้องช่วยผม ไม่ใช่บอกว่า ทำไม่สำเร็จ ใครปรองดอง ผมอำนวยความสะดวก ไม่ได้คุยแค่ 3-4 คนแล้วจบ แล้วสู่การใช้กฎหมาย ไม่ได้ ประเทศชาติและประชาชนต้องตัดสินใจด้วย การทำสัจวาจา เป็นคำพูดที่ต้องทำ เช่น จะไม่ขัดแย้งอีกต่อไป ไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ว่ากันไป ไม่ใช่พรรคนี้เป็น แล้วต่อต้าน พรรคนู้นเป็น แล้วต่อต้าน แล้วเกิดกลุ่มการเมืองมาอีก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
@'ประวิตร' ย้ำเรื่องนิรโทษไว้ว่ากัน รบ.หน้า
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงโครงสร้างคณะกรรมการปรองดองว่า นายกรัฐมนตรีมอบให้ตนดูแล และจัดโครงสร้างการดำเนินการเพื่อให้เกิดความปรองดองทั้งหมด ที่มีสาเหตุมาจากการที่พรรคการเมืองทำให้เกิดความขัดแย้ง นำมาสู่ความสับสน แต่ขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในความสงบแล้ว จึงต้องคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้เกิดความสันติ โดยที่ไม่พูดถึงการนิรโทษกรรม การขอพระราชทานอภัยโทษ และปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง จึงหารือว่าจะอยู่กันอย่างไรต่อไป ด้วยเหตุผลดังกล่าวต้องตั้งคณะกรรมการอำนวยการการปรองดองขึ้นมา 1 ชุด มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะ และยังมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิบางส่วนเข้ามาช่วยทำงาน
“คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้กำหนดหัวข้อการหารือให้กับพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองได้ตอบไว้ 10 หัวข้อ เช่น เรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ การต่างประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตามคงต้องให้คณะกรรมการฯได้ประชุมกันก่อน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ยืนยันว่าคณะกรรมการที่เข้ามาทำงานจะเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง นักการเมือง หรือพวกไหนทั้งหมด เมื่อทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นแล้ว คณะกรรมการจะรวบรวมข้อมูล คณะกรรมการจะรวบรวมข้อมูลเป็นหัวข้อ ก่อนที่จะสรุปให้ฝ่ายการเมืองรับทราบอีกครั้งหนึ่ง แล้วให้เลือกว่าจะเอาหัวข้อใด และคณะกรรมการจะรวบรวมข้อมูลอีก ก่อนจะที่จะรวบรวมว่าเป็นความคิดของประชาสังคม ว่าตกลงเราจะอยู่กันอย่างสันติในอนาคต โดยใช้หลักเกณฑ์ที่ตกลงกันอย่างนี้ ส่วนสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ยืนยันว่าไม่เอา แต่ถ้าอย่างไหนที่จำเป็นที่ต้องใช้เพื่อออกกฎหมายใช้มาตรา 44 ปลดล็อค เพื่อดำเนินการให้อยู่ด้วยกันอย่างสันติ คงต้องรอพรรคการเมืองพูดกันก่อน เมื่อเสร็จแล้วพรรคการเมืองจะลงสัตยาบรรณร่วมกัน ผมจะทำแบบนี้ และไม่มีการขัดแย้งหรือถกเถียงกัน จะมาบอกว่าใครทำอย่างโน้น อย่างนี้ เลิกพูด เราจะพูดว่าทำอย่างไรในอนาคตจะร่วมมือให้ประเทศชาติเดินต่อไป ส่วนแนวทางนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นผู้สานต่อ” พล.อ.ประวิตร กล่าว
เมื่อถามว่า คดีความที่อยู่ระหว่างการสอบสวน และชั้นศาลจะเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เกี่ยว แต่ในอนาคตพรรคการเมือง จะนิรโทษกรรม หรือขอพระราชทานอภัยโทษ ก็ว่ากันไปในรัฐบาลต่อไป ตอนนี้ตนจะทำให้อยู่ร่วมกันให้ได้
เมื่อถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการมัดมือชกพรรค และกลุ่มการเมือง ว่าหากไม่มาจะตกขบวนหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เกี่ยว ตนไม่ได้ทำอะไร และไม่มีใครลงมาชกมาต่อยกัน ส่วนคำปรามาสว่าไม่มีทางสำเร็จนั้น แนวทางที่ตนทำอยู่มันเดินได้ และทำเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง
(อ่านประกอบ : แพร่ ม.44 ตั้ง ป.ย.ป. แก้การปฏิรูป-ปรองดอง ดึงภาคเอกชนนั่งที่ปรึกษา, เจาะโครงสร้าง'ปรองดอง'ฉบับ คสช. ขอความเห็นกลุ่มการเมือง-ฉลุยหรือเหลว?, เปิดโครงสร้าง-แนวทางปรองดองฉบับ สปท.-ให้โอกาสคนหนีคดีกลับไทย)
@ปมส่งมอบรถเมล์ NGV ชี้ผิดถูกว่าไปตามกฎหมาย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ถูกกรมศุลการแจ้งข้อกล่าวหาสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเท็จ และถูกอายัดรถเมล์ NGV ว่า เรื่องนี้ผิดถูกว่ากันไป ถ้าได้ก็คือได้ ถ้าไม่ได้แล้วดันทำให้ได้มันก็ผิด มีคณะกรรมการทำหลายขั้นตอน ตามข้อเท็จจริงมี 2 อย่าง คือ สัญญาที่ทำกับ ขสมก. ผิดหรือไม่ ส่วนการสำแดงเท็จเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา และต้องหาทางออกให้ได้ว่าจะทำอย่างไร เพราะถ้ากรมศุลกากร หรือกระทรวงการคลังไม่ทำ ก็หลุดอีก ตรงนี้ต้องแก้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่มีผลประโยชน์ และภาคธุรกิจต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์แบบนี้ ไม่อย่างนั้นก็เกิดเหตุยื่นหมูยื่นแมว เกิดทุจริต ไม่โปร่งใส คอร์รัปชั่น อย่าโทษรัฐบาล เพราะรัฐบาลรับผิดชอบอยู่แล้ว
(อ่านประกอบ : เบสท์รินส่งมอบรถเมล์ NGV ล่าช้า ขสมก.เผยปรับแล้ว 108 ล้าน )