มติ สนช.เอกฉันท์โหวตผ่าน 3 วาระรวดแก้ รธน.ชั่วคราว เปิดช่องแก้ รธน. ใหม่
มติที่ประชุม สนช. เอกฉันท์ โหวตผ่าน 3 วาระรวดแก้ไข รธน.ชั่วคราวปี’57 ประเด็นตั้งผู้สำเร็จราชการแทนฯ เลิก ม.18,19,20 รธน.ปี'50-เปิดช่องให้นายกฯขอพระราชทานร่าง รธน.ฉบับใหม่ กลับมาแก้ไขตาม พระราชกระแสรับสั่งได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวาระด่วน การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ฉบับที่ .. พ.ศ. …. (แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557) ตามที่คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เสนอ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม เป็นผู้ประสานงาน และชี้แจง และมีอำนาจเต็มในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบที่ สนช. แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557
กรณีนี้ตามที่มีพระราชกระแสรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ที่ทูลเกล้าฯถวายไปแล้ว ให้เป็นไปตามพระราชอำนาจ จึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรี รับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติลงมาแก้ไข
การพิจารณาวาระที่ 1 นายวิษณุ ชี้แจงเหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ว่า การแก้ไขครั้งนี้มีหลักการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ใน 2 ประเด็น ประเด็นแรก เพิ่มข้อความใหม่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในบางกรณี และเรื่องเกี่ยวกับการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีขอพระราชทานนำเอาร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯแล้ว กลับมาปรับปรุงแก้ไขในบางประเด็นอีกครั้ง แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯใหม่ภายในเวลาที่กำหนด
สำหรับเหตุผล ในระหว่างเวลาที่อยู่ในพระราชอำนาจพิจารณาลงพระปรมาภิไธยร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ สำนักราชเลขาธิการแจ้งรัฐบาลว่า มีข้อสังเกตบางประการ ซึ่งสมควรที่รัฐบาลรับไปดำเนินการ รัฐบาลพิจารณาข้อสังเกตนั้น ร่วมกับ คสช. แล้ว เห็นว่า เป็นข้อสังเกตสมควรดำเนินการในขณะนี้ หากผัดผ่อนรอต่อไป สมมติ ถ้ารอประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ค่อยปรับปรุงแก้ไข แม้โดยกลไกกฎหมายทำได้ แต่จะเกิดปัญหายุ่งยากขึ้น เพราะอย่างน้อยเป็นกฎหมายแล้ว การแก้ไขข้อความบางหมวด บางมาตรา ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อน เป็นภาระผูกพันอีกยืดยาว เป็นการใช้เวลา และกระทบกระเทือนเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง แต่ถ้าปรับปรุงแก้ไขเพราะเป็นประเด็นเล็กน้อยให้เสร็จสิ้นในขณะนี้ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงพิจารณาใหม่ น่าจะเป็นการชอบด้วยวิธีปฏิบัติทั้งปวง และน่าจะเหมาะสม ไม่เกิดความยุ่งยากขึ้น
ปัญหามีอย่างเดียวว่า ร่างรัฐธรรมนูญเหมือนร่างกฏหมายทั้งหลาย เมื่อทูลเกล้าฯแล้ว ตกอยู่ในพระราชอำนาจ รัฐบาลหรือผู้ถวาย จะขอพระราชทานนำกลับมาปรับปรุงได้อย่างไร เรื่องนี้ ถ้าจะทำให้ได้ หรือทำให้ถูกต้อง คือใช้อำนาจในทางกฎหมาย เพราะทุกอย่างถูกตรึงในข้อกำหนดกฎหมาย ดังนั้นเมื่อทำข้อกฎหมายให้กระจ่างแจ้ง รัฐบาลนำกลับมาปรับปรุงแก้ไข น่าจะดำเนินการได้ โดยไม่มีข้อขัดข้องทางกฎหมาย
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ปัญหามีอยู่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ถ้าจะโปรดเกล้าฯไปตามนั้นก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ถ้าไม่โปรดเกล้าฯ ก็เป็นปัญหาอยู่ หนทางการปรับปรุงแก้ไขควรจะมี เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินการได้โดยเรียบร้อย ล้วนแต่เป็นชั้นพระราชอำนาจทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นรัฐบาลและ คสช เห็นว่า ควรทำเสียบัดนี้ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และถูกกฎหมาย โดยถือว่าทั้งหมดตกอยู่ในชั้นการใช้พระราชอำนาจ คือการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ให้มีข้อความให้อำนาจความชอบธรรมแก่นายกรัฐมนตรี ที่จะขอรับพระราชทานกลับคืนมาปรับปรุงแก้ไข
"แต่ถ้าเขียนลอย ๆ อย่างนี้ เป็นที่ครหาได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ นายกรัฐมนตรีจะรับมาปรับปรุงแก้ไขตามใจชอบหรืออย่างไร ในเมื่อเป็นการใช้พระราชอำนาจ ดังที่สำนักราชเลขาธิการแจ้งมา ควรเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีหรือใครก็ตามที่พระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับคืนมา ควรแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นที่เป็นไปตามหนังสือที่สำนักราชเลขาธิการแจ้งมาเท่านั้น หากจะมีอย่างอื่นพาดพิงออกไป ก็เก็บประเด็นตกค้างให้เสร็จสิ้น หาควรบังอาจปรับปรุงเรื่องอื่นที่ไม่อยู่ในข้อสังเกตแต่ประการใดไม่ ด้วยเหตุนี้จึงควรแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในวันนี้ เพื่อทำให้เกิดอำนาจ และความชอบธรรมพระราชทานกลับมาปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว" นายวิษณุ กล่าว
(อ่านประกอบ : ทำตอนนี้อนาคตไม่เกิดปัญหา! เหตุผลแก้ รธน.ชั่วคราวเปิดช่องแก้ รธน.ใหม่)
โดยที่ประชุม สนช. มีมติเสียงข้างมากแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในวาระที่ 1 (ขั้นรับหลักการ) รับหลักการ 229 เสียงไม่รับหลักการ 0 เสียง งดออกเสียง 3 ราย จากทั้งหมด 232 ราย
ต่อมาที่ประชุม สนช. พิจารณาในวาระที่ 2 (พิจารณารายมาตรา โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เต็มสภา)
นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาล และ คสช. ได้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในมาตรา 3 (ตามที่ขีดเส้นใต้) ระบุว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นำความในมาตรา 18 19 และ 20 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาใช้บังคับ”
ทั้งนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อมีการระบุว่าประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ทำไมต้องมีคำว่าแต่งตั้งต่อท้าย
นายวิษณุ ชี้แจงว่า รัฐบาล และ คสช. ได้ขบคิดเรื่องนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ของเดิมปรากฏว่า หากพระมหากษัตริย์ทรงไม่ประทับในราชอาณาจักร หรือมีเหตุอื่นใด มีทางออกเดียวคือพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยประธานรัฐสภาลงนามสนองพระบรมราชโองการ แล้วจบ แต่ครั้งนี้ทรงแต่งตั้งก็ได้ หรือไม่แต่งตั้งก็ได้ ถ้าหากว่าทรงแต่งตั้ง ให้ประธานรัฐสภาลงนามสนองพระบรมราชโองการ แต่ถ้าไม่แต่งตั้งก็ไม่ต้องลงนามสนองพระบรมราชโองการ ปล่อยว่างไว้ ถือว่าเรื่องยุติ ดังนั้นต้องเติมแต่งให้เกิดความชัดเจน
ส่วนที่ไม่นำมาตรา 18 19 และ 20 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาบังคับใช้อีก เพราะทับซ้อนกัน มาตรา 18 เป็นเหตุ มาตรา 19 และ 20 เป็นผล เพื่อไม่ให้เกิดข้อความทับกันไปมา และภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติที่เกี่ยวข้องกับมาตราดังกล่าวให้สมบูรณ์อยู่แล้ว
ที่ประชุม สนช. เห็นชอบที่รัฐบาล และ คสช. แก้ไขเพิ่มเติมข้อความดังกล่าว 228 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง จากทั้งหมด 231 ราย
ส่วนในมาตรา 4 รัฐบาล และ คสช. ปรับแก้ไขถ้อยคำ เฉพาะในส่วน “… ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น และประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง …”
ที่ประชุม สนช. เห็นชอบที่รัฐบาล และ คสช. แก้ไขเพิ่มเติมข้อความดังกล่าว 227 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง จากทั้งหมด 230 ราย
ท้ายสุดที่ประชุม สนช. มีมติเสียงข้างมากในวาระที่ 3 เห็นชอบ 228 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เท่ากับว่าที่ประชุม สนช. เห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ .. พ.ศ. .... ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ
สำหรับสาระสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 คือมาตรา 3 และมาตรา 4 ได้แก่
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557
“ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นำความในมาตรา 18 19 และ 20 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาใช้บังคับ”
ส่วนมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสิบเอ็ดของมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 เดิม และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้าประกอบกับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น และประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมาหรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันที่นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมาให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป"
สำหรับมาตรา 18, 19 และ 20 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 อยู่ในหมวดพระมหากษัตริย์ ระบุดังนี้
มาตรา 18 ระบุว่า ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา 19 ระบุว่า ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตาม มาตรา 18 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหา กษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง
มาตรา 20 ระบุว่า ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 หรือมาตรา 19 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 19 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลาง ก่อน
ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคหนึ่ง หรือในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรค สอง ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่ว คราวไปพลางก่อน
อ่านประกอบ :
พระราชกระแสรับสั่งให้แก้ รธน. ใหม่หมวดพระมหากษัตริย์-เข้าวาระ สนช. 13 ม.ค.
เปิดหลักการ-เหตุผลแก้ รธน.ชั่วคราว-มติวิป สนช.ให้สภาใช้ดุลพินิจโหวต
เปิดร่างรธน.2557 ให้นำร่างฉบับ 'มีชัย' แก้ไขเรื่องพระราชอำนาจ-ตั้งผู้สำเร็จราชการ
กางมาตรา 5-17-182 รธน.ใหม่ ก่อนนายกฯสั่งแก้ให้เป็นไปตามพระราชกระแสรับสั่ง
ตั้ง กก.พิเศษแก้ร่าง รธน.ใหม่ ใช้คนจากกฤษฎีกา-'วิษณุ'ยันไม่แตะการเมือง
‘วิษณุ-มีชัย-บวรศักดิ์-พรเพชร-อสส. -ปธ.ศาลฎีกา’นั่ง กก.พิเศษแก้ร่าง รธน.ใหม่