ตั้ง กก.พิเศษแก้ร่าง รธน.ใหม่ ใช้คนจากกฤษฎีกา-'วิษณุ'ยันไม่แตะการเมือง
'วิษณุ' เผยนายกฯเตรียมตั้ง 'คณะกรรมการพิเศษ' ใช้คนจากกฤษฎีกา 8-10 คน แก้ไขร่าง รธน.ฉบับใหม่ หลังมีพระกระแสรับสั่งให้ปรับแก้ 3-4 รายการ ยันดำเนินการเฉพาะหมวดพระมหากษัตริย์ ไม่แตะการเมือง
จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า สำนักราชเลขาธิการ แจ้งรัฐบาลภายหลังทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งลงมาให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3-4 รายการ ในหมวดพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชอำนาจ โดยที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี และ คสช. ได้ส่งเรื่องให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดช่องขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับมาแก้ไขได้นั้น
(อ่านประกอบ : พระราชกระแสรับสั่งให้แก้ รธน. ใหม่หมวดพระมหากษัตริย์-เข้าวาระ สนช. 13 ม.ค.)
ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นการดำเนินการให้สามารถขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ทูลเกล้าฯไปแล้วกลับมาปรับปรุงบางตามมาตราที่มีการแจ้งมา ซึ่งมีไม่กี่มาตรา โดยทั้งหมดต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หลังได้รับพระราชทานกลับคืนมา
ส่วนใครจะเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตามหลักการจะให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แก้ตามที่ได้รับการแจ้งมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีดำริจะตั้งคณะกรรมการพิเศษ เป็นบุคคลจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประมาณ 8-10 คน เพื่อดำเนินการ สิ่งที่จะดำเนินการไม่เกี่ยวพันกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ โครงสร้างทางการเมือง การเลือกตั้ง หรือกระบวนการใด ๆ ทางการเมืองทั้งสิ้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับหมวดพระมหากษัตริย์ และเข้าใจว่าเมื่อแก้ไขเสร็จแล้วจะเข้าเงื่อนไขเดิม ตามกรอบระยะเวลา 90 วัน นับจากที่นายกรัฐมนตรี ได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขครั้งใหม่แล้วขึ้นทูลเกล้าฯ
เมื่อถามว่า มาตราที่จะแก้ไข คือ มาตรา 5, 17 และ 182 ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในหลักการเป็นเช่นนั้น แต่ก็ต้องดูว่าทั้ง 3 มาตราที่พูดถึงจะเกี่ยวพันกับมาตราใดอีกบ้าง หากมีต้องตามไปแก้ด้วย แต่ยืนยันจะไม่มีส่วนใดไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพ โครสร้างทางการเมือง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และวันนี้ รัฐบาล ยังคงยืนยันในโรดแม็พเดิมเพราะในที่ประชุมร่วมเมื่อเช้าได้พูดเรื่องนี้ชัดเจนแล้ว
ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า กระบวนการนี้เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีที่จะดำเนินการ เพราะมาตรา 4 ที่ขอแก้ไขมาตรา 39/1 วรรคสิบเอ็ดให้เป็นข้อความใหม่ ระบุชัดเจนว่า กรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใด ภายใน 90 วัน ให้นายกรัฐมนตรีต้องขอรับพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น ดังนั้นนายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการ ไม่ได้เป็นหน้าที่ของ กรธ. เพราะหน้าที่ของ กรธ. เสร็จสิ้นไปแล้ว ตั้งแต่ที่ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติให้นายกรัฐมนตรีดำเนินกระบวนการทูลเกล้าฯ
อ่านประกอบ : เปิดร่างรธน.2557 ให้นำร่างฉบับ 'มีชัย' แก้ไขเรื่องพระราชอำนาจ-ตั้งผู้สำเร็จราชการ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก thaipublica