ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
ร้องสอบ "แจส โมบายฯ-กทค.-กสทช." ปมประมูล 4G หลังทิ้งคลื่น กล่าวหาไม่มีศักยภาพในการจ่ายเงินแล้วทำไมเข้าเคาะราคาสู้ แสวงหาผลประโยชน์จากส่วนต่างของราคาหุ้น-สมยอมเอกชนรายอื่นกีดกันการประมูลหรือไม่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีกลุ่มบุคคลยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบบริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ชนะการประมูล 4G (คลื่นความถี่ 900 MHz) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กรณีร่วมกันในการเสนอราคาประมูล 4G อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)
เบื้องต้นมีการระบุข้อกล่าวหาว่า ผลการประมูล 4G ย่าน 895-915 Mhz/940-960 MHz เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558 บริษัท แจส โมบายฯ เป็นผู้ชนะการประมูลในช่วงความถี่ 895-905 MHz คู่กับ 940-950 MHz วงเงินประมาณ 75,654 ล้านบาท แต่เมื่อครบกำหนดการปฏิบัติตามเงื่อนไขการประมูลในวันที่ 21 มี.ค. 2559 บริษัท แจส โมบายฯ กลับไม่ได้เดินทางมาชำระค่าประมูล 4G ดังกล่าว งวดแรก 8,040 ล้านบาท และธนาคารการันตีอีก 6.76 หมื่นล้านบาท ขณะที่บริษัท จัสมินฯ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) ว่า ไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ทันกำหนดเวลาเนื่องจากติดเงื่อนของเวลาในการเจรจาเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการรายใหญ่จากประเทศจีน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือน เม.ย. 2559 นั้น
จากพฤติการณ์ดังกล่าวอาจเชื่อได้ว่า ในการประมูล 4G ชุดที่ 1 ราคาสุดท้ายที่ 75,654 ล้านบาทที่บริษัท แจส โมบายฯ เสนอไปนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า รู้อยู่แล้วว่าไม่มีศักยภาพที่จะชำระการประมูลและเปิดให้บริการได้จริง เนื่องจากตอนราคาประมูลอยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาทแล้ว ไม่มีบริษัทใดสนใจเข้ามาแข่งราคาอีก ทำไมบริษัท แจส โมบายฯ จึงเคาะราคาประมูลทับราคาสูงสุดของตัวเองอีกเกือบ 2 พันล้านบาท ทั้งนี้มีข้อมูลจากสื่อมวลชนระบุว่า รองประธานคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ให้ข่าวว่า บริษัท แจส โมบายฯ ได้ยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารกรุงเทพวงเงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาทเพื่อการประมูล แต่ทำไมในการประมูลถึงจบที่ 75,654 ล้านบาท และการตัดสินใจประมูลเป็นเพียงเจ้าหน้าที่บริหารระดับรองเพียง 3 คน ไม่มีผู้บริหารระดับสูงเข้ามาร่วมวิเคราะห์ด้วยเหมือนกับเอกชนรายอื่นที่เข้าร่วมประมูลแต่อย่างใด
นอกจากนี้ กทค. ได้ตรวจสอบข้อมูลตามที่บริษัท แจส โมบายฯ อ้างต่อ ต.ล.ท. ในเรื่องอยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มพันธมิตรต่างประเทศ จึงนำเงินมาจ่ายเงินไม่ทันด้วยหรือไม่ มีความน่าเชื่อถือเพียงใด เพราะการลงทุนระดับนี้ต้องมีการเตรียมการค่อนข้างนานและรัดกุม ดังนั้นการกระทำดังกล่าวของบริษัท แจส โมบายฯ อาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า ทำไปเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากส่วนต่างมูลค่าของหุ้นที่เกิดจากความผันผวนของความไม่แน่นอนที่ถูกสร้างสถานการณ์ขึ้น แบบเล็งเห็นผล หรืออาจมีการตกลงล่วงหน้ากับเอกชนผู้เข้าประมูลรายอื่น โดยให้บริษัท แจส โมบายฯ สู้ราคาเฉพาะในคลื่นชุดที่ 1 ยกระดับราคาให้สูงไว้เพื่อกันไม่ให้รายอื่นเข้ามาประมูลสู้ในคลื่นชุดนี้ ส่วนเอกชนรายอื่นไปประมูลในคลื่นชุดที่ 2 โดยจะไม่เข้าไปสู้ราคาในคลื่นชุดที่ 1 และหากได้ทั้ง 2 คลื่นแล้ว อาจมีข้อตกลงทางธุรกิจร่วมกันและเป็นการลดทอนศักยภาพของคู่แข่งขันในตลาดที่ไม่มีคลื่น 4G หรือกรณีไม่สามารถชนการประมูลคลื่น 4G ทั้ง 2 ชุด ก็อาจตกลงให้เอกชนรายใดรายหนึ่งทิ้งคลื่นไป และให้เอกชนบางรายร้องเข้ามาขอประมูลซ่อมในราคาตั้งต้นเดิมซึ่งมีมูลค่าถูกกว่าเดิม เป็นผลให้ต้นทุนของเอกชนคู่แข่งที่ประมูลได้ไปแล้วนั้นสูงกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น เพื่อการกีดกันการแข่งขันอีกทางหนึ่ง
“ดังนั้นเพื่อเรียกความน่าเชื่อถือกลับมา และป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นจนสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติอีก ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง จะต้องหาทางพิสูจน์ทราบถึงมูลเหตุที่แท้จริงว่าพฤติการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เจ้าหน้าที่รัฐได้มีการวางมาตรการหรือเงื่อนไขป้องกันอย่างรัดกุมแล้วหรือยัง อีกทั้งทำไมไม่ดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริงให้สามารถอธิบายแก่สาธารณชนให้หายเคลือบแคลงจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้น” กลุ่มบุคคลดังกล่าว ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ได้ชำระเงินค่าประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ดังกล่าว นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และในฐานะกรรมการ บริษัท แจส โมบายฯ ได้ทำการยกเลิกการแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีที่ไม่ได้มาชำระเงินค่าใบอนุญาต 4G ดังกล่าว เนื่องจากบริษัทถูก ต.ล.ท. ขึ้นเครื่องหมายห้ามการซื้อขายชั่วคราว และได้ชี้แจงกับ ต.ล.ท. สรุปได้ว่า การที่บริษัท แจส โมบายฯ ไม่สามารถวางเงินค้ำประกันได้ เพราะบริษัทที่สนใจร่วมลงทุนจากประเทศจีนติดขั้นตอนการขออนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่ากรอบ 90 วันที่กำหนดไว้ของ กสทช. จนทำให้ไม่สามารถวางหนังสือค้ำประกันได้ (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะเดียวกันที่ประชุม กทค. ยังมีมติให้ยึดเงินประกัน 644 ล้านบาทจากบริษัท แจส โมบายฯ แล้ว ยังมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงาน 9 คนจากส่วนราชการต่างๆ มี นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีสำนักงานปราบปรามการทุจริต สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธาน ขึ้นมาพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีที่บริษัทแจสโมบายไม่มาชำระเงินค่าประมูลดังกล่าว รวมถึงพิจารณาและรวบรวมข้อเท็จจริงว่า บริษัทแจสโมบายมีพฤติกรรมในการเสนอราคาประมูลที่สูงเกินจริงเป็นการกีดกันคู่แข่งอย่างไม่เป็นธรรม เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือกฎหมายป้องกันการฮั้วประมูลหรือไม่
(อ่านประกอบ : กสทช.ตั้งคณะทำงานสอบ"แจสโมบาย"เคาะราคาประมูลคลื่น 900 เข้าข่ายผิด กม.ฮั้วหรือไม่)
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2559 ไทยรัฐออนไลน์รายงานอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุถึงกรณีนี้ว่า ได้รับหนังสือจากบริษัท แจส โมบายฯ จะชำระเงินค่าปรับกรณีที่ไม่มาชำระเงินค่าประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ในวันที่ 30 มิ.ย. 2559 ประมาณ 200 ล้านบาท รวมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 หลังจากที่บริษัท แจส โมบายฯ ขอเลื่อนจ่ายจากกำหนดเดิมวันที่ 16 มิ.ย. 2559 (อ่านรายละเอียด : http://www.thairath.co.th/content/639314)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากกรณีนี้แล้ว ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ให้คณะกรรมการบริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JTS บริษัทในเครือ จัสมินฯ ชี้แจงกรณีมีมติให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้ผู้ถือหุ้นสามัญของ JTS โดยเป็นการจ่ายระหว่างที่นายพิชญ์ โพธารามิก ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ จัสมินฯ กำลังทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ JTS ซึ่งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายพิชญ์ได้
อ่านประกอบ :
ก.ล.ต.สั่งบริษัทลูก‘แจส’แจงปมไฟเขียวจ่ายเงินปันผล-อาจเอื้อ‘พิชญ์ โพธารามิก’
เปิดเครือข่ายธุรกิจกลุ่มโพธารามิก ‘จัสมิน-โมโน-แจส โมบาย’ 44 บริษัท 4.5 หมื่นล.
เปิดตัว 'แจสโมบาย' โอเปอเรเตอร์ 4 จี ป้ายแดง! ทายาทอดีตรมต.ยุคทักษิณ เจ้าของ
เจาะกระเป๋า 'แจสโมบาย' มีเงินฝากธ.กรุงเทพ4.6พันล.ก่อนทิ้งคลื่น900
เปิดคำสั่งคณะทำงานลุยสอบ'แจส' เอาผิด-ลงโทษปมไม่จ่ายค่าประมูล 4G
กสทช.ตั้งคณะทำงานสอบ"แจสโมบาย"เคาะราคาประมูลคลื่น 900 เข้าข่ายผิด กม.ฮั้วหรือไม่
คำถามถึง ก.ล.ต."แจสโมบาย"ถูกยึดเงิน 644ล้าน ฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์หรือไม่?
ชะตากรรม"แจสโมบาย"จะโดนแค่คดีแพ่ง หรือพ่วงคดีอาญา?
หมายเหตุ : ภาพประกอบการแถลงข่าว กสทช. จากช่อง 8, ภาพ แจส โมบายฯ จาก mthai