อสส.สอบแล้ว! ยันคำสั่ง คสช.ย้ายอัยการนาทวีผิดพลาด-ชง‘บิ๊กตู่’แก้
อสส. สอบเสร็จแล้ว! ยันคำสั่ง หน.คสช. สั่งย้าย 2 อัยการจังหวัดนาทวีผิดพลาด เหตุทหารเชื่อข้อมูลจาก นายก อบต.รายหนึ่ง ยันทำคดีจับนักพนันตามปกติ เสนอ ‘บิ๊กต๊อก’ ทางการ 27 มิ.ย.นี้ พนักงานอัยการขอ ‘บิ๊กตู่’ แก้ไขคำสั่ง
จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 33/2559 ให้ข้าราชการที่ถูกร้องเรียนหรือกล่าวหาว่าปล่อยปละละเยให้มีการกระทำผิดในพื้นที่หรือมีการทุจริตประพฤติมิชอบย้ายไปปฏิบัติราชการใหม่ ซึ่งปรากฏชื่อของนายวาทิต สุวรรณยิ่ง อัยการจังหวัดนาทวี ไปปฏิบัติราชการในสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และนายมาโนช รัมมะสินธุ์ รองอัยการจังหวัดนาทวี ไปปฏิบัติราชการในสำนักงาน อสส. ด้วยนั้น
(อ่านประกอบ : ม.44 ย้ายผู้ว่าฯ-ตร.-อัยการฯถูกกล่าวหาทุจริต-สั่งสอบ 30 วันต้องเสร็จ)
ล่าสุด แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งดังกล่าว สำนักงาน อสส. ได้ดำเนินการตรวจสอบถึงสาเหตุว่าทำไมนายวาทิต และนายมาโนช จึงปรากฏชื่อในข้าราชการที่ถูกโยกย้ายด้วย พบข้อเท็จจริงว่า เป็นการเข้าใจผิดของทหารภายในพื้นที่ซึ่งได้รายงานให้หัวหน้า คสช. รับทราบแล้ว
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า สำหรับสาเหตุที่ทำให้นายวาทิต และนายมาโนช เป็นหนึ่งในข้าราชการที่ถูกย้ายนั้น เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ที่ทหารและตำรวจสนธิกำลังกันบุกจับกุมบ่อนการพนันที่ ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา โดยจับกุมนักพนันชาวไทยและมาเลเซียได้ประมาณ 200 คนเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2559 หลังจากนั้นตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งให้อัยการจังหวัดนาทวีเพื่อส่งฟ้องศาลเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ซึ่งอัยการก็ฟ้องผู้ต้องหาและริบของกลางไปตามปกติ ทั้งนี้เมื่อผู้ต้องหาให้การรับสารภาพก็ต้องฟ้องด้วยวาจาให้แล้วเสร็จไปตามขั้นตอนปกติ และในเมื่อเป็นความผิดลหุโทษก็สามารถฟ้องด้วยวาจาได้
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า สำหรับทหารที่เสนอชื่อนายวาทิต และนายมาโนชนั้น ได้อ้างว่า เป็นคำให้การจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งหนึ่งซึ่งมีส่วนรู้เห็นในในบ่อนพนันให้ข้อมูลว่า มีการจ่ายเงินให้กับอัยการทำให้คดีดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทหารได้นำข้อมูลในส่วนนี้ไปรายงานต่อผู้บังคับบัญชา กระทั่งปรากฏคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าว อย่างไรก็ดีสำนักงาน อสส. ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า การดำเนินการดังกล่าวของอัยการจังหวัดนาทวีทำไปตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่เป็นการทำไปเพื่อช่วยเหลือจำเลยแต่อย่างใด และได้นำเรื่องนี้เรียนต่อ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เรียบร้อยแล้ว และจะมีการรายงานอย่างเป็นทางการกับ พล.อ.ไพบูลย์ อีกครั้ง ในวันที่ 27 มิ.ย. 2559
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า ภายหลังคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวปรากฏออกมาโดยบุคคลทั้งสองไม่ผิด สร้างความไม่พอใจให้กับพนักงานอัยการหลายคน แต่ก็ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะเป็นคำสั่งดังกล่าวเป็นกฏหมาย และต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ แก้ไขคำสั่งดังกล่าวด้วย