สหกรณ์จุฬาฯฟ้อง‘มงคลเศรษฐี’เรียกเงินฝากคืน 215 ล.ส่อสูญ-เอาหุ้นใช้หนี้
สหกรณ์จุฬาฯ ฟ้อง สหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ เรียกเงินฝากคืน-ดอกเบี้ยคืน 215 ล้าน ผู้สอบบัญชียันส่อหนี้สูญ ตั้งเผื่อไว้แล้ว 25 ล้าน หลังสหกรณ์มงคลเศรษฐี เอาหุ้น บ.สหประกันชีวิต หนึ่งในเอกชนถูกดีเอสไอสอบพันปมฟอกเงิน 2.2 พัน ล. มาใช้หนี้
จากกรณีมีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางกลุ่ม ตั้งคำถามถึงคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ กรณีปล่อยกู้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น (เคยมีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นประธานฯ ปัจจุบันเป็นจำเลยและผู้ต้องหาในคดียักยอกทรัพย์สิน และฟอกเงิน ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษรวม 12 คดี) กว่า 1.4 พันล้านบาท ว่าจะเกิดเป็นหนี้สูญหรือไม่ และจะได้เงินคืนหรือไม่อย่างไร ซึ่ง รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ เตรียมที่จะชี้แจงเป็นแถลงการณ์พิเศษภายใน 7 วัน (ครบกำหนดวันที่ 23 มิ.ย.นี้) นั้น
(อ่านประกอบ : ขีดเส้น 7 วันแจงปมปล่อยกู้คลองจั่น! ประชุมสหกรณ์จุฬาฯเดือดวอล์คเอ้าท์เพียบ)
ทั้งนี้ปัญหาการร้องเรียนของสมาชิกสหกรณ์จุฬาฯ นอกเหนือจากการปล่อยให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นกู้เงิน 1.4 พันล้านาบาทแล้ว ยังร้องเรียนถึงกรณีการฝากเงินต่อสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และเครือข่ายประมาณ 1.2 พันล้านบาท ซึ่งอาจจะทำให้หนี้สูญได้อีกหรือไม่ด้วย
โดยเมื่อสิ้นปี 2558 พบว่า สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ได้ฝากเงินให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคงเศรษฐี (หนึ่งในผู้ต้องหาคดีฟอกเงินต่อดีเอสไอ และเคยมีนายศุภชัยเป็นประธานฯ) 215,478,224 บาท สหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ 915 ล้านบาท และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 144,584,734 บาท นั้น
(อ่านประกอบ : เจาะเงื่อนปมสหกรณ์จุฬาฯปล่อยกู้สหกรณ์คลองจั่น 1.4 พันล.ชงดีเอสไอสอบ)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีงบการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯเมื่อปี 2558 ผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตว่า เงินฝากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำนวนกว่า 215 ล้านบาทนั้น ครบกำหนดคืนเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2558 แต่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี ไม่สามารถชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวได้ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดธัญบุรีเพื่อเรียกชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย และศาลมีคำสั่งนัดไกล่เกลี่ย ซึ่งคดีมีแนวโน้มที่จะตกลงกันได้ โดยสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี มีแนวโน้มจะยอมชำระเป็นหุ้นสามัญบริษัท สหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มูลค่าหุ้นจำนวน 190 ล้านบาท สหกรณ์จึงตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยคำนวณจากเงินต้นหักด้วยมูลค่าหุ้นของบริษัทดังกล่าว รวมดอกเบี้ยอีกจำนวน 15,478,224 บาท รวมเป็นเงิน 25,478,224 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
สำหรับเงินฝากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีนั้น เริ่ฝากตั้งแต่ช่วงปี 2557 มีเงินต้น 200 ล้านบาท รับรู้เป็นรายได้ดอกเบี้ยในปี 2557 จำนวน 13,268,107 บาท และรับรู้เป็นรายได้ดอกเบี้ยในปี 2558 (ก่อนถูกฟ้อง) จำนวน 2,033,157 บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงิน 215,478,224 บาท
ทั้งนี้ บริษัท สหประกันชีวิตฯ ปัจจุบันเป็นหนึ่งในนิติบุคคล 19 แห่ง ที่ถูกดีเอสไอสอบสวนว่า อาจมีพฤติการณ์ฟอกเงิน เนื่องจากได้รับเช็คจากนายศุภชัย รวม 78 ฉบับ โดยไม่มีมูลหนี้ มูลค่าความเสียหายประมาณ 2.2 พันล้านบาท (อยู่ในส่วนของคดีฟอกเงินคดีที่สี่)
(อ่านประกอบ : INFO: 13 คดียักยอก-ฟอกเงินสหกรณ์คลองจั่นฯในมือดีเอสไอ-เบ็ดเสร็จ 2 หมื่นล.)
ทั้งนี้ในรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2558 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 มีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯหลายราย ตั้งคำถามถึงกรณีการนำเงินไปฝากที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีในช่วงปี 2557 โดยไม่มีอะไรรับประกัน ทั้งที่ควรทราบว่ามีนายศุภชัย เป็นประธานฯ เหมือนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นซึ่งกำลังประสบปัญหาความไม่โปร่งใสในการบริหารงาน โดยถูกดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบตั้งแต่ช่วงปี 2556
โดย รศ.ดร.สวัสดิ์ ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ได้ชี้แจงทำนองว่า การทำธุรกรรมกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี มีการฝากเงิน 200 ล้านบาท ระยะเวลา 12 เดือน หน้าถัดไปจะถอนเงินต้นทีละ 2 แสนบาท และถอนดอกเบี้ยมา 821,000 บาท ลดไปเรื่อย ๆ ตอนแรกดีเพราะดอกได้คืนหมดแล้ว มันดีไม่นานก็เป็นปัญหา จะพบว่าดอกเบี้ย 9 แสนบาท จะถอนได้แค่ 1 แสนบาท ตอนนี้เกิดปัญหาแล้ว ประธานที่นี่บอกว่าเป็นคนเดียวกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น อันนี้ก็ใช่ แต่คนที่เป็นประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น นายทะเบียนถอดถอนไปแล้ว เขาเป็นประธานฯอีกไม่ได้ จึงมีการตั้งหนี้สงสัยจะสูญ และมีการดำเนินคดีฟ้องร้องเพื่อเรียกเอาเงินต้นและดอกเบี้ยรวมประมาณ 215 ล้านบาท
ส่วนกรณีไม่มีหลักค้ำประกันนั้น รศ.ดร.สวัสดิ์ ชี้แจงทำนองว่า มันอยู่ที่ระเบียบและหลักเกณฑ์ หลักเกณฑ์ปกติทั่วไปเงินฝากไม่มีหลักประกันก็ได้ และดูการประพฤติปฏิบัติของเขา ตอนแรกดี ตอนหลังไม่ดี อย่าลืมว่ากรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจัน กว่าจะทราบเรื่อง 3 ปีที่แล้ว ไม่ใช่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์จะละเลยหรือไม่กระทำการ อย่าลืมว่าเรามีผู้สอบบัญชีของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นข้าราชการบำนาญที่เกษียณจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เขามีใบอนุญาตที่จะตรวจสอบบัญชีได้ แต่ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมอยู่
“บอกว่าเงินที่ปล่อยกู้ 27 บริษัท กับ 1 สหกรณ์ มีหลักประกันคุ้มครองบ้าง ไม่คุ้มครองบ้าง และผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่ 6-7 เดือน จน 16-17 เดือน ผมทราบ เพราะผมเป็นกรรมการชั่วคราวแทนกรรมการที่นายทะเบียนสั่งปลดไปทั้งคณะ เขาตั้งผมเป็นหนึ่งของกรรมการชั่วคราวที่แก้ไขปัญหานี้ใช้เวลา 180 วัน เขาเห็นว่าผมควรจะช่วยอะไรได้ก็เข้าไปทำการนี้ มารู้ทีหลังแต่สายไปแล้ว และพอความมันแดงขึ้นตอนนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ต้องเข้าไปดูแลเต็มตัวก็พบปัญหา” รศ.ดร.สวัสดิ์ กล่าว
อ่านประกอบ :