ไม่มีผู้จ่ายก็ไร้คนรับ! วงเสวนาภาคธุรกิจชี้องค์กรปราบโกงเยอะแต่ไร้ประสิทธิภาพ
กมธ.อุตสาหกรรมฯ สนช. จัดเสวนาส่งเสริมธรรมาภิบาลป้องทุจริตภาคเอกชน ‘สุพันธุ์’ ชี้ที่มาคอร์รัปชั่นเอกชนมีส่วนร่วม เหตุไม่มีผู้รับไม่มีผู้จ่าย ‘สาธิต’ ยันปราบโกงเน้นแต่ ขรก.-นักการเมือง เพิ่งมาจับภาคธุรกิจ ด้านตัวแทน ส.ส่งเสริมกรรมการบริษัทไทยระบุ องค์กรปราบโกงมีเยอะ แต่ไร้ประสิทธิภาพ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2559 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดงานเสวนาเรื่อง “การส่งเสริมสนับสนุนธรรมมาภิบาล การป้องกันการทุจริตในภาคเอกชนและแนวทางแก้ไขฯ” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมการเสวนาเสนอทางแก้ไขและสะท้อนข้อเท็จจริงถึงปัญหาคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในภาคเอกชน
โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน กมธ.การอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า การคอรัปชั่นในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่และเป็นปัญหาที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งที่มาของปัญหาการคอรัปชั่นมาจากข้าราชการ การเมืองและเอกชน ทั้งนี้จะพูดอยู่เสมอว่า “ไม่มีผู้รับถ้าไม่มีผู้จ่าย” ในวันนี้ผู้จ่ายคือภาคเอกชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่น
“การจ่ายของภาคเอกชน มี 3 กรณี คือ 1. การจ่ายที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ เพราะไม่ได้รับความสะดวกในบางประการ จึงต้องมีการจ่ายเพื่อซื้อความสะดวก 2.การจ่ายเพราะเจตนาอยากได้งาน หรือมีความได้เปรียบในการดำเนินงาน 3. การจ่ายเพราะตั้งใจทุจริต เช่น หนีภาษีหรือลักลอบนำสินค้าที่ไม่ประสงค์เข้ามา โดยทั้ง3 กรณีนี้ถือเป็นปัญหาหลักของภาคเอกชนที่ทำให้เกิดปัญหาการคอรัปชั่นขึ้นมา” นายสุพันธุ์ กล่าว
นายสุพันธุ์ กล่าวอีกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นสังคมไทยต้องร่วมกันสร้างความตระหนักต่อผลกระทบที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการสร้างความตระหนักถึงผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายโดยขาดธรรมาภิบาล เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนธรรมาภิบาล และป้องกันการทุจริตในภาคเอกชน
@ปราบโกงเน้นแต่ ขรก.-นักการเมือง
ขณะที่ นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล รองประธาน กมธ.อุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า การทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ บั่นทอนจริยธรรมและเป็นอันตรายต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ดังนั้น การปราบปราบทุจริตจึงเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ อย่างไรก็ตามถึงแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายรองรับ และมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ส่วนใหญ่เป็นการมุ่งเน้นไปที่ข้าราชการและนักการเมือง และเมื่อไม่นานก็พึ่งจะมีการแก้กฎหมายให้ครอบคลุมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ
“ประเทศไทยได้ให้สัตยาบรรณเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต UNCAC 2003 ซึ่งมีบทบัญญัติการทุจริตคอรัปชั่นในภาคเอกชนที่กำหนดว่า ต้องมีการลงโทษ ทั้งทางแพ่ง ทางปกครองหรือทางอาญา นอกจากนี้ การทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับเอกชนเท่านั้น แต่การทุจริตระหว่างเอกชนด้วยกันเองก็เป็นปัญหาที่ใหญ่ ดังนั้น การดำเนินการแก้ไข ไม่เพียงแค่รัฐออกกฎหมายควบคุมเท่านั้น แต่ที่สำคัญต้องมีการรณรงค์ส่งเสริมการสร้างความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจ การยกระดับมาตรฐานทางบัญชี และการสอบบัญชีที่แสดงถึงความโปร่งใสภายในองค์กร จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการประกาศเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการขจัดการทุจริตคอรัปชั่นขององค์กร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จและสร้างให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งและสร้างความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ” นายสาธิต
@ชี้องค์กรปราบทุจริตมีเยอะแต่ไร้ประสิทธิภาพ
นายกิตติเดช ฉันทังกุล ตัวแทนจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า องค์กรปราบปราบทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐของไทยมีมากเกินไปและมีการกระจายทรัพยากร แต่ไม่มีประสิทธิภาพในตัวเองรวมถึงไม่มีรูปแบบการบริหารจัดการ เพราะฉะนั้น หน่วยงานของภาครัฐที่เป็นหน่วยงานให้บริการเอกชน ยังมีการเรียกรับสินบนอย่างต่อเนื่อง
นายกิตติเดช กล่าวอีกว่า ปัจจุบันอำนาจรัฐใหญ่ขึ้นทุกปี รัฐวิสาหกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนหน่วยงานราชการก็ขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้คือบ่อเกิดการคอร์รัปชั่นในตัวเอง เพราะเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เกิดการคอรัปชั่น แต่ภาคเอกชนไม่มีทางที่จะคอร์รัปชั่นได้ เอกชนทำธุรกิจกับเอกชนด้วยกันเอง แม้มีการเรียกรับสินบน เอกชนก็เปลี่ยนไปทำกับบริษัทอื่น ในทางกลับกัน หากเอกชนลงทุนกับรัฐวิสาหกิจ เอกชนหนีไม่พ้นที่จะโดนเรียกสินบน เพราะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจะมีอำนาจรัฐหนุนหลัง ซึ่งเป็นอำนาจบางส่วนที่เหนือตลาด
นายกิตติเดช กล่าวว่า การที่ภาคเอกชนถูกตรวจสอบมากเท่าไหร่แล้วจะทำให้ภาพลักษณ์ดีนั้นไม่เป็นความจริง คำว่า “ตรวจสอบมากเท่าไหร่” คำนี้มีต้นทุน แต่คำว่า “เปิดเผยข้อมูล” คำนี้ไม่มีต้นทุน เราจะทำให้ภาคเอกชนมีระบบป้องกันการรับสินบน แต่ถ้าเอกชนทำธุรกิจกับรัฐ จะมีต้นทุนที่ต้องจ่ายให้กับหน่วยงานรัฐเพื่อธุรกิจมันเดินหน้า
“เอกชนไม่อยากจ่าย แต่เราไม่มีอำนาจต่อรองกับหน่วยงานรัฐถ้าไม่ทำก็ถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งเรารู้ดีว่าหน่วยงานรัฐถ้าแกล้งใครแล้ว เอกชนกลัว” นายกิตติเดชกล่าว
นายกิตติเดช กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมสนับสนุนธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตในภาคเอกชนฯ ไม่สามารถแก้ปัญหาในการอุดช่องโหว่เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐได้ เพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้พุ่งเป้าไปที่เอกชนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
“ถ้าจะให้เอกชนหยุดจ่าย ต้องมีนโยบายและระบบการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงการวางโครงสร้างหน้าที่ความรับผิดชอบ นอกจากนี้ตั้งมีบริษัทต้องมีการกำกับดูแลตัวบุคคลตั้งแต่กรรมการไปจนถึงพนักงานระดับล่าง ไม่ให้มีเรื่องติดสินบนเพราะไม่ใช่นโยบายบริษัทสิ่งเหล่านี้ คือจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาทุจริตในเอกชน แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ว่ามานี้ไม่เหมาะสมในการเอามาใช้บังคับเอกชน” นายกิตติเดช กล่าว