เพื่อความมั่นคงบอกสถานที่คุมตัวไม่ได้! กห.ยินดีให้สอบปมร้องทหารซ้อมทรมาน
คณะทำงานชุด ‘พล.อ.ไพบูลย์’ สรุปผลหลัง กสม.ชงเรื่องร้องเรียนทหารซ้อมทรมานคนถูกคุมตัว กลาโหมยินดีให้สอบข้อเท็จจริงได้ ลั่นถ้าพบใครทำผิดลงโทษอาญา-วินัยทหารอยู่แล้ว แต่เปิดเผยสถานที่คุมตัวไม่ได้ เหตุเพื่อความมั่นคงของชาติ ยันแค่เรียกมาคุย-ความจำเป็นทางราชการทหารเท่านั้น
จากกรณีคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติรับทราบข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยขอให้ทบทวนการประกาศใช้กฎหมายพิเศษบางอย่างที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ รวมถึงการเรียกบุคคลไปรายงานตัว หรือควบคุมตัวบุคคล โดยใช้กฏหมายพิเศษภายหลังการรัฐประหาร ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมไปดำเนินการนั้น
(อ่านประกอบ : เรียกคนเข้าค่าย-ห้ามชุมนุม-ขึ้นศาลทหาร! บทเรียน คสช.ละเมิดสิทธิ์-กสม. ชงแก้, ครม.สั่งแก้ปัญหาละเมิดเสรีภาพ! กสม.ขอให้ทบทวน กม.พิเศษหลังรัฐประหาร)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า กระทรวงยุติธรรม โดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสรุปผลการพิจารณาในประเด็นสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีกล่าวอ้างว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวและทำร้ายร่างกาย พร้อมกับส่งความเห็นให้คณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว
สำหรับข้อเสนอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้ต้องหาถูกซ้อมทรมาน ขณะอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารตามกฎอัยการศึก และพิจารณาลงโทษตามกฎหมาย รวมทั้งให้มีการเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัว และสถานที่การถูกควบคุมตัวนั้น กระทรวงกลาโหม พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีข้อขัดข้องต่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงโทษผู้กระทำผิดตามกฏหมาย เนื่องจากในทางปฏิบัติ หากพยานหลักฐานปรากฏว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง จะมีกระบวนการตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญา และดำเนินการทางวินัยตามระเบียบของฝ่ายทหารอยู่แล้ว
ส่วนการจับกุมและควบคุมตัวเป็นระยะเวลา 7 วัน ตามกฎอัยการศึกนั้น ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวและสถานที่ควบคุมตัวได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อาจกระทบต่อความสงบเรียร้อยและความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ดีการควบคุมตัวตามระยะเวลาดังกล่าว เป็นไปเพื่อการสอบถาม หรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารเท่านั้น
ส่วนที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการจับกุม หรือควบคุมตัวบุคคล ตลอดจนสร้างกระบวนการหรือกลไกต่าง ๆ เกี่ยวกับการตรวจร่างกายผู้ต้องหาเพื่อให้มีหลักฐานทางการแพทย์ หรือพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และให้มีการฝึกอบรมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนกับเจ้าหน้าที่นั้น ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า แนวปฏิบัติในการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคล มีกำหนดไว้ชัดเจนในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว
นอกจากนี้ควรกำหนดระเบียบให้ทุกหน่วยงานตรวจร่างกายและบันทึกสภาพร่างกายโดยแพทย์ก่อนควบคุมตัวเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทรมาน เพราะปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยังไม่มีข้อกำหนดให้ตรวจร่างกายผู้ต้องหาโดยแพทย์ แต่มีเพียงการตรวจสอบสภาพร่างกายเบื้องต้นทั้งก่อนและหลังการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น ทั้งนี้ทุกหน่วยงานยืนยันว่า มีการฝึกอบรมความรู้ด้านการปฏิบัติงานตามกฎหมายให้กับเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ และมีการบรรจุประเด็นสิทธิมนุษยชนไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในทุกระดับอยู่แล้ว
ล่าสุด คณะรัฐมนตรี ได้รับทราบสรุปผลการพิจารณาดังกล่าว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และแจ้งให้ กสม. รับทราบต่อไปแล้ว (ดูเอกสารประกอบ)