ไทยแพน เผยผู้ประกอบการ ไล่สอบหาเหตุผัก-ผลไม้ มีสารเคมีตกค้าง
ไทยแพนเล็งฟ้องกรมวิชาการเกษตร ต่อศาลปกครอง 2 ประเด็น ละเลยควบคุมสินค้าที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q ปล่อยให้สารเคมีอันตรายที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว มีจำหน่ายในประเทศ
หลังจากเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2559 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) แถลงข่าวผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2559 ผ่านการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่ประชาชนนิยมบริโภค ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล เชียงใหม่ และอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม พ.ศ. 2559 โดยพบผลผลิตผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับตรารับรอง Organic Thailand พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน ในขณะที่ผัก Q ซึ่งควบคุมดูแลโดยหน่วยงานของรัฐหน่วยงานเดียวกันพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึง 57 % มากที่สุดในบรรดาผักและผลไม้ที่ถูกสุ่มเก็บตัวอย่างจากทุกแหล่ง
ล่าสุด วันที่ 19 พฤษภาคม ไทยแพน เปิดแถลงข่าวเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง ในข้อหา กรมวิชาการเกษตรละเลยการปฏิบัติหน้าที่ กรณีพบการตกค้างของสารเคมีเกินมาตรฐานในผักและผลไม้ ที่กรมวิชาการเกษตรให้การรับรอง(certify) ณ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน
นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากโครงการกินเปลี่ยนโลก หนึ่งในสมาชิกไทยแพน กล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้มาตลอด เพื่อสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัย และชี้ให้เห็นปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยในอาหารให้สังคมได้รับรู้ แต่เมื่อภาคประชาสังคมเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ท่าทีของหัวหน้าหน่วยงานราชการกลับตรงกันข้าม
"คาดว่า ไทยแพนจะสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองภายในเดือนพฤษภาคม 2559 นี้ หลังพบว่า หน่วยงานราชการทำงานไร้ประสิทธิภาพ "
นางสาวกิ่งกร กล่าวถึงการสร้างระบบเฝ้าระวัง ไทยแพนได้มีการศึกษาจากระบบเฝ้าระวังจากต่างประเทศ ซึ่งมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ตรวจสม่ำเสมอ ตรวจในปริมาณมาก ครอบคลุมวงกว้าง มีมาตรฐานดำเนินการฉับพลันทันที สิ่งนี้เราอยากเห็นเกิดขึ้นในประเทศไทย อยากเห็นหน่วยงานราชการมีการสร้างระบบเฝ้าระวังที่มีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ และรายงานผลสม่ำเสมอ เชื่อว่า จะทำให้ผู้ประกอบการที่จ้องทำความผิดก็ระวังตัว
ส่วนนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานไทยแพน กล่าวเพิ่มเติมถึงการเตรียมดำเนินการฟ้องศาลปกครอง กรณีกรมวิชาการเกษตรละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ละเลยควบคุมสินค้าที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q เพราะตลอด 3 ปี ไทยแพนพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานในสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Q ทุกปี ตรงนี้จึงควรมีมาตรฐานที่ชัดเจนในอนาคต
"มาตรฐาน Q มีหลายลักษณะ ทั้งมาตรฐาน Q ที่รับรองในแปลง และมาตรฐาน Q ที่รับรองที๋โรงตัดแต่งคัดบรรจุ แต่กลับมีผู้ประกอบการบางรายนำไปบอกว่าเป็นสินค้าปลอดภัย ซึ่งตรงนี้ต้องมีการชี้แจงอย่างชัดเจน"
ส่วนการตรวจสอบสารเคมีอันตราย ชนิดที่ 4 ที่มีการยกเลิกการใช้ไปแล้วนั้น นางสาวปรกชล กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรมีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง และต้องมีมาตรการตรวจเข้มข้น โดยเฉพาะสารเคมีอันตรายที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว ไม่ให้มีจำหน่ายในประเทศ
"หลังการแถลงข่าวการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2559 ไป ในส่วนของผู้ประกอบการได้ดำเนินสืบหาสาเหตุของปัญหา บางแห่งพบข้อมูลการกระทำความผิด และจะแจ้งกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร"
ดร.กฤษฎา บุญชัย นักวิชาการหนึ่งในสมาชิกไทยแพน กล่าวว่า ไทยแพนมุ่งหวังให้ใช้ข้อมูลเกิดการตรวจสอบภายใต้หลักป้องกันไว้ก่อน ด้วยการใช้งานข้อมูลในการตรวจสอบ ส่วนการฟ้องร้อง เพราะเราเห็นปัญหาการตรวจพบสารเคมีในอาหารมาตลอด ส่วนในแง่ความบกพร่องของหน่วยงานราชการ หรือการสวมสิทธิ์เครื่องหมาย Q จึงอยากทำให้ประจักษ์ชัด