ครม.ชงปรับ รธน.แบ่ง 2 ระยะ ช่วงแรกมีเหตุไม่คาดฝันออกกฎป้องขัดแย้งได้
‘พล.อ.ประวิตร’ ลงนามทางการ ครม. ชง กรธ. ปรับแก้ รธน.ใหม่ แบ่ง 2 ช่วง ระยะแรกเกิดเหตุไม่คาดฝัน ออกเกณฑ์ให้เกิดความเรียบร้อย-ป้องขัดแย้ง-ล้างแค้น-ทุจริตได้ ต่อมาค่อยประชาธิปไตยเต็มใบ – ให้ทำ กม.จำเป็น ทันโร้ดแม็พ คสช. แยกหมวดปฏิรูปโดยเฉพาะ ค้านเพิ่มอำนาจศาล รธน.
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลงนามในหนังสือความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคณะรัฐมนตรี และส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อรับฟังความคิดเห็นประกอบการพิจารณา
มีสาระสำคัญ ได้แก่ ในขณะนี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์และความเห็นต่างเกี่ยวกับกับร่างรัฐธรรมนูญมาก ส่วนใหญ่เป็นความไม่แน่ใจหรือไม่วางใจระบบ ตัวบุคคลที่จะเข้าสู่ระบบ วิธีการได้คนมาสู่ระบบ (เลือกตั้ง แต่งตั้ง) และอำนาจหน้าที่ แต่ที่คณะรัฐมนตรีเป็นห่วงคือ ทำอย่างไรจึงจะป้องกันมิให้ความยุ่งยากโกลาหล ความขัดแย้ง และความไม่สงบเรียบร้อยจนประเทศจวนเข้าสู่ภาวะรัฐล้มเหลว ดังเมื่อก่อน พ.ค. 2557 ย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ภายหลังการเลือกตั้ง และภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
เพราะหากเช่นนั้นแล้วจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ เศรษฐกิจ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และคุณธรรมของคนในชาติอย่างรุนแรง ประเทศอาจจะตกอยู่ในวังวนหรือบ่วงแห่งการสู้รบ การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การทุจริตคอร์รัปชั่น การแทรกแซงกลไกของรัฐ การใช้วาจาก่อให้เกิดความเกลียดชัง การล้างแค้น การรื้อกฎเกณฑ์ต่าง ๆ โดยอ้างความชอบธรรมในนามของระบอบประชาธิปไตยดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และในครั้งนี้อาจหนักหน่วงกว่าเดิม อันเป็นสภาวะที่ไม่ปรากฏในต่างประเทศ และยากแก่ความเข้าใจของประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ การบริหารราชการแผ่นดิน การสร้างความสามัคคีปรองดอง และการปฏิรูปประเทศจะสะดุดหรือล้มเหลวจนเป็นไปไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อและความเป็นความตายของประเทศ
คณะรัฐมนตรีเห็นว่า บางทีหากบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วงเวลา คือ ช่วงเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนานนัก โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่งเสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่อยู่บนพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. ในระดับหนึ่งอย่างมีดุลยภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน และช่วงที่จะใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในระยะต่อไปซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลมากขึ้นและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่าง ๆ ลงให้มาก ดังนี้น่าจะแก้ปัญหา และอธิบายให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและนานาชาติได้
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี ยังเห็นว่า กรธ. ควรแก้ไขบทเฉพาะกาลให้จัดทำกฎหมายเท่าที่จำเป็นแก่การเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทาง (Roadmap) ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือให้สามารถจัดเลือกตั้งได้ในไม่เกิน ก.ค. 2560 ดังนั้นหาก กรธ. ปรับแก้ไขเช่นนี้ เมื่อประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว จะทำให้จัดการเลือกตั้งภายในเวลาที่กำหนด สอดคล้องกับแนวทางของ คสช. ส่วนกฎหมายอื่นที่มีความจำเป็นอาจทำภายหลังได้ ให้ทยอยจัดทำในเวลาต่อมา ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จก่อนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง
รวมถึงควรมีหมวดว่าด้วยการปฏิรูปแยกออกมาต่างหากเป็นการเฉพาะ โดยวางแนวทางการปฏิรูปให้สอดคล้องกับแนวทางที่ดำเนินการมาก่อนการใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ และอาจระบุหัวหน้าข้อที่ควรปฏิรูปและองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการ แต่ไม่ควรกำหนดรายละเอียดในเชิงผูกมัดแนวทาง และเนื้อหาการปฏิรูปมากเกินไปเพราะอาจยืดยาว และยุ่งยากในการปฏิบัติ
ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนักการเมืองที่พัวพันคดีทุจริต และศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า การให้คดีทุจริตของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องพิจารณาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ไม่ควรจัดเป็นระบบศาลเดียว เพราะขัดต่อการปฏิบัติในนานาประเทศ และอาจัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ก่อให้เกิดปัญหาเวลามีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน แม้วรรคสี่จะให้อุทธรณ์ไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ แต่ก็จำกัดเฉพาะ “ข้อกฎหมายหรือในกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ” อันจะทำให้อุทธรณ์ยากอยู่นั่นเอง ควรแก้ให้การอุทธรณ์เป็นสิทธิทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อให้เป็นระบบสองศาล
ส่วนศาลรัฐธรรมนูญนั้น การที่แยกให้บัญญัติไว้ในหมวด 11 แต่งต่างจากที่เคยปฏิบัติมาในรัฐธรรมนูญปี 2540-2550 แม้จะมีเหตุผลอยู่ แต่ไม่หนักแน่นอน ตรงกันข้ามอาจก่อให้เกิดความเข้าใจว่ามีการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น ทั้งยังก่อให้เกิดการโต้แย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็น “ศาล” ตามหมวด 10 และมาตรา 3 หรือไม่ อนึ่ง การแก้ไขอายุของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ใน (2) ของมาตรา 196 จากเจ็ดสิบปีเป็นเจ็ดสิบห้าปี อาจถูกมองว่าเป็นการแก้เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล จึงควรใช้เกณฑ์อายุเจ็ดสิบปีเช่นเดิม