สารพัดเรื่องไม่โปร่งใส-ส่อทุจริต! ‘สุภา’เข้าให้ถ้อยคำคดีข้าว‘ยิ่งลักษณ์’
สารพัดเรื่องไม่โปร่งใส-ส่อทุจริต! ‘สุภา’ กก.ป.ป.ช.-อดีต ปธ.อนุฯปิดบัญชีข้าว เข้าให้ถ้อยคำในฐานะพยานคดีจำนำข้าว ‘ยิ่งลักษณ์’ ซัดเคยเตือนแล้วโครงการนี้เหมือนระเบิดเวลา แนวโน้มทุจริต-ขาดทุนมาก สงสัย ครม. ใช้อำนาจอะไรโยกเงินรายได้ระบายข้าวมาทำจำนำข้าวต่อ ศาลฎีกาฯมีคำสั่งงด ‘ฝ่ายโจทก์-จำเลย’ จ้อสื่อ เหตุเพื่อการไต่สวนราบรื่น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดไต่สวนพยานนัดที่สอง ในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าว โดยมี น.ส.แน่งน้อย เจริญทวีทรัพย์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ในฐานะนักวิชาชีพการตรวจสอบบัญชี และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อดีตประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว เป็นพยานฝ่ายโจทก์เข้าไต่สวน
โดยทนายฝ่ายจำเลยถาม น.ส.สุภา ทำนองว่า ทำงานรับราชการมายาวนาน อยากทราบข้อมูลว่าโครงการรับจำนำข้าวในอดีตแตกต่างกับโครงการรับจำนำข้าวในปัจจุบันอย่างไร น.ส.สุภา กล่าวว่า ในอดีตหลายปีก่อน โครงการนี้เป็นการช่วยยกระดับเกษตรกรยากจน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี และจำกัดไม่เกินคนละ 20 ตัน และเงื่อนไขคือได้รับเงิน 60-70% ในการจำนำ และเมื่อครบ 4 เดือนจะต้องมาไถ่ ซึ่งแตกต่างกับในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างฟ้ากับดิน เพราะในรัฐบาลชุดนั้น ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในลักษณะที่เอื้อประโยชน์กับเกษตรกรร่ำรวย โรงสี และนายทุนค้าข้าว ทำให้ประโยชน์ถึงชาวนาบางส่วน และไม่ถึงบางส่วน
น.ส.สุภา กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เคยให้ความเห็นแก่คณะรัฐมนตรีไปหลายครั้งแล้วว่า โครงการนี้เปรียบเสมือนระเบิดเวลา เพราะมีแนวโน้มขาดทุนค่อนข้างมากกว่าโครงการรับจำนำข้าวที่เคยมีมาในอดีต จึงทำข้อเสนอแนะให้กับคณะรัฐมนตรีเพื่อปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้ตนชื่นชมโครงการนี้ แต่อยากให้รับทราบว่านี่มันคือระเบิดเวลา และไม่ได้เป็นการนำเสนอความเห็นในเชิงลบเลย
ทนายฝ่ายจำเลยถามทำนองว่า ที่ระบุว่ามีถึงบางส่วน ไม่ถึงบางส่วนนั้น คือความเห็นของกระทรวงการคลังใช่หรือไม่ และมีเอกสารหลักฐานปรากฏหรือไม่ น.ส.สุภา กล่าวว่า เป็นรายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวในช่วงปี 2554/2555 ข้าวนาปรัง 2555 และข้าวนาปี 2555/2556 ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า โครงการนี้คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่คนยากจน ขณะเดียวกันพบว่า มีการนำข้าวข้ามเขตมาจำนำได้
ทนายฝ่ายจำเลยซักอีกทำนองว่า มีหลักฐานหรือไม่ น.ส.สุภา กล่าวว่า ลงอยู่ในบันทึกของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เป็นข้อสังเกตและข้อสงสัย รวมไปถึงกรณีนำข้าวจากกัมพูชาและพม่าเข้ามาไทยเป็นจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งตรงนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯหารือกันแล้ว หลักฐานเอกสารสามารถไปค้นหาได้ที่กระทรวงการคลัง
“ได้คุยกับอดีต ส.ส.เพื่อไทย ในพื้นที่ ซึ่งบางคนก็ดี มาเล่าให้ฟังว่า ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ประชาชนก็ไม่เลือก เช่น กรณีบางพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิได้แค่ประมาณ 5 ไร่ ตันละ 2 หมื่นกว่าบาท แต่กลับสำแดงว่ามีข้าวหอมมะลิประมาณ 50 ไร่ เท่าที่ทราบข้อมูลตรงนี้มีการแจ้งความแล้วด้วย ลองสืบค้นดูได้” น.ส.สุภา กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการระบุทำนองว่า วงเงิน 5.3 แสนล้านบาท ไว้ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวนั้น คนละส่วนกับเงินทุนหมุนเวียนหรือไม่ น.ส.สุภา กล่าวว่า ใช่ เป็นกรอบวงเงินในการทำโครงการรับจำนำข้าว 5.3 แสนล้านบาท ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเงินทุนหมุนเวียน และหากใช้หมดก็คือหมด ทำเกินกรอบวงเงินไม่ได้
น.ส.สุภา กล่าวอีกว่า ในส่วนนี้เมื่อเงินในโครงการรับจำนำข้าวหมด แต่ยังมีเงินจากการระบายข้าวเหลืออยู่ประมาณแสนล้านบาท รัฐบาลต้องการจะนำเงินส่วนนี้มาให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำไปทำโครงการรับจำนำข้าวต่อ ตรงนี้คณะอนุกรรมการฯคัดค้านมาตลอด อย่างไรก็ดีในที่สุดคณะรัฐมนตรีขณะนั้นก็มีมติให้ดำเนินการได้ ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าใช้อำนาจอะไรในส่วนนี้
ทนายฝ่ายจำเลยซักต่อทำนองว่า คณะรัฐมนตรีมีมติทำนองเรื่องป้องกันและระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการนี้ไปแล้ว ได้รับทราบหรือไม่ น.ส.สุภา กล่าวว่า รับทราบแล้ว แต่ไม่ทราบว่าผลในระดับจะเป็นอย่างไร่ และก่อนหน้านี้เสนออะไรไปก็ค้านหมด เผลอ ๆ คนที่ขัดคอก็โดนด้วย
ท้ายสุด น.ส.สุภา กล่าวว่า ภายหลังจากเข้ามาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ถึงรู้ว่าทำไมกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ถึงไม่ยอมให้บัญชีการซื้อขายข้าวกับกระทรวงการคลัง และดำเนินการด้วยความลับ เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไม่ได้มีการนำข้าวไปขายต่างประเทศจริง แต่นำข้าวมาขายภายในประเทศ ในส่วนนี้คณะอนุกรรมการฯพยากรณ์แล้วว่า จะเกิดทุจริตขึ้นจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทนายฝ่ายจำเลยมักยกคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์ และนำมติคณะรัฐมนตรีขณะนั้น รวมถึงบางคำสั่งต่าง ๆ ที่พยานพ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลังไปแล้ว มาซักถามหลายครั้ง ทำให้องค์คณะผู้พิพากษาต้องพูดจาห้ามปราม และให้ซักถามในประเด็น ส่วนประเด็นอื่น ๆ ให้นำสืบเอง เนื่องจากสามารถค้นหาได้อยู่แล้ว พร้อมทั้งให้ฝ่ายโจทก์และจำเลยหาข้อมูลว่า คณะรัฐมนตรีมีมตินำเงินรายได้จากการระบายข้าวมาทำจำนำข้าวใช้อำนาจอะไร ทำให้ทนายฝ่ายจำเลยต้องลดจำนวนคำถามลง โดยในวันนี้มีคำถามทั้งหมดประมาณ 162 คำถาม
ขณะเดียวกันองค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ยังขอให้ฝ่ายโจทก์และจำเลยหลีกเลี่ยงการให้ข่าวสารกับสื่อในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีอีกด้วย เพื่อให้เกิดความราบรื่นในการไต่สวน