ให้ คสช. คง ม.44 จนมีรัฐบาลใหม่ - กรธ.ทำ กม.ลูกไม่เสร็จ 8 เดือนพ้นเก้าอี้
‘มีชัย’ ยันหัวใจสำคัญร่าง รธน.ใหม่ คือปราบคอร์รัปชั่น กำหนดชัดไม่ให้เป็นที่ฟอกตัวของคนทำผิด ปัดติดดาบองค์กรอิสระให้มากขึ้น พ้อบอกแต่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่รู้จะแก้ยังไง ลั่นถ้าไม่ให้ หน.คสช. ใช้ ม.44 จะเอาอะไรหากิน ใช้ล้ม รธน. ไม่ได้ บทเฉพาะกาลระบุ กรธ. ร่าง กม.ลูกไม่เสร็จใน 8 เดือนพ้นเก้าอี้ โร้ดแม็พยืดไปอีก
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงข่าวร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้น มีทั้งหมด 270 มาตรา โดยรวมบทเฉพาะกาลแล้ว
นายมีชัย กล่าวถึงหลักการสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญตอนหนึ่งว่า หัวใจสำคัญบังคับว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ว่าใครจะร่าง จะร่างเมื่อไหร่ต้องมีกลไกกำหนดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เช่น ใน (3) ต้องมีกลไกในการป้องกันตรวจสอบและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและเอกชน กำกับการใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อส่วนร่วมของประเทศชาติและประชาชน เงื่อนไข (4) กลไกป้องกันและตรวจสอบไม่ให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายมาทำทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นอันขาด กลไกตาม (8) มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐ ให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า และตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนสอดคล้องฐานะการเงินการคลังของประเทศ เปิดเผยใช้จ่ายเงินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
“ในร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างนี้ มีกลไกเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วไป จนฝ่ายการเมืองหลายคนออกมาพูดว่ารับไม่ได้ แม้จะพูดว่า จะไม่พูดตรง ๆ แต่ก็แย้ม ๆ ออกมาว่า จะทำให้ถูกควบคุม เรียนว่า มันเป็นกลไกภาคบังคับที่ยังไง ๆ ก็ต้องเขียนเรื่องเหล่านี้ไว้ มีเวลาจำกัด ถ้ามีเวลานานกว่านี้อาจคิดได้มากกว่านี้ แต่เท่านี้ก็คิดว่าน่าจะพอสมควรที่จะทำให้บ้านเมืองบริหารงานไปด้วยความสุจริต และมีการตรวจสอบตามสมควร” นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ป้องกันไม่ให้เวทีการเมืองเป็นที่ฟอกตัวของคนที่เคยทำผิด เราจึงใช้หลักเดียวกันกับหลักที่ใช้กับผู้ใหญ่บ้าน ถ้าใครก็ตามทำความผิดบางอย่างที่ดูแล้วน่าจะรุนแรงสำหรับการเข้ามาดำรงตำแหน่ง ศาลตัดสินว่ามีความผิด ไม่ว่าจะถูกลงโทษหรือไม่ ไม่ว่าจะได้รับการนิรโทษล้างมลทินหรือไม่ คนเหล่านั้นจะกลับมาเป็น ส.ส. ไม่ได้ ทำนองเดียวกับผู้ใหญ่บ้าน ความผิดเช่น ฐานเป็นเจ้ามือการพนัน ค้ายาเสพติด ฟอกเงิน หรือฉ้อโกงประชาชน เป็นเรื่องใหญ่ ๆ แรง ๆ ถ้าใครทำความผิดอย่างนั้น จะเข้ามาสู่วงการเมืองไม่ได้ และตราบใดที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ยังคงอยู่ ไม่ว่าต้องร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้ก็จะต้องอยู่ คนที่มาร่างใหม่ก็ต้องทำแบบนี้
นายมีชัย กล่าวต่ออีกว่า มีการพูดกันมากว่าเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระให้สูงขึ้น และมักพูดกันว่าองค์กรอิสระเหล่านั้นไม่เชื่อมโยงประชาชน จริง ๆ ไม่ได้เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ หรือศาลรัฐธรรมนูญให้มากขึ้นไปจากที่เคยมีอยู่เลย อาจมีบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่น่าเป็นเรื่องสลักสำคัญ อำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระยังมีอย่างเดิม หรือใกล้เคียงกับที่เคยมีมา เพียงแต่กำหนดกระบวนการไว้ให้ชัดเจนว่า อย่างไรเป็นเรื่องทุจริต อย่างไรเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือแม้กระทั่งเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ก็จะมีการกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า มาตรฐานอย่างไรถ้าฝ่าฝืนแล้วถือเป็นเรื่องร้ายแรง และกำหนดเป็นคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม ใครก็มีคุณลักษณะต้องห้ามอย่างที่ว่า ก็จะเข้ามาไม่ได้
ส่วนการจะให้ยึดโยงกับประชาชนนั้น นายมีชัย กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่า องค์กรที่มาตรวจสอบต้องเป็นกลาง และเป็นไปตามหลักการวิชาการ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการลงคะแนนเอาเสียงข้างมาก ในประเทศทั้งหลายในโลก ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรี เขาก็ไปให้ศาลตัดสิน ศาลนั้นก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน มีประเทศคอมมิวนิสต์ อาจมีการตั้งศาลประชาชน แต่ประเทศอื่น ๆ ไม่มี ฉะนั้นกลไกเหล่านี้ เป็นกลไกปกติที่สากลเขาใช้กัน ป.ป.ช. ในทุกประเทศเขาก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน เป็นคนละเรื่องกันกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ทำก็ไม่ได้ผิดไปจากสากลที่เขาทำกัน
“ส่วนองค์กรอิสระที่มีอยู่ ยังมั่นใจมากน้อยแค่ไหน ตาม กรธ. เข้าใจว่า ยังมีผู้ติดใจอยู่ในเรื่องคุณสมบัติ รัฐธรรมนูญนี้จึงเพิ่มคุณสมบัติให้สูงขึ้น ให้มั่นใจได้ว่ามีประสบการณ์ ความรู้เพียงพอ ที่จะวางใจได้ ขณะเดียวกันทุกองค์กรจะถูกตรวจสอบ เชื่อมโยงกันหมด ไม่มีใครถูกงดไปจากการถูกตรวจสอบได้” นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย กล่าวด้วยว่า เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับตอนนี้ยังคงไม่สมบูรณ์เต็มที่ จะมีการปรับแก้ตามเหตุผลของผู้เสนอแนะ แต่ถ้าบอกเพียงว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยขอให้แก้ ก็ไม่รู้จะแก้อย่างไร เวลาบอกก็กรุณาบอกเหตุผลด้วยว่า จะให้แก้อย่างไร เพราะอะไร บางทีได้ช่วยกันทำร่างรัฐธรรมนูญให้มันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น กรธ. พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเสมอ รัฐธรรมนูญจะออกไปเพื่อใช้กับประชาชนทั้งประเทศ และเพื่อผลในอนาคตของประเทศเรา ในการทำขอให้มุ่งผลถึงประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และชาติเป็นสำคัญ พร้อมที่จะนำมาปรับปรุงแก้ไข
เมื่อถามว่า ในบทเฉพาะกาลยังบัญญัติให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ได้อยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ นายมีชัย กล่าวว่า ที่ให้หัวหน้า คสช. สามารถออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แต่จะต้องอยู่ใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่มีอำนาจที่จะล้มล้างร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ส่วนจะมีอำนาจจะทำอะไรได้อยู่หรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้
“เมื่อ คสช. ยังอยู่ ก็ต้องให้อำนาจที่เขามีอยู่ ยังมีอำนาจอย่างที่มีอยู่ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างจากการปฏิวัติ ยังทำไม่ได้สำเร็จ รวมถึงไม่ให้เครื่องมือเขาไว้ จะทำมาหากินอย่างไร และ คสช. จะใช้อำนาจนี้ได้จนกระทั่งรัฐบาลใหม่จะมา รัฐบาลใหม่มาเมื่อไหร่ คสช. ก็หมด ก็ใช้อยู่ในสภาพปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้ลุกล้ำกล้ำกลืนไปถึงรัฐบาลใหม่เข้ามา” นายมีชัย กล่าว
เมื่อถามว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี หรือแม่น้ำ 4 สาย ทำไมถึงไม่ถูกเว้นวรรคสองปีตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายมีชัย กล่าวว่า แม่น้ำอื่น ๆ ไม่ได้มาร่างรัฐธรรมนูญด้วย และไม่ได้เป็นคนกำหนด เป็นคนเสนอความคิด ถ้าใครก็ตามมาเสนอความคิดเห็นแล้วถูกห้าม มันก็จะไม่เหลือคนที่เข้าไปวงการเมือง เพราะพรรคการเมืองหลายพรรคก็ส่งความคิดเห็นเสนอแนะเข้ามา จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปห้าม การเมืองก็เล่นไปตามกติกา การเข้าสู่อำนาจจะเหมือนกัน จะสมัครรับเลือกตั้ง จะมีอะไรไปห้ามเขาทำไม ไม่มีเหตุผล
เมื่อถามว่า การนับเวลาโร้ดแม็พในบทเฉพาะกาลแตกต่างกับโร้ดแม็พฝั่งรัฐบาล ขณะที่มาตรา 259 วรรคสอง ระบุว่า ใช้เวลา 8 เดือน ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ ใช้เวลาเท่าไหร่ กระทบหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ถ้าให้ทำกฎหมายฯ 10 ฉบับ ใช้เวลา 8 เดือน ถ้าไม่ทันจริง ๆ ที่พูดกัน จะให้ทำค่อนข้างคร่ำเคร่ง 1 ปี แต่มีคนพูดกันว่ามันยาวเกินไป คงไม่ไหว ต้องให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นมา เพราะ 8 เดือนจะทำได้แบบคร่าว ๆ
นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนโร้ดแม็พที่รัฐบาลตั้งใจ แต่ในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญออกมา ถ้าไม่สำเร็จ มันยังไม่มีกฎหมายลูก มันก็เลือกตั้งไม่ได้อยู่ดี ถ้าจำเป็น กรธ. กำลังคุยกันอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร นี่เพียงบอกเจตนารมณ์ว่า ถ้าจะทำต้องใช้เวลาประมาณ 8 เดือน ทั้งนี้ถ้าทำไม่ทัน มีการยืดเวลาไปกี่ปี ต่อไปทั้งกฎหมายสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกฎหมายศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่ได้ทำเลย องค์กรเหล่านั้นจะรันไม่ได้ ต้องทำให้ครบ อย่างไรก็ดีขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นมีความจำเป็นที่จะรีบเร่งหรือไม่ อาจก็เลือกตั้งโดยไม่จำเป็นต้องรอ 8 เดือน
ส่วนที่ระบุไว้ว่าหากร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่เสร็จภายใน 8 เดือน กรธ. จะต้องพ้นจากตำแหน่งนั้น นายมีชัย กล่าวว่า เป็นการเขียนขีดกรอบไว้ว่าถ้าเขียนไม่เสร็จต้องกลับบ้าน และให้ตั้งคนใหม่เข้ามาดำเนินการให้แล้วเสร็จ ส่วนจะทำอีกยาวนานแค่ไหนนั้น อยู่ที่ คสช. จะกำหนด
เมื่อถามว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร นายมีชัย กล่าวสั้น ๆ ว่า “ไม่รู้ ไม่ขอตอบ เดี๋ยวจะตกใจ ถ้าตอบอย่าเลยเดี๋ยวจะเป็นลม”