กมธ.ปราบโกงชง กรธ.ห้าม ส.ส.แปรญัตติงบ-สมัครองค์กรอิสระโชว์ภาษีย้อนหลัง
กรธ.ปราบปรามการทุจริตฯ ชงข้อเสนอแนะ กรธ. ให้ผู้สมัคร-สรรหาดำรงตำแหน่งการเมือง-องค์กรอิสระ แสดงภาษีย้อนหลัง 3 ปี-บัญชีทรัพย์สินด้วย ห้าม ส.ส.แปรญัตติงบประมาณ จับกุม ส.ส.-ส.ว. สมัยประชุมได้หากพันคดีทุจริต หากพบ รบ. ใช้งบแล้วทำให้รัฐเสียหายให้ ป.ป.ช.-สตง. ส่งฟ้องศาลปกครองแผนกคดีวินัยวินิจฉัยได้ ลดวาระ กก.ป.ป.ช. เหลือ 6 ปี
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีตประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานฯ สรุปข้อเสนอเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เตรียมส่งให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ ในวันที่ 18 ธ.ค. 2558
สำหรับข้อเสนอดังกล่าวมีหลายข้อน่าสนใจ และมีความสำคัญ เช่น ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกประเภทและทุกระดับ รวมทั้งผู้เข้ารับการสรรหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ต้องแสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปี หากไม่แสดงหรือแสดงอันเป็นเท็จ ให้สมาชิกภาพหรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ทั้งนี้ให้เปิดเผยเอกสารดังกล่าว รวมถึงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณชนโดยเร็ว
ขณะเดียวกันได้ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นำงบประมาณที่ลดหรือตัดทอนจากการแปรญัตติไปจัดสรรเป็นงบ ส.ส. และกำหนดให้สามารถจับกุม คุมขัง หรือออกหมายเรียกตัว ส.ส. หรือ ส.ว. ในระหว่างสมัยประชุมได้ ในกรณีเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาอันเกี่ยวด้วยการทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือคดีความผิดเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งหรือการสรรหา (เอกสิทธิคุ้มครองสมาชิกรัฐสภาในระหว่างสมัยประชุม ไม่รวมถึงกรณีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่)
รวมถึงให้มีศาลชำนัญพิเศษคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นการเฉพาะ โดยให้เป็นระบบไต่สวนสามารถอุทธรณ์ได้ และมีเขตอำนาจในกรณีเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอันวิญญูชนพึงเห็นได้ว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจไต่สวนข้อเท็จจริง และสรุปสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ และให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า
นอกจากนี้ยังกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีองค์ประกอบหลากหลาย มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี (จากเดิม 9 ปี) และให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นอิสระ (จากเดิมสังกัดกระทรวงยุติธรรม) และทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากคดีทุจริตมีความเกี่ยวพันกับข้าราชการหลายระดับ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมต้องไม่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐในทำนองเดียวกัน รวมทั้งไม่เป็นที่ปรึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งในลักษณะเดียวกันด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายมีชัยจาก ASTVmanager