แพร่แล้ว!รธน.ใหม่เปิดช่องนายกฯคนนอก-กก.ยุทธศาสตร์ฯบริหารแผ่นดินไม่ได้
แพร่แล้ว! ร่าง รธน.ฉบับใหม่ เปิดช่องเลือกนายกฯคนนอกได้ ต้องใช้เสียง ส.ส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ขีดเส้นชัดเคยถูกถอดถอนเรื่องทุจริต-ร่ำรวยผิดปกติ ไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. นักการเมืองทุกระดับต้องยื่นแบบสำเนาภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปี กก.ยุทธศาสตร์ปฏิรูปปรองดอง ไม่มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ทุกห้าปีตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเวลา 15.30 น. เว็บไซต์คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประชาชนทั่วไปเข้าไปดาวน์โหลดแล้ว โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ถือเป็นร่างฯฉบับสุดท้าย ที่ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาการแปรญัตติของ สปช. และคณะรัฐมนตรี เสร็จสิ้นทั้งหมด และจะให้ สปช. ร่วมโหวตลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในวันที่ 6 ก.ย. 2558
สำหรับประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่น มาตรา 75 ระบุว่า บุคคลตามมาตรา 73 (1) (หมายถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ) ต้องแสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลาสามปี โดยหากเลือกตั้งให้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนผู้ที่สรรหาให้ยื่นต่อหน่วยงานที่กฎหมายบัญญัติ เว้นแต่ผู้มีซึ่งไม่มีรายได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี
ทั้งนี้หากปรากฏว่าผู้นั้นไม่ได้แสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลับตามที่กำหนด ปกปิดหรือแสดงหลักฐานดังกล่าวอันเป็นเท็จ หรือจงใจเสียภาษีเงินได้โดยไม่ถูกต้อง ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป แล้วรายงานให้ผู้รับสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ และแจ้งให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี สภาท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทราบ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
มาตรา 101 ระบุว่า สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าสี่ร้อยห้าสิบคน แต่ไม่เกินสี่ร้อยเจ็ดสิบคน โดยเป็นสมาชิกจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจำนวนสามร้อยคน และสมาชิกจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบคน แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยเจ็ดสิบคน
มาตรา 108 ระบุตอนหนึ่งว่า บุคคลที่มีลักษณะต่อไปนี้ ห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เช่น ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หลบหนีคดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาหรือหลบหนีคดีที่มีโทษตามคำพิพากษา หรือกระทำการดังกล่าวจนขาดอายุความดำเนินคดีหรืออายุความลงโทษ แล้วแต่กรณี เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม รวมถึงเคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเพราะเหตุมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
มาตรา 109 ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
มาตรา 118 วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินสองร้อยคนซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการสรรหาเท่ากับจำนวนรวมข้างต้น หักด้วยจำนวนวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง (ส.ว.เลือกตั้ง 77 คน ส.ว.สรรหา 123 คน)
มาตรา 121 ผู้มีสิทธิรับสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อเป็น ส.ว. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น และเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือตำแหน่ง ส.ส. ภายในระยะเวลาห้าปี และเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้งตามมาตรา 108
มาตรา 164 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหนึ่งคนและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้
มาตรา 165 ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรต้องมีมติให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก ซึ่งมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
แต่ในกรณีที่บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การลงมติในกรณีเช่นนี้ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย
มาตรา 166 วรรคสอง ระบุว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องแสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลาสามปีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี
มาตรา 259 เพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ต่อเนื่องจนบรรลุผล รวมทั้งป้องกันและระงับความขัดแย้งระหว่างคนในชาติ และสร้างความปรองดอง ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ และสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง
มาตรา 260 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการจำนวนไม่เกินยี่สิบสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้ 1.กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) 2.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองในแต่ละประเภท ประเภทละหนึ่งคน และ 3.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดคน แต่งตั้งตามมติของรัฐสภา จากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่าง ๆ และการสร้างความปรองดอง โดยให้กรรมการฯเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมคนหนึ่งให้เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ
มาตรา 261 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีหน้าที่ เช่น แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่าง ๆ และคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองและเสนอแนะเรื่องการปฏิรูปและการสร้างเสริมความปรองดองต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ดำเนินการที่จำเป็ฯเพื่อสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ระหว่างคู่ขัดแย้งและสร้างความปรองดองในหมู่ประชาชน ดำเนินการหรือสั่งให้มีการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อป้องกันและระงับความขัดแย้งหรือความรุนแรง และระงับหรือยับยั้งการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางการปฏิรูปหรือการสร้างความปรองดอง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง
นอกจากนี้ยังมีอำนาจกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง อำนวยการ และดำเนินการให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และปรองดอง และเพื่อการนี้ให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์นั้น รวมทั้งมีอำนาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการขจัดความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอหรือแนวทางและมาตรการใดได้ ให้ชี้แจงเหตุให้รัฐสภา และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯทราบ ในการนี้หากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯทบทวนข้อเสนอ แนวทาง หรือมาตรการดังกล่าว และมีมติยืนยันด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้เป็นไปตามมติดังกล่าว
ส่วนในบทเฉพาะกาล มาตรา 280 ระบุว่า ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ตามมาตรา 260 ให้รอการแต่งตั้งให้ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการโดยตำแหน่งตามมาตรา 260 (1) ไว้ก่อน จนกว่าจะได้มาซึ่งประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่ได้แต่งตั้งขึ้นตามมาตรานี้ เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ตามมาตรา 260
ภายในห้าปี้นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือมีกรณีที่เกิดความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ทั้งการดำเนินการตามปกติของสถาบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญและคณะรัฐมนตรีไม่อาจดำเนินการเพื่อยุติกรณีดังกล่าวได้ คณะกรรมการยุทะศาสตร์ฯ ซึ่งมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวแทนได้ ภายหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคสองแล้ว ให้ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจสั่งการระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไมว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร และให้ถือว่าคำสั่ง การกระทำ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และเป็นที่สุด ทั้งนี้เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ รายงานประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุดทราบโดยเร็ว และแถลงให้ประชาชนทราบถึงการใช้มาตรการดังกล่าว ในกรณีที่ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ให้ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
เมื่อได้มีการใช้อำนาจตามวรรคสอง ให้ถือว่าเป็นการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาโดยไม่ต้องมีการตรา พ.ร.ฎ.เปิดสมัยประชุม และให้ถือว่าในระหว่างที่มีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ เป็นสมัยประชุมของรัฐสภา
(อ่านประกอบ : เจาะโครงสร้างกก.ยุทธศาสตร์ฯ "รัฏฐาธิปัตย์ซ่อนรูป" สืบทอดอำนาจ คสช.? )
มาตรา 272 ทุกรอบห้าปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งไปยังสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้ประธานรัฐสภาแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งองค์กรดังกล่าวเสนอ ฝ่ายละหนึ่งคน ประกอบกันเป็นคณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ทำรายงานเสนอความเห็นเกี่ยวกับการใช้บังคับและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง
ในกรณีที่คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระดังกล่าว เห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมพร้อมรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย