“ครูหยุย”ตั้งกระทู้ถามรมว.ศึกษาฯปมเงินช.พ.ค.ไม่โปร่งใส-ค่าทำศพหาย 245 ล.
“ครูหยุย” ตั้งกระทู้ถาม “พล.ร.อ.ณรงค์” รมว.ศึกษาฯ ปม สกสค. บริหารกองทุน ช.พ.ค. ไม่โปร่งใส เงินค่าทำศพครูหายปีละ 245 ล้าน ทำประกันสุขภาพแทนประกันชีวิต บี้ถามมาตรการป้องกัน-ตรวจสอบการทุจริต
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งกระทู้ถาม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ กรณีปัญหาเงินกองทุนช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) โดยให้ขอให้ตอบในที่ประชุม สนช. ในวันที่ 24 ก.ค. 2558
นายวัลลภ ระบุว่า ปัจจุบันครู อาจารย์ หรือบุคลากรทางการศึกษาได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการบริหารงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โดยเห็นว่าการบริหารจัดการเกี่ยวกับ ช.พ.ค. ในหลาย ๆ เรื่อง อาจมีความไม่โปร่งใส
โดยเฉพาะในส่วนกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ ที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยสมาชิกจะร่วมชำระค่าสงเคราะห์ศพ ศพละ 1 บาท หากมีผู้เสียชีวิตจะได้รับการช่วยเหลือในส่วนค่าจัดการศพ เงินสงเคราะห์ครอบครัว แต่การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเกิดความไม่ชัดเจน ไม่โปร่งใส และตรวจสอบได้ยาก
ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า มีการใช้จ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องและยังมีการกล่าวอ้างว่าต้องมีค่าดำเนินการในเรื่องดังกล่าวด้วย โดยข้อมูลเมื่อเดือน มี.ค. 2558 มีสมาชิก 997,642 คน เสียชีวิต 513 คน ครอบครัวจะได้รับเงินฌาปนกิจ 957,737 บาท (ค่าจัดการศพ 2 แสนบาท จ่ายใน 24 ชั่วโมง เงินสงเคราะห์ครอบครัว 757,737 บาท จ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับจากประกาศเสียชีวิต) ซึ่งมีเงินหายไปศพละ 39,905 บาท จำนวน 513 ศพ เป็นเงิน 20,471,265 บาท ในหนึ่งเดือน และคิดเป็นปีละ 245,655,180 บาท ซึ่งถือว่ามีมูลค่าสูงมาก
นอกจากนี้ยังมีกรณีโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. ที่ได้ร่วมกับธนาคารในกำกับของรัฐและบริษัทประกันภัยได้ปล่อยสินเชื่อการกู้เงินโดยบังคับ ให้ทำประกันชีวิตวงเงินสินเชื่อเป็นเวลา 9-10 ปี โดยหักเงินจากยอดเงินกู้ พร้อมคิดดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นประโยชน์หากผู้กู้เสียชีวิต ทางบริษัทประกันภัยจะชดใช้หนี้คืนให้ทั้งหมด แต่จากการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ทางธนาคารและบริษัทประกันภัยดังกล่าว ได้ทำประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ ไม่ใช่ประกันชีวิตตามที่แจ้งไว้กับครูผู้กู้ อีกทั้งไม่ได้ให้กรมธรรม์ใด ๆ แก่ครูผู้เอาประกัน อันจะมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก
อย่างไรก็ดียังมีการบริหารจัดการในหลายกรณีที่ส่อเจตนาทุจริต มีการนำเงินกองทุนไปใช้และอาจสร้างความเสียหายได้ และหากมีกรณีการทุจริตเกิดขึ้นจริงจะทำให้มีสมาชิกได้รับผลกระทบทั่วประเทศ ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบและมีมาตรการในการบริหารจัดการและควบคุม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ไม่ให้มีการทุจริตและใช้เงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตรงตามวัตถุประสงค์ของเงินกองทุนดังกล่าว
จึงขอเรียนถามว่า
1.รัฐบาลมีนโยบายหรือมาตรการในการตรวจสอบการทุจริต การใช้เงินกองทุน ช.พ.ค. ในแต่ละโครงการ โดยเฉพาะกรณีกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์หรือไม่ ประการใด
2.รัฐบาลจะมีนโยบายในการควบคุม ดูแล รวมทั้งการบริหารจัดการกองทุน ช.พ.ค. เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุนหรือไม่ ประการใด