ยื่นนายกฯ-3 รมว.สอบปม บ.ดีดีมอลล์ เช่าที่ดินการรถไฟฯ-กู้ ธ.อิสลาม 1,700 ล.
กลุ่มผู้เช่าช่วง ศูนย์การค้า ‘อินสแควร์ - ดีดี มอลล์’ ฮึดอีกรอบหลังเดือดร้อนหนัก ยื่นหนังสือ นายกฯ-3 รมว. สอบปมเช่าที่ดินการรถไฟฯ - ปล่อยกู้ ธนาคารอิสลามฯ 1,700 ล้าน ให้เอกชน พบเงื่อนงำอื้อ เผย ป.ป.ง.สอบเชิงลึกแล้ว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค.58 นางมยุรีพัณณ์ ลือคำหาญ และกลุ่มผู้ได้รับความเสียหายจากการเช่าพื้นที่ในโครงการศูนย์การค้า อินสแควร์ ย่านจตุจักร กรุงเทพฯได้ยื่นหนังสือ 4 ฉบับ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผ่านศูนย์บริการประชาชน 1111 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ตรวจสอบ กรณี การเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด มีเงื่อนงำหลายประการ โดยมีหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย 4 แห่งเกี่ยวข้อง
1.การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้ บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด (เดิมชื่อบริษัท เจ.เจ.เซ็นเตอร์ จำกัด ต่อมาเปลี่ยน เปลี่ยนเป็นบริษัท อินสแควร์ ช้อปปิ้ง มอลล์ และ บริษัท อินสแควร์ จำกัด) เช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการศูนย์การค้าอินสแควร์ เนื้อที่ 7.93 ไร่ ย่านถนนกำแพงเพชร 2 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ตามสัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคาร ที่บริเวณย่านพหลโยธิน(แปลง 5) สัญญาเลขที่ 902520965 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2552 มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2552 -31 สิงหาคม 2556 และตามสัญญาเช่าที่ดินเพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์ ที่บริเวณย่านพหลโยธิน(แปลง 5) สัญญาเลขที่ 907520966 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2552
สัญญาทั้งสองฉบับ บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด จะต้องก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างตามเอกสารแนบจำนวน 17 แผ่น มูลค่าโครงการประมาณ 546,430,775 บาท มีพื้นที่อาคารใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 17,280 ตารางเมตร ใน TOR ระบุไว้เป็นการก่อสร้างอาคารพลาซ่า 2 ชั้น อาคารที่พักอาศัย 16 ชั้น แต่เอกชน ได้ยื่นขออนุญาตต่อ กรุงเทพฯ กลับระบุในใบอนุญาตคือเป็นอาคารชนิดตึก 8 ชั้น จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นพาณิชย์(ร้านค้าใช้เช่า-จอดรถ) พื้นที่ 73,591 ตารางเมตร ซึ่งไม่ตรงกับเอกสารแนบจำนวน 17 แผ่นตามสัญญา 902520965
กระทั่ง 5 มีนาคม 2558 กรุงเทพมหานครได้ออกใบอนุญาต ให้แก่เอกชน ใบอนุญาตกลับ ระบุว่าเป็นอาคารชนิดตึก 9 ชั้น จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นพาณิชย์(ร้านค้าให้เช่า) และจอดรถยนต์ พื้นที่ 84,676 ตารางเมตร ทำให้มีขนาดพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าสัญญาประมาณ 67,396 ตารางเมตร และมีมูลค่าโครงการ ประมาณ 3,200 ล้านบาท ถือว่ามีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จึงเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ซึ่งถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ทำให้อำนาจในการอนุมัติโครงการเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การรถไฟฯ เพราะฉะนั้นสัญญาเช่าที่ระหว่างบริษัท ดีดีมอลล์ กับ การรถไฟฯ จึง เป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลจากกรณีนี้ทำให้ผู้เช่าช่วงโดยสุจริตนับร้อยรายซึ่งเช่าพื้นที่จากบริษัท ดีดีมอลล์ และจ่ายเงินให้เอกชนไปบางส่วนแล้วประมาณ 200 ล้านบาท (ความเสียหายรวมนับพันล้านบาท) ไม่สามารถได้รับการอนุมัติให้โอนสิทธิการเช่าได้
หนังสือร้องเรียนระบุว่า นอกจากนี้ยังปรากฏว่า การรถไฟฯ ได้มีการทำบันทึกเพิ่มเติมขยายระยะเวลาก่อสร้าง จากเดิม 4 ปี (สัญญาเลขที่ 902520965) เป็น 4 ปี 6 เดือน (ตามสัญญาเลขที่ 902570052) และดำเนินการ ลงนามในสัญญาเลขที่ 902570053 ซึ่งเป็นบันทึกแนบท้ายจากสัญญาเลขที่ เดิม 907520966 (สัญญาเช่าที่ดินเพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์) ทั้งได้มีการดำเนินการตรวจรับและยอมรับว่าสัญญาเลขที่ 907520966 ได้มีผลบังคับแล้วคงเหลือระยะเวลาของสัญญาเลขที่ 907520966 เพียง 29 ปี 6 เดือน
2.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีการอนุมัติสินเชื่อให้แก่เอกชนดังกล่าว จำนวน 1,700 ล้านบาทมีความผิดปกติ เนื่องจากเอกชนรายดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนเพียง 120 ล้านบาท แม้ต่อมาจะมีการเพิ่มทุนเป็น 620 ล้านบาท แต่ก็เป็นการเพิ่มทุนหลังจากปล่อยสินเชื่อแล้ว สิ่งปลูกสร้างที่เป็นหลักประกันของธนาคารไม่ตรงกับแบบที่แนบท้ายสัญญา ไม่มีการบังคับจำนำหุ้นของบริษัท ดีดีมอลล์ อีกทั้งการขอสินเชื่อ ไม่ได้รับความยินยอมจากการรถไฟฯ
ผู้ร้องเรียนยังขอให้ตรวจสอบ การทำหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน สาขาจตุจักร ในประเด็นดำเนินการจดทะเบียนสิทธิการเช่าให้กับผู้เช่าช่วง ทั้งที่ยังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิการเช่า 30 ปีตามสัญญาให้บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด
อีกทั้ง ให้ตรวจสอบ การทำหน้าที่ของ กรุงเทพมหานคร กรณีการออกใบอนุญาตก่อสร้างให้แก่เอกชนซึ่งมีมูลค่าโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท อันเป็นต้นตอที่สำคัญที่ทำให้สิ่งปลูกสร้าง(ตัวอาคาร) ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เป็นสาระสำคัญของการนำไปจดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ผูกพันกับสถาบันการเงินในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ และบุคคลภายนอกผู้เช่าช่วงได้รับความเสียหาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางมยุรีพัณณ์ ลือคำหาญ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ผู้เสียหายยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้ตรวจสอบด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของทั้งสามหน่วยงาน โดย ป.ป.ง.ได้สอบสวนในเชิงลึกและพยานเกี่ยวข้องหลายคนแล้ว