ป.ป.ช.เลื่อนแจ้งข้อกล่าวหาคดีถอด“มาร์ค-สุเทพ”สลายชุมนุมปี’53
ป.ป.ช. เลื่อนแจ้งข้อกล่าวหาคดีถอด “อภิสิทธิ์-สุเทพ-อนุพงษ์” สลายชุมนุมแดงปี’53 อ้างต้องถกปม พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ตกผลึก หลังจากนั้นชงเข้าองค์คณะไต่สวน 24 ก.พ. เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ 26 ก.พ.นี้ ส่วนคดีอาญายังไม่คืบ
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะไต่สวน ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหาการถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553-19 พฤษภาคม 2553 ว่า ข้อเท็จจริงยังไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ในวันนี้ เพราะต้องพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 17 เสียก่อนว่าเข้าข่ายหรือไม่ เพราะในส่วนที่นายอภิสิทธิ์ สั่งการไปยังนายสุเทพ นั้นยังไม่ชัด จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปเรียบเรียงมาใหม่
นายปานเทพ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดีพยานหลักฐานทุกส่วนครบถ้วนหมดแล้ว ดังนั้นจึงให้มีการสรุปเสนอต่อองค์คณะไต่สวน ป.ป.ช. อีกครั้งภายใน 24 กุมภาพันธ์ 2558 หลังจากองค์คณะไต่สวนมีมติจะนำเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินคดีอาญากรณีดังกล่าวนั้น ข้อมูลข้อเท็จจริงยังไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะนำมาพิจารณาได้
สำหรับมาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.นี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
อ่านประกอบ : "วิชา" รับสำนวนกลับตาลปัด! ทำคดีสลายเสื้อแดงช้า-ยันให้ความเป็นธรรม