ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งคำร้องให้ศาล รธน.ชี้ขาดเลือกตั้ง2ก.พ.โมฆะหรือไม่
ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเอกฉันท์ ให้ส่งคำร้องศาลรัฐธรรมชี้ขาดเลือกตั้ง2ก.พ. โมฆะหรือไม่ รองเลขาธิการฯ ยันประชุมสรุปผลไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา เตรียมแถลงเป็นทางการ 7 มี.ค.นี้
จากกรณีนายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การจัดการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ.2557 ที่ผ่านมา ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และให้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่โดยเร็ว ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 (1) (ค) ประกอบมาตรา 245 ไปเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมานั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ล่าสุดคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาสตราจารย์ศรีราชา เจริญพานิช และศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของ นายกิตติพงศ์ และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา เป็นโมฆะหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำร้องของนายกิตติพงศ์ ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การจัดการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ.2557 เป็นโมฆะ มีเหตุผลหลัก 5 ประการ มีใจความโดยสรุป ดังนี้
1.การเลือกตั้งทั่วไปมิได้กระทำขึ้นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เนื่องจาก 28 เขตเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ไม่มีผู้สมัครทำให้การเลือกตั้งทั่วไปมี 2 วัน วันแรกมี 347 เขตเลือกตั้ง อีกวันมี 28 เขตเลือกตั้งซึ่งกรณีดังกล่าว นอกจากขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ยังขัดกับหลักการของประชาธิปไตยแบบผู้แทน และย่อมส่งผลให้ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งต่างวาระกัน มีฐานทางกฎหมายและความชอบธรรมของการเป็นผู้แทนที่แตกต่างกัน
2.การดำเนินการรับสมัครเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป มิได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม จากกรณีรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองซึ่งไม่สามารถเข้าไปยังสถานที่รับสมัครได้ ได้ไปแจ้งความไว้ที่กองปราบหรือ สน.ดินแดง ซึ่งไม่ใช่สถานที่รับสมัครเลือกตั้งตามที่ กกต.ได้ประกาศให้ทราบล่วงหน้าไว้ กรณีดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติให้ตัวแทนพรรคการเมืองได้สิทธิในการจัดสลากหมายเลข ทั้งที่มิได้ดำเนินการตามประกาศของ กกต. นอกจากนี้ ในการรับสมัคร ส.ส.เขต บางจังหวัดยังมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้มีจำนวนถึง 16 เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว
3.การนับคะแนนเสียงเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งหลังสิ้นสุดระยะเวลาลงคะแนนในวันที่ 2 ก.พ.2557 ทำให้ผู้ที่จะมาเลือกตั้งหลังวันดังกล่าวทราบผลการเลือกตั้งก่อนการลงคะแนน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงและเกิดความไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ขัดต่อหลักความเสมอภาคและโอกาสที่ทัดเทียมกันของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
4.การให้นับคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 ทำให้การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งทั่วไปที่เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 20 และ 27 เม.ย.2557 เป็นอันไร้ผลเพราะบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะกลายเป็นบัตรเสียตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง
และ 5.กกต.ปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลและที่มีสมาชิกดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะรัฐมนตรี จากกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 4 จังหวัด โดยมีการออกประกาศหลายฉบับที่มีผลโดยตรงต่อการทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง
ต่อมาเวลา 16.40 น. นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีการประชุมและพิจารณาเรื่องนี้ ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2557 แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดผลการประชุม เพราะจะมีการเปิดแถลงข่าวเป็นทางการในวันที่ 7 มีนาคม นี้ เวลา 10.00 น.