“สตง.”จี้“สลน.”ทบทวนจ่ายเงินจ้าง“มติชน-สยามสปอร์ต”จัดอีเวนต์240ล.
"สตง." ร่อนหนังสือด่วน จี้ “สลน.” ทบทวนจ่ายเงิน “มติชน-สยามสปอร์ต” จัดโรดโชว์สร้างอนาคตประเทศ 240 ล้าน พร้อมแจงขั้นตอนว่าจ้างเอกชนรับงาน
กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลน.) เสนอและอนุมัติให้ สลน.ลงนามในสัญญากับเอกชน ก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวด เพื่อให้สามารถจ่ายเงินให้กับบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) รวมวงเงินทั้งสิ้น 240 ล้านบาท ที่ได้รับจ้างในการดำเนิน โครงการโรดโชว์สร้างอนาคตประเทศไทย ไทยแลนด์ 2020 ทุกภาคทั่วประเทศ จำนวน 10 จังหวัด
แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.ได้ทำหนังสือแจ้งถึง สลน. เพื่อขอให้ทบทวนการจ่ายเงินว่าจ้างจัดงานประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวให้กับบริษัทเอกชนทั้งสองรายดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นวัตถุประสงค์หลักในการจัดงานประชาสัมพันธ์ดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ปรากฎผลชัดเจนว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาหรือไม่
นอกจากนี้ กระบวนการว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามารับงานนี้ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น โดยเฉพาะการสืบราคางานจากบริษัทเอกชนเพียงรายเดียว จึงขอให้ สลน.ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงกระบวนการขั้นตอนการดำเนินงานในชั้นนี้ด้วย
ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รายงานข่าวว่า นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2557 มีมติเห็นชอบให้ สลน.ลงนามในสัญญากับเอกชน ก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวด เพื่อให้สามารถจ่ายเงินให้กับบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) 100 ล้านบาท และบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) 100 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 200 ล้านบาท ที่ได้รับจ้างในการดำเนิน โครงการโรดโชว์สร้างอนาคตประเทศไทย ไทยแลนด์ 2020 ทุกภาคทั่วประเทศ จำนวน 10 จังหวัด
เบื้องต้นมีรายงานข่าวว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลติดขัดการจ่ายเงินงบให้แก่โครงการโรดโชว์ดังกล่าว เนื่องจากกรอบโครงการกำหนดไว้ 12 จังหวัด แต่เมื่อเริ่มดำเนินการไปได้เพียง 2 จังหวัด ได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ไม่สามารถใช้ได้ทันภายในวันที่ 1 ต.ค. 2556 ขณะที่โครงการมีความจำเป็นเร่งด่วน การดำเนินการช่วงแรก 2 จังหวัดนำร่องทาง สลน.จึงขอจัดสรรจากงบประมาณปี 2556 งบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 40 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดจ้างดำเนินโครงการ
ส่วนการจัดงานในอีก 10 จังหวัดที่เหลือ ได้ลงนามในหนังสือสั่งจ้างในวันที่ 11 ต.ค.2556 ซึ่งเป็นวันที่งบประมาณ ปี 2557 ประกาศใช้ แต่การเซ็นสัญญาจ้างดังกล่าวไปทำในช่วงก่อนที่สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบในส่วนดังกล่าวให้ในวันที่ 15 ต.ค.2556 จึงเป็นการดำเนินการไปก่อนที่จะได้รับงบประมาณ ซึ่งผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535
อย่างไรก็ดี สลน.ได้ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง เพื่อขออนุมัติลงนามในสัญญาก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวด เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน โดย สลน.จะต้องนำเสนออนุมัติต่อ ครม.ขณะที่คณะกรรมการว่าด้วยพัสดุ กรมบัญชีกลาง เห็นว่าเพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ราชการ จึงผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ ให้ สลน.เป็นกรณีเฉพาะราย แต่เนื่องจากกรณีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจ จึงต้องนำเสนอให้ ครม.เป็นผู้อนุมัติ