“ในหลวง” พระราชทานชื่อรากฟันเทียม “ข้าวอร่อย” ช่วยผู้สูงอายุด้อยโอกาส
5 สถาบันวิทยาศาสตร์ร่วมพัฒนารากฟันเทียมในโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ช่วยผู้สูงอายุด้อยโอกาสที่มีปัญหาฟันปลอมกว่า 1 หมื่นราย ชี้เทคโนโลยีใหม่ราคาถูกกว่านำเข้า 10 เท่า กำลังประสานให้แรงงานในระบบประกันสังคม และคนจนบัตรทองเบิกได้
วันที่ 24 มิ.ย. 54 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.)ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง (แอดเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ วท. ร่วมกับสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อรากฟันเทียม“ข้าวอร่อย” ในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่ากระทรวงฯได้ขอพระราชทานชื่อรากฟันเทียมที่ใช้ในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ พระองค์ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อรากฟันเทียมว่า “ข้าวอร่อย” เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 54 ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ผู้สูงอายุด้อยโอกาสที่มีปัญหาในการใส่ฟันปลอม
“หลังจากได้ฝังรากฟันเทียมแล้ว ผู้สูงอายุรับประทานและเคี้ยวอาหารได้ดี ส่งผลให้สุขภาพกายใจดีขึ้น เป็นไปตามพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตรัสว่า ’เวลาไม่มีฟันกินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง’ จึงทำให้พสกนิกรเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ปัจจุบันให้บริการผู้สูงอายุกว่า 10,000 รายแล้ว โดยใช้งบไม่ถึง 200 ล้านบาท” ดร.วีระชัยกล่าว
ผศ.นพ.วิจิตร ธรานนท์ ผอ.แอ็ดเทค กล่าวว่า เทคโนโลยีรากฟันเทียมนั้นเกิดจากการวิจัยและพัฒนา โดยความร่วมมือระหว่าง แอดเทค ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และคณะทันตแพทย์ 3 สถาบัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่การออกแบบรูปร่างของรากฟันเทียม จนกระทั้งไปทำการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์และมนุษย์
“เมื่อดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนเพื่อนำไปผลิตตามมาตรฐานสากล สวทช.ได้ต่อยอดมาใช้ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ปี 2550 จากนั้นได้ส่งมอบให้ สธ. 25,000 ชุด เพื่อจัดหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาใส่รากฟันเทียมแก่ผู้สูงอายุในโครงการ ขณะนี้กำลังประสานงานกับสำนักงานประกันสังคม(สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพื่อผลักดันให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงาน มีโอกาสเบิกค่ารักษาได้ต่อไป” ผศ.นพ.วิจิตร กล่าว
ผศ.นพ.วิจิตร ยังกล่าวอีกว่า เทคโนโลยีรากฟันเทียมของไทยนั้นถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศถึง 10 เท่า และเทคโนโลยีดังกล่าวได้ต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์แล้ว และหากผู้สูงอายุรายใดใส่ฟันปลอมทั้งปาก และมีปัญหาเรื่องฟันปลอมหลวม สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ โดยติดต่อศูนย์เทคโนโลยีทางทันกรรมขั้นสูง สวทช. โทร 02-564-7000 ต่อ 1683,1396 หรือ โทร 0-2564 – 8000 .
ที่มาภาพ : http://www.cco.moph.go.th/dental/index.php?option=com_content&view=article&id=55&Itemid=59