"บรรเจิด" ยันศาล รธน.มีอำนาจวินิจฉัยคดีแก้รัฐธรรมนูญ
"บรรเจิด" เปิด 4 เหตุการณ์ ใช้พวกมากลากไปในสภาฯ ยันศาล รธน.มีอำนาจวินิจฉัยคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ชี้ ส.ส.คนใดไม่รับอำนาจศาล มีโอกาสถูกถอดถอน "กล้านรงค์" มองคำตัดสิน 20 พ.ย.ชี้ชะตาบ้านเมือง
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายบรรเจิด สิงคเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมเวทีเสวนาธรรมศาสตร์อภิวัฒน์ประเทศไทย ในหัวข้อ “เปิดมุมที่มองไม่เห็น : พวกมากลากไป จากลักหลับถึงสับขาหลอก”
นายบรรเจิดกล่าวว่า มีเหตุการณ์อยู่ 4 เหตุการณ์ในปัจจุบันที่แสดงให้เห็นถึงระบบพวกมากลากไปในรัฐสภาไทย (1) การแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. (2) การแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่เกี่ยวกันกับคำพิพากษาของศาลโลก และอาจเอื้อให้เกิดการเสียดินแดน (3) การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ (4) การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท
"ทั้งนี้ 4 เรื่องนี้ชัดเจนว่าเป็นพวกมากลากไป โดยผมเห็นว่าระบบเผด็จการที่น่ากลัวที่สุดคือ ระบบเผด็จการรัฐสภา เพราะเสื้อคลุมเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อในเป็นเผด็จการ ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับที่ตนเอ่ยถึงนี้ ต้องประเทศที่เป็นเผด็จการเท่านั้นจึงจะสามารถลงมติผ่านร่างกฎหมายเหล่านี้ได้" นายบรรเจิดกล่าว
นายบรรเจิดกล่าวว่า ระบบเผด็จการตอนนี้เป็นมะเร็งร้ายของสังคม เป็นเผด็จการรัฐสภาโดยพรรคการเมืองนายทุน โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว. จะนำไปสู่เผด็จการอย่างสมบูรณ์แบบ นอกจากนั้น จะทำลายดุลยภาพในการตรวจสอบถ่วงดุล และรากเหง้าประการหนึ่งของเผด็จการรัฐสภาโดยระบอบพรรคนายทุนนี้ มีที่มาเนื่องจากรัฐธรรมนูญประเทศไทยไทย กำหนดว่าผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง นี่เอง คือกุญแจของการบังคับให้อยู่ในคอก เห็นได้จาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถ้าใครไม่ลงมติก็อาจถูกไล่ออก พรรคการเมืองในไทย จึงเปรียบได้กับบริษัทเอกชน
นายบรรเจิดกล่าวอีกว่า วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 นี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ตนเห็นว่าเป็นคำตัดสินที่จะชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยเราจะถอยหลังจากการเป็นราชอาณาจักรไปสู่การเป็นสาธารณรัฐทักษิณหรือไม่ และตอนนี้ การที่มีผู้ไม่ยอมรับอำนาจศาล มีการบอกว่าศาลไม่อาจก้าวล่วงพระราชอำนาจนั้น แต่ผมขอบอกว่าศาลมีอำนาจวินิจฉัยตาม มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตราดังกล่าวมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่านายกรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใด ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักกฎหมาย
"ซึ่งวันนี้ ผมเห็นว่าความผิดทั้งหมดสำเร็จแล้ว เนื่องจากมี ส.ส.จำนวนหนึ่งประกาศไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ การที่บุคคลเหล่านั้นแสดงออกมาแบบนี้ ผมเห็นว่าควรนำไปสู่การถอดถอนทั้งสภาเลย อีกทั้งมาตรา 291 บัญญัติว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นทำได้ แต่ต้องไม่กระทบรูปแบบของรัฐและต้องไม่กระทบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจในการตรวจสอบว่าการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้นขัดกับหลักดังกล่าวหรือไม่" นายบรรเจิดกล่าว
ส่วนประเด็นการอภิวัฒน์ประเทศโดยประชาชน นายบรรเจิดกล่าวว่าขณะนี้ประชาชนกำลังเข้าสู่การอภิวัฒน์ในขั้นที่มีสำนึกที่ตื่นรู้ กล้าลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้านรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ซึ่งตนเห็นว่า การมีสำนึกที่ตื่นรู้นี้ มีความหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าการปฏิวัติ จากนี้ สังคมต้องก้าวไปสู่การอภิวัฒน์ในขั้นต่อไปคือการทำให้รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม พ้นไปจากอำนาจ
ด้านนายกล้านรงค์กล่าวว่า วัฒนธรรมพวกมากลากไปถือเป็นกับดักประชาธิปไตย เพราะคำว่าพวกมากลากไปกับเสียงข้างมากนั้นต่างกัน ความหมายของประชาธิปไตยแม้จะถือเสียงข้างมาก แต่เสียงข้างมากควรต้องรับฟังเสียงข้างน้อย เสียงข้างมากต้องมีหลักของจริยธรรมและนิติธรรม หลักนิติธรรมคือหลักพื้นฐานของกฎหมาย ดังที่มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ได้บัญญัติไว้ในแนวนโยบายแห่งรัฐ ถ้ากระบวนการใดๆ ขัดต่อหลักนิติธรรมนั้น ใช้ไม่ได้ เพราะหลักนิติธรรมคือหัวใจของกฎหมาย
"อุปสรรคประการหนึ่งของสังคมไทยที่เอื้อให้เกิดพวกมากลากไปคือกระบวนการยุติธรรมไม่เข้มแข็ง ดังนั้น ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 นี้ จะถือเป็นวันพิสูจน์ว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยเข้มแข็งหรือไม่ ผมอยากจะดูว่าศาลรัฐธรรมนูญกล้าหรือไม่ ซึ่งคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะพิสูจน์ว่าบ้านเมืองจะก้าวไปในทิศทางใด" นายกล้านรงค์