ผอ.การคลังสภาฯ แจง กมธ.ป.ป.ช. ปมจัดซื้อ “นาฬิกาแพง”
ผอ.การคลังของสภาฯ เข้าแจง กมธ.ป.ป.ช. ปมจัดซื้อ “นาฬิกาแพง” ยันโปร่งใส เผยซื้อแค่เรือนละ 4 หมื่น ไม่ใช่ 7.5 หมื่น ปัดยื้อเอกสารเตรียมส่งให้สัปดาห์หน้า ส.ส.ปชป.เปิดชื่อ "ผอ.ปุ๋ย-สมคิด" อยู่เบื้องหลัง
(สุนทร รักษ์เมือง)
วานนี้ (22 ส.ค.2556) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนข้อให้ตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ถูกวิจารณ์ว่ามีสูงผิดปกติ โดยมีการเชิญ น.ส.สุนทร รักษ์เมือง ผอ.สำนักการคลังและงบประมาณ มาชี้แจง
น.ส.สุนทร กล่าวว่า ที่มาชี้แจงต่อ กมธ.วันนี้ยังไม่ได้นำเอกสารมา เนื่องจากต้องการให้ กมธ.ระบุให้ชัดเจนว่าต้องการเอกสารใดบ้าง เพราะเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างมีเป็นจำนวนมาก ยืนยันว่าไม่ได้กั๊กเอกสารเพราะส่วนตัวก็ต้องการให้ กมธ.ช่วยตรวจสอบจะได้พ้นผิดจากการถูกกล่าวหาด้วย ยืนยันว่าจะนำเอกสารทั้งหมดที่ กมธ.ต้องการมามอบให้ภายในสัปดาห์หน้า
สำหรับการจัดซื้อนาฬิกาน.ส.สุนทร กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อ กมธ.กิจการสภา ไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2547 แล้วเห็นว่านาฬิกาแต่ละเรือนของเขาในรัฐสภาเดินตรงกัน ต่างกับของเราที่ยังใช้การเปลี่ยนถ่ายทำให้นาฬิกาในรัฐสภาแต่ละเรือนเดินไม่ตรงกัน ส่งผลต่อการทำงานของคนในสภาโดยเฉพาะผู้ที่ต้องจดชวเลข เมื่อกลับมาจึงมีการคิดเรื่องการจัดซื้อนาฬิกาใหม่ แต่กว่าจะมีการตั้งโครงการจริงๆ ก็ปี 2554 และเพิ่งมาจัดซื้อได้ในปี 2556 ยืนยันว่าแต่ละเรือนไม่ได้มีราคาสูงถึง 7.5 หมื่นบาทอย่างที่เป็นข่าว แต่มีราคาแค่กว่า 4 หมื่นบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อนำไปรวมกับค่าอุปกรณ์และภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้การจัดซื้อนาฬิกามา 238 เรือน ต้องใช้งบถึง 14.9 ล้านบาท
เมื่อถามว่าการจัดซื้อนาฬิกาดังกล่าวใช้การประมูลหรือจัดซื้อวิธีพิเศษ น.ส.สุนทร กล่าวว่า ไม่ได้จัดซื้อวิธีพิเศษ ใช้การประมูลตามปกติ แต่ไม่ใช่อีอ็อคชั่น เพราะรัฐสภามีระเบียบของตัวเอง ทำให้ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ที่ว่าการจัดซื้อมูลค่าเกิน 2 ล้านบาทต้องใช้อีอ็อคชั่น
นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธาน กมธ. กล่าวว่า การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ มีใครสั่งให้ทำหรือไม่ เพราะได้ยินว่ามีข้าราชการในรัฐสภา มีตำแหน่งระดับ ผอ.ชื่อเล่น “ปุ๋ย” และคนที่ชื่อ “สมคิด” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งๆ ที่ไม่มีหน้าที่ หากเป็นไปได้อยากให้บอกข้อเท็จจริงให้หมด เพราะสิ่งที่คนสงสัยก็คือ รัฐสภาจะย้ายอยู่แล้ว ทำไมต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างอีก
น.ส.สุนทร กล่าวว่า เราไม่ได้ปกป้องใคร เพียงแต่ทำตามระเบียบ ทั้งนี้ สำนักการคลังและงบประมาณ ไม่ใช่ผู้ตั้งเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง เพราะจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งเรื่องเสนอเข้ามา สำนักการคลังและงบประมาณ มีหน้าที่เบิกจ่ายงบประมาณหากเห็นว่าเป็นไปตามระเบียบ
จากนั้น กมธ.แต่ละคนเริ่มต้นซักถามโครงการที่มีข้อครหาต่างๆ เช่นการปรับปรุงห้องประชุม กมธ.งบประมาณ น.ส.สุนทร กล่าวว่า เรื่องการปรับปรุงห้องประชุม กมธ.งบประมาณความจริงใช้งบเพียง 36 ล้านบาท ไม่ใช่ 38 ล้านบาท เหตุที่ต้องมีการปรับปรุงก็เนื่องจากมีขยะอยู่ใต้โต๊ะประชุมเยอะมาก เป็นแหล่งซ่องสุมของเชื้อโรค นอกจากนี้ การเดินสายไฟภายในไม่เรียบร้อยอาจทำให้เกิดอันตรายต่อ ส.ส. จึงคิดว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงก่อนที่จะมีการประชุม กมธ.งบประมาณ ปี 2557
ส่วนงบในการเช่าอาคารรัฐสภาประจำ จ.อุบลราชธานี ที่สูงถึง 8 ล้านบาท ในเวลาเพียง 3 ปี ทั้งๆ ที่เป็นอาคารเก่า น.ส.สุนทร กล่าวว่า เดิมติดต่อสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุบลราชธานีไว้แล้ว แต่จู่ๆ อบจ.อุบลราชธานีก็มาขอยกเว้นอย่างกะทันหัน ทำให้ต้องไปเช่าอาคารดังกล่าวแทนและยืนยันว่าไม่ได้ใช้งบถึง 8 ล้านบาท เพราะจ่ายค่าเช่าไปเพียงเดือนเดียว 2.5 แสนบาท และเวลานี้อยู่ระหว่างหาที่เช่าใหม่
นายสุพล ฟองงาม ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษา กมธ.กล่าวว่า อาคารนั้นเดิมเป็นศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทยประจำ จ.อุบลราชธานี หากไปเช่าเป็นอาคารรัฐสภาประจำ จ.อุบลราชธานี ตนก็สงสัยว่าแล้วคนจากพรรคประชาธิปัตย์จะกล้าเดินเข้ามาหรือไม่ ทั้งนี้ตนอยากเสนอให้สังคายนาการใช้งบประมาณของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ไม่ใช่ใครอยากใช้งบไปทำอะไรก็เดินไปบอกกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

