ทำตอนนี้อนาคตไม่เกิดปัญหา! เหตุผลแก้ รธน.ชั่วคราวเปิดช่องแก้ รธน.ใหม่
“…เป็นข้อสังเกตสมควรดำเนินการในขณะนี้ หากผัดผ่อนรอดำเนินการต่อไป สมมติ รอประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ค่อยปรับปรุงแก้ไข แม้โดยกลไกกฎหมายทำได้ แต่จะเกิดปัญหายุ่งยากขึ้น เพราะอย่างน้อยเป็นกฎหมายแล้ว การแก้ไขข้อความบางหมวด บางมาตรา ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อน เป็นภาระผูกพันอีกยืดยาว เป็นการใช้เวลา และกระทบกระเทือนเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง แต่ถ้าปรับปรุงแก้ไขเพราะเป็นประเด็นเล็กน้อยให้เสร็จสิ้นในขณะนี้ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงพิจารณาใหม่ น่าจะเป็นการชอบด้วยวิธีปฏิบัติทั้งปวง และน่าจะเหมาะสม ไม่เกิดความยุ่งยากขึ้น…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : คำชี้แจงหลักการและเหตุผลจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติกลับมาแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชกระแสรับสั่ง
----
การแก้ไขครั้งนี้มีหลักการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ใน 2 ประเด็น
ประเด็นแรก เพิ่มข้อความใหม่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในบางกรณี
ประเด็นที่สอง เกี่ยวกับการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีขอพระราชทานนำเอาร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯแล้ว กลับมาปรับปรุงแก้ไขในบางประเด็นอีกครั้ง แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯใหม่ภายในเวลาที่กำหนด
สำหรับเหตุผล เมื่อกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำมาเป็นลำดับ กระทั่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำเสร็จ นำให้ประชาชนออกเสียงประชามติ จนกระทั่งผ่านการออกเสียงประชามติ และ กรธ. ปรับปรุงแก้ไขตามคำถามพ่วงเสร็จแล้ว ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับรองถูกต้องแล้ว ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯถวาย และตกอยู่ในพระราชอำนาจที่จะพิจารณาภายใน 90 วัน
ในระหว่างเวลาดังกล่าว สำนักราชเลขาธิการแจ้งรัฐบาลว่า มีข้อสังเกตบางประการ ซึ่งสมควรที่รัฐบาลรับไปดำเนินการ รัฐบาลพิจารณาข้อสังเกตนั้น ร่วมกับ คสช. แล้ว เห็นว่า เป็นข้อสังเกตสมควรดำเนินการในขณะนี้ หากผัดผ่อนรอดำเนินการต่อไป สมมติ รอประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ค่อยปรับปรุงแก้ไข แม้โดยกลไกกฎหมายทำได้ แต่จะเกิดปัญหายุ่งยากขึ้น เพราะอย่างน้อยเป็นกฎหมายแล้ว การแก้ไขข้อความบางหมวด บางมาตรา ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อน เป็นภาระผูกพันอีกยืดยาว เป็นการใช้เวลา และกระทบกระเทือนเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง แต่ถ้าปรับปรุงแก้ไขเพราะเป็นประเด็นเล็กน้อยให้เสร็จสิ้นในขณะนี้ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงพิจารณาใหม่ น่าจะเป็นการชอบด้วยวิธีปฏิบัติทั้งปวง และน่าจะเหมาะสม ไม่เกิดความยุ่งยากขึ้น
ปัญหามีอย่างเดียวว่า ร่างรัฐธรรมนูญเหมือนร่างกฏหมายทั้งหลาย เมื่อทูลเกล้าฯแล้ว ตกอยู่ในพระราชอำนาจ รัฐบาลหรือผู้ถวาย จะขอพระราชทานนำกลับมาปรับปรุงได้อย่างไร เรื่องนี้ ถ้าจะทำให้ได้ หรือทำให้ถูกต้อง คือใช้อำนาจในทางกฎหมาย เพราะทุกอย่างถูกตรึงในข้อกำหนดกฎหมาย เช่น ถวายเมื่อใด พระราชอำนาจพิจารณากำหนดเท่าใด เมื่อถวายแล้วพระราชอำนาจเป็นอย่างไร เมื่อทำข้อกฎหมายให้กระจ่างแจ้ง รัฐบาลนำกลับมาปรับปรุงแก้ไข น่าจะดำเนินการได้ โดยไม่มีข้อขัดข้องทางกฎหมาย
ส่วนปัญหาผู้นึกในใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว การขอพระราชทานกลับมาปรับปรุงแก้ไขนั้น จะเป็นการชอบด้วยเหตุผลประการใด ต้องเรียนว่า ขั้นตอนทุกอย่างมีกำหนดอยู่ การดำเนินการในชั้น กรธ. เป็นเรื่องของการร่าง เมื่อร่างเสร็จนำไปออกเสียงประชามติ เป็นเรื่องของประชามติ เมื่อประชามติออกมาแล้ว กรธ. จะต้องปรับปรุงใหม่อย่างไรให้เป็นตามประชามติ กรธ ก็ดำเนินการไป เมื่อดำเนินการเสร็จ รัฐบาลจะแก้ไขไม่ได้ นำทูลเกล้าฯ เมื่อถวายแล้ว ตกอยู่ในพระราชอำนาจในฐานะองค์พระประมุข และผู้ทรงลงพระปรมาภิไธย และทราบกันทั่วไปว่า ร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติ ที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจพิจารณา หากไม่ทรงเห็นชอบด้วย จะพระราชทานกลับคืนทั้งฉบับ ดังที่เคยเกิดมาแล้วในอดีต เมื่อสมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ก็เคยมีกรณีพระราชทานกลับคืนโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย เป็นเรื่องสภาคิดอ่านดำเนินการอย่างไรต่อไป ถ้าเห็นพ้องด้วยพระราชดำริ ก็ทำให้ร่างนั้นตกไป หรืออีกทางทูลเกล้าฯถวาย และโปรดเกล้าฯทรงลงพระปรมาภิไธยตามนั้น ก็นำไปประกาศใช้เป็นกฏหมาย
ปัญหามีอยู่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ถ้าจะโปรดเกล้าฯไปตามนั้นก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ถ้าไม่โปรดเกล้าฯ ก็เป็นปัญหาอยู่ หนทางการปรับปรุงแก้ไขควรจะมี เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินการได้โดยเรียบร้อย ล้วนแต่เป็นชั้นพระราชอำนาจทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นรัฐบาลและ คสช เห็นว่า ควรทำเสียบัดนี้ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และถูกกฎหมาย โดยถือว่าทั้งหมดตกอยู่ในชั้นการใช้พระราชอำนาจ คือการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ให้มีข้อความให้อำนาจความชอบธรรมแก่นายกรัฐมนตรี ที่จะขอรับพระราชทานกลับคืนมาปรับปรุงแก้ไข
แต่ถ้าเขียนลอย ๆ อย่างนี้ เป็นที่ครหาได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ นายกรัฐมนตรีจะรับพระราชทานมาปรับปรุงแก้ไขตามใจชอบหรืออย่างไร ในเมื่อเป็นการใช้พระราชอำนาจ ดังที่สำนักราชเลขาธิการแจ้งมา ควรเป็นเรื่องที่ คณะรัฐมนตรีหรือใครก็ตามพระราชทานกลับคืนมา แก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นที่เป็นไปตามหนังสือที่สำนักราชเลขาธิการแจ้งมาเท่านั้น หากจะมีอย่างอื่นพาดพิงออกไป ก็เก็บประเด็นตกค้างให้เสร็จสิ้น หาควรบังอาจปรับปรุงเรื่องอื่นที่ไม่อยู่ในข้อสังเกตแต่ประการใดไม่ ด้วยเหตุนี้จึงควรแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในวันนี้ เพื่อทำให้เกิดอำนาจ และความชอบธรรมพระราชทานกลับมาปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว ต้องมีขั้นตอนรอบคอบ รัดกุม ปรากฏในตัวร่าง บางอย่างในวิธีปฏิบัติ
เมื่อจะมีการแก้ไขในส่วนนี้อยู่แล้วคณะรัฐมนตรีได้ทราบจากหนังสือที่สำนักราชเลขาธิการแจ้งมาอยู่แล้วว่า ข้อสังเกตที่พระราชทานมานั้นมีเรื่องอะไรบ้าง เรื่องใดที่จัดการให้ลุล่วงเลยในเวลานี้ โดยไม่ต้องรอพระราชทานกลับคืนมา ก็ควรใส่ให้ปรากฏ เช่น ในการเพิ่มข้อความวรรคสาม มาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เดิม มี 2 วรรค วรรคแรกพูดถึงการปกครองของไทยที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วรรคสอง นำหมวดพระมหากษัตริย์จากรัฐธรรมนูญปี 2550 มาใช้บังคับ แต่เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นกระทบกับส่วนของการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะรื้อข้อความวรรคสอง ก็เท่ากับรื้อหมวดพระมหากษัตริย์ ดังนั้นควรทำแบบถาวรในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติที่รับมาแก้ในอนาคตมากกว่า เพื่อแก้ข้อขัดข้องชั่วคราว และเวลาไม่นานนัก ควรทำพอสมควร จึงเพิ่มความวรรคสาม เกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คณะรัฐมนตรีและ คสช เห็นเป็นความจำเป็นต้องแก้ไข จึงเสนอต่อ สนช. ในวันนี้
อ่านประกอบ :
พระราชกระแสรับสั่งให้แก้ รธน. ใหม่หมวดพระมหากษัตริย์-เข้าวาระ สนช. 13 ม.ค.
เปิดหลักการ-เหตุผลแก้ รธน.ชั่วคราว-มติวิป สนช.ให้สภาใช้ดุลพินิจโหวต
เปิดร่างรธน.2557 ให้นำร่างฉบับ 'มีชัย' แก้ไขเรื่องพระราชอำนาจ-ตั้งผู้สำเร็จราชการ
ตั้ง กก.พิเศษแก้ร่าง รธน.ใหม่ ใช้คนจากกฤษฎีกา-'วิษณุ'ยันไม่แตะการเมือง
‘วิษณุ-มีชัย-บวรศักดิ์-พรเพชร-อสส. -ปธ.ศาลฎีกา’นั่ง กก.พิเศษแก้ร่าง รธน.ใหม่
กางมาตรา 5-17-182 รธน.ใหม่ ก่อนนายกฯสั่งแก้ให้เป็นไปตามพระราชกระแสรับสั่ง
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายวิษณุ จาก sanamkhao