เล่าฉากหลัง กรณี 'บ้านหรูบนเขา' อ่าวทุ่งทราย อ.ปะทิว
".. เรื่องนี้ก็เหมือนกับอีกหลายเรื่องในประเทศนี้ที่เจ้าหน้าที่รัฐ (บางคน) พร้อมจะหลับตาหนึ่งข้าง (หรือ 2 ข้าง) ให้กับบุคคลผู้มีอำนาจเงิน และอำนาจทุน ที่กระทำผิดอยู่เสมอ เป็นวงเวียนวัฎจักรเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก .."
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวที่เผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักข่าวอย่างน้อย 2 แห่ง อ่านแล้วรู้สึกหดหู่เป็นอย่างยิ่ง คือ กรณีเจ้าหน้าที่ทหาร บก.ควบคุม มทบ.44 เข้าไปตรวจสอบบ้านพักตากอากาศ 2 หลัง ริมชายหาดอ่าวทุ่งทราย หมู่ 3 ต.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร มูลค่านับร้อยล้านบาท เนื่องจาก ครอบครองโดยมิชอบ
ที่บอกว่าหดหู่ก็เพราะ บ้านและที่ดินผืนงามแปลงนี้อยู่บนเชิงเขา ผู้เขียนเคยขึ้นไปสำรวจ และนำข้อมูลมาเผยแพร่ใน ‘ประชาชาติธุรกิจ’ เมื่อสิบปีก่อน หลังจากนั้น นำไปสู่การตรวจสอบของหน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับจังหวัด มี กรมที่ดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในยุคนั้น ผู้อำนวยการสำนักปราบทุจริตในภาครัฐ ปัจจุบันเป็นผู้บริหารระดับสูงใน ป.ป.ช.
ไม่คิดว่าจะต้องมาเขียนเรื่องนี้อีกครั้ง เมื่อเวลาผ่านมา 12 ปี
ความเป็นมาของเอกสารสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้ ผู้ครอบครอง ‘สกุลดัง’ มีกรรมสิทธิ์เป็น น.ส.3ก. จำนวน 2 แปลง แปลงแรกเลขที่ 1472 ออกมาจาก ส.ค.1 จำนวน 3 ใบ ได้แก่ เลขที่ 13, 125 และ 124 อ้างว่า ได้ซื้อที่ดินและครอบครองทำประโยชน์ โดยการปลูกมะม่วงหิมพานต์ และปาล์มน้ำมัน มาตั้งแต่ปี 2531 ยื่นขอออก น.ส. 3 ก. เมื่อ วันที่ 21 ม.ค. 2545
จากการตรวจสอบเอกสารการรังวัดที่ดิน การพิสูจน์สิทธิ์ และ ส.ค.1. ที่นำมาเป็นหลักฐาน พบว่า ผ่านความเห็นของนายช่างรังวัด ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เจ้าของที่ดินข้างเคียง เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอ และนายอำเภอ กระทั่ง ออกมาเป็น น.ส.3ก. เลขที่ 1472 เนื้อที่ 8-0- 83 ไร่ เมื่อ 10 เม.ย. 2545 อีกแปลง น.ส.3 ก.เลขที่ 1743 เนื้อที่ 9-3-73 ไร่
เอกสารมีข้อพิรุธหลายประการ
ระยะเวลาในการยื่นขอเอกสารสิทธิ์จนถึงอนุมัติ ใช้เวลาไม่ถึง 3 เดือน เมื่อเทียบกับที่ดินแปลงอื่นใช้เวลานับปี บางคนก็ไม่ได้
‘เจ้าของที่ดินข้างเคียง’ ตามที่ระบุใน ส.ค.1 กับ ‘เจ้าของที่ดินข้างเคียง’ ในวันที่เจ้าหน้าที่รังวัดที่ดิน (ปรากฎในเอกสารการรังวัด) ‘ไม่ตรงกัน’
นอกจากนี้ ยังพบข้อพิรุธในแบบบันทึกถ้อยคำของผู้ยื่นขอออก น.ส.3ก. เจ้าของที่ดินผู้ขอออก แค่ลงลายมือชื่อ แต่การกรอกข้อความอื่นในเอกสาร เป็นลายมือคล้ายบุคคลอื่น
สรุปก็คือ ส.ค.1 ที่นำมาเป็นหลักฐาน เป็น ส.ค.1 ที่นำมาจากที่ดินแปลงอื่นมาสวมสิทธิ์ หรือเรียกกันว่า ‘ส.ค.1 บิน’ ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่บรรดาแลนด์ลอร์ดชอบใช้
เมื่อ น.ส.3ก. ออกโดยมิชอบ โฉนดที่ดินที่ออกจาก น.ส.3ก. ก็โดยมิชอบตามไปด้วย
ครั้งที่ผู้เขียนเดินทางเข้าไปในพื้นที่ เป็นช่วงปลายเดือนเมษายน 2547 (จากภาพถ่ายเป็นวันที่ 28-29 เม.ย. 2547) บริเวณนั้นโดยรอบเป็นป่าพรุ ป่าชายเลน ส่วนที่ราบ มีต้นไม้ขนาดเล็ก เป็นสวนปาล์ม และยังเป็นต้นเล็ก ๆ ถนนเป็นทางลูกรังปนดิน แต่บริเวณที่เป็นบ้านพักหลังนี้ ทางขึ้นค่อนข้างสูงชัน ต้องเดินเท้า มีรั้วล้อม ลักษณะใช้รถขุดทำเป็นทางขึ้นไปจนถึงส่วนเป็นบ้านพัก สร้างบนเนินเขา มีจานดาวเทียม (ใครเป็นเจ้าของตอนนั้นแสดงถึงศักยภาพ) หันหน้าออกทะเล เมื่อมองลงไปจะเห็นชายหาดสวยงามอยู่เบื้องล่าง เมื่อกลับลงมา หากมองจากด้านล่าง จะไม่เห็นตัวบ้านบนเชิงเขาเพราะมีต้นไม้บดบัง
ความจริงไม่ใช่แปลงเดียว ที่ดินบริเวณนั้น มีบริษัทลูกของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เจ้าของโรงงานผลิตเหล็ก ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าไปกว้านซื้อนับพันไร่ เพื่อสร้างท่าเรือ โดยขยายอาณาจักรมาจาก อ.บางสะพาน เนื่องจาก พื้นที่ติดต่อกัน ตามนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน แต่ถูกกลุ่มคนในพื้นที่ คัดค้าน เกรงว่า หากมาสร้างที่ อ.ปะทิว จะทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งป่าพรุ มีทรัพยากรธรรมชาติสวยงาม
เจ้าของบ้านพักหลังนี้ เป็นนักวิชาการชื่อดังนามสกุลเดียวกับผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทใหญ่
เพราะฉะนั้น กระบวนการในการออก น.ส.3ก. ที่กลุ่มนี้กว้านซื้อจึงมีลักษณะคล้าย ๆ กัน ใช้ ส.ค.1 บิน มีข้อมูลยืนยันว่า ที่ดินแปลงหนึ่ง ส.ค.1 เนื้อที่ 25 ไร่ นำไปออก น.ส.3 ก. เลขที่ 1470 เนื้อที่ 42 ไร่ เพิ่มจากดิม 17 ไร่ (แปลงนี้เป็นของบริษัท)
พื้นที่ชายหาดอ่าวทุ่งทราย และใกล้เคียงยังเป็นธรรมชาติ ไม่มีที่พัก จะนอนค้างต้องหาคนรู้จัก หรือไม่ก็ต้องไปหาที่พักละแวกอื่น ราคาไม่แพง อาหารทะเลสดจากประมงพื้นบ้าน
หลังจากตกเป็นข่าว ป.ป.ช. ยุคบุกเบิก ตั้งทีมเข้าไปตรวจสอบสรุปว่า ออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ส่งเรื่องให้กรมที่ดินเพิกถอน พร้อมกับที่ดินแปลงอื่นในเครือกลุ่มทุนหลายแปลง กรมที่ดินก็ตั้งกรรมการตรวจสอบอีกชั้น กระทั่งอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนในปี 2548
เพิ่งรู้ว่า แม้ถูกคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ เจ้าของที่ดินแปลงนี้ก็ยังครอบครองเรื่อยมา ล้อมรั้ว ติดป้าย ‘ที่ดินส่วนบุคคล’ เสียด้วย
กรณีนี้หากเอาเวลาเป็นตัวตั้ง นับจากปี 2548 จนถึงขณะนี้กว่าทศวรรษ ถ้าการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ บ้านหลังนี้คงถูกรื้อถอน ตกเป็นสาธารสมบัติไปก่อนหน้านี้ ไม่โผล่ประจานความล้มเหลวของหน่วยงานภาครัฐ ในขณะนี้
เรื่องนี้ ก็เหมือนกับอีกหลายเรื่องในประเทศนี้ที่เจ้าหน้าที่รัฐ (บางคน) พร้อมจะหลับตาหนึ่งข้าง (หรือ 2 ข้าง) ให้กับบุคคลผู้มีอำนาจเงิน และอำนาจทุน ที่กระทำผิดอยู่เสมอ เป็นวงเวียนวัฎจักรเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
ป.ป.ช. ป.ป.ท. และหรือ ป.ป.ง. ไม่คิดเข้าไปติดตามตรวจสอบอีกรอบบ้างหรือครับ!