ไม้สักเหมือน DNA ของชาติ! ปธ.ออกแบบรัฐสภาใหม่แจงเหตุใดต้องใช้สร้าง?
“…ไม้สักเปรียบเสมือน DNA ของชาติไทยจะเห็นได้จากทั้งในด้านที่เป็นพื้นฐานงานศิลปะ,สถาปัตยกรรมและด้านภูมินิเวศน์เพราะต้นสักสามารถงอกงามอย่างสมบูรณ์ที่สุดในโลกได้ภายใต้พื้นดินแผ่นฟ้าเมืองไทยเท่านั้นจะเห็นได้จากการสร้างบ้าน, วัด, วัง ตลอดจนเครื่องเรือน และอุปกรณ์ทุกชนิดในวิถีชีวิตของคนไทยเรา ล้วนผูกพันกับไม้มาเกือบ 1,000 ปี วันไหนที่เราเลิกใช้ไม้ จิตวิญญาณงานศิลปะและสถาปัตยกรรมของเราก็แทบสูญสิ้นไปโดยสิ้นเชิง…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประธานคณะผู้ออกแบบโครงการรัฐสภาแห่งใหม่ (สงบ 1051) เขียนชี้แจงเหตุผลกรณีการใช้ไม้สักในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่จำนวน 2 พันต้น ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่เหมาะสม ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า อย่าเพิ่งดำเนินการใด ๆ และให้กำหนดมาตรการดูแลรักษาอย่างเข้มแข็งแล้ว
----
ถาม :งานออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ ได้ยินว่าใช้เสาไม้สักเป็นองศ์ประกอบสำคัญใช่หรือไม่
นายธีรพล นิยม :เป็นความจริงครับ
ถาม :มีเหตุผลหรือความจำเป็นอะไรต้องใช้ไม้สัก เหตุใดไม่ใช้วัสดุอื่นทดแทน ปัจจุบัน มีวัสดุให้เลือกมากมาย
นายธีรพล นิยม :แนวคิดในการใช้ไม้สักมาจากการที่เราทุกคนคงทราบว่า รัฐสภานั้น เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญที่สุดงานหนึ่งที่ทำหน้าที่แสดงออกถึงความเป็นชาติ และเอกลักษณ์ของชาตินั้นๆ ในกรณีของเรา ก็คือความเป็นไทย ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรม งานศิลปะ สถาปัตยกรรมเกือบทั้งหมดของชาติไทย มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับการใช้ไม้ งานสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าของเราล้วนมีไม้เป็นองศ์ประกอบสำคัญสูงสุดแทบทั้งสิ้น
ไม้สักเปรียบเสมือน DNA ของชาติไทยจะเห็นได้จากทั้งในด้านที่เป็นพื้นฐานงานศิลปะ,สถาปัตยกรรมและด้านภูมินิเวศน์เพราะต้นสักสามารถงอกงามอย่างสมบูรณ์ที่สุดในโลกได้ภายใต้พื้นดินแผ่นฟ้าเมืองไทยเท่านั้นจะเห็นได้จากการสร้างบ้าน, วัด, วัง ตลอดจนเครื่องเรือน และอุปกรณ์ทุกชนิดในวิถีชีวิตของคนไทยเรา ล้วนผูกพันกับไม้มาเกือบ 1,000 ปี
วันไหนที่เราเลิกใช้ไม้ จิตวิญญาณงานศิลปะและสถาปัตยกรรมของเราก็แทบสูญสิ้นไปโดยสิ้นเชิง
รัฐสภา คืองานสถาปัตยกรรมที่ต้องแสดงออกถึงความเป็นชาติ และมรดกทางด้านวัฒนธรรมอันงดงามของเรา เป็นงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งของชาติในรอบ 100 ปี ที่ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจนิติบัญญัติซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักในการอยู่ร่วมกันของผู้คนในบ้านเมืองอย่างสงบสุข จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอยู่บนรากฐานนี้ และมีDNA ที่ถูกต้อง ที่ส่งสารอันทรงคุณค่าถึงคนรุ่นลูกหลานต่อไป
ถาม :การใช้ไม้สักสร้างอาคาร ก็ต้องไปตัดไม้ทำลายป่า ไม่เสียดายหรือครับ ต้นไม้แต่ละต้นกว่าจะโตขึ้นมาก็ต้องใช้เวลา ทุกวันนี้ประเทศเราก็มีป่าเหลือน้อยอยู่แล้ว
นายธีรพล นิยม:เป็นความเข้าใจผิดอย่างมากครับ ข้อกำหนด (สเปค) ของแบบนั้น ระบุอย่างชัดเจน ว่าห้ามไปตัดไม้มาจากป่าธรรมชาติเด็ดขาด ไม้ที่ใช้ก่อสร้างรัฐสภาถูกกำหนดให้ใช้ไม้จากป่าปลูก หรือใช้ไม้เก่านำกลับมาใช้ใหม่ หรือไม้ของกลางที่เป็นสมบัติของรัฐที่ยึดมาได้เท่านั้น ย้ำว่าไม่มีการไปตัดไม้มาจากป่าธรรมชาติเด็ดขาด
ถาม : แม้แต่จะเป็นไม้จากป่าปลูก พวกเรารู้สึกหวงแหนไม่อยากให้ตัด
นายธีรพล นิยม :สังคมไทยเราถูกหลอกหลอนจากอดีตที่เราเคยมีไม้อุดมสมบรูณ์แต่ถูกล้างผลาญไปในช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้พวกเราที่มีสามัญสำนึกทุกคนรู้สึกไม่อยากเสียป่ามากไปกว่านี้ นั้นเป็นประเด็นที่เห็นตรงกัน ถ้าสืบดูประวัติของพวกเราคณะผู้ออกแบบ ท่านจะทราบว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอนุรักษ์ที่ต่อสู้เรื่องการจัดการที่ยั่งยืนมาค่อนชีวิตของพวกเรา
พวกเราจึงอยากแยกแยะประเด็นให้เห็นความจำเป็นที่ต้องใช้ไม้ในการสร้างงานสถาปัตยกรรม แต่ต้องเน้นว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ใช้หรือเลิกใช้ แต่อยู่ที่ความเข้าใจและการบริหารจัดการที่ยั่งยืนซึ่งเป็นสิ่งที่โลกในอนาคตของลูกหลานเราต้องการที่สุด
ถาม : ยืนยันว่าการใช้ไม้ในงานสถาปัตยกรรม คือทางออกที่ยั่งยืนของโลก
นายธีรพล นิยม : ครับ ไม่ว่าที่ไหนเมื่อมีการก่อสร้างก็จำเป็นต้องมีการใช้ ต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ วัสดุ เช่น ปูนซีเมนต์,หินธรรมชาติ,แร่ธาตุต่างๆที่นำมาแปรรูปเป็นเหล็ก กระจกและวัสดุอื่นๆล้วนแล้วแต่ต้องมีรอบในการฟื้นตัวนับล้านปี หรือบางอย่างถูกทำลายแล้วไม่อาจฟื้นตัวได้ตลอดไป
วัสดุสังเคราะห์ อื่นๆ ล้วนสร้างปัญหาตั้งแต่ขบวนการผลิตที่ทำลายชั้นบรรยากาศของโลก และเมื่อเลิกใช้งานก็จะเป็นขยะอยู่บนโลกนี้ เช่นพวกพลาสติกใช้เวลานับ 1,000 ปี ในการย่อยสลาย
ไม้เป็นวัสดุที่เป็นสุดยอดของวัสดุที่มีรอบการปลูกทดแทนเพียง 20-50 ปี เท่านั้นเมื่อนำมาใช้งาน
ผมเคยเห็นเรือนไทยบางหลังมีอายุ 100 ปี เมื่อเขาหมดอายุจะย่อยสลายกลายเป็นดิน ไม่ทิ้งปัญหาใดไว้บนโลกนี้ เราจึงสามารถปลูกไม้ไว้ใช้เหมือนกับเราปลูกข้าวไว้กินได้ เพียงแต่รอบจะยาวกว่า หากเข้าใจเรื่องนี้ อย่างถูกต้องเราก็สามารถทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากไม้ได้ในระดับชาติ ท้องถิ่นและครัวเรือนซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คนจนพึ่งตัวเองได้ในเรื่องที่อยู่อาศัย
ความคิดเรื่องต้องใช้ไม้ ต้องบริหารจัดการไม้ เพื่อรักษ์โลกนี้เป็นความคิดที่ก้าวหน้าที่สุดในการอนุรักษ์ และเป็นสากล เราจะเห็นได้จากประเทศที่เจริญแล้ว ล้วนเข้าใจและงานสถาปัตยกรรมที่ได้รับการรับรองเรื่อง Green ล้วนมีไม้เป็นวัสดุหลักที่สำคัญแทบทั้งสิ้น
ถาม :ไม้จากป่าปลูกสามารถแก้ปัญหานี้ได้จริงหรือ
นายธีรพล นิยม : แน่นอนครับ ไม้จากป่าปลูกมีหลักการจัดการที่ยั่งยืนมีวิชาการกำกับ มีรอบการปลูก มีรอบการตัด ซึ่งพวกเราเคยสอบถามความรู้นี้จาก อ.อ.ป (องศ์การอุตสาหกรรมป่าไม้) ได้รับคำยืนยันว่าภายใต้การบริหารจัดการพื้นที่ปลูกป่าประมาณ 100,000 ไร่ ของ อ.อ.ป. ซึ่งปลูกมามากว่า 50 ปี เรื่อยมาจะหมุนเวียนตัดปลูกและเป็นป่าที่เรานำไม้มาใช้งานได้ตลอดไป ที่จริงผมเห็นว่าเราควรมีมากกว่านี้อีกหลายเท่า เพื่อให้มีไม้ใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
ตอนที่เราออกแบบและจะเขียนข้อกำหนด(สเปค) ในการใช้ไม้ในโครงการนี้เพื่อให้สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ เราก็ได้เรียนปรึกษาท่านประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งขออภัยที่ต้องออกนาม คือ นางรตยา จันฑรเทียร ในฐานะที่เป็นมูลนิธิหลักของประเทศที่มีเจตจำนงในการรักษาป่ามายาวนาน ท่านก็กรุณาร่างแนวทางการออกข้อกำหนด(สเปค)มาให้ ยังจำได้ว่าท่านได้กำชับมาขอให้พวกเราช่วยกันรณรงค์ให้รัฐและเอกชนช่วยกันปลูกป่าให้มาก ๆ ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ซึ่งกลุ่มแปลนเราและกัลยาณมิตรได้ทำกิจกรรมปลูกและรักษาป่าภูหลงซึ่งมีพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ตลอดระยะเวลา 13 ปีแล้ว และยังมุ่งมั่นทำตลอดไปให้เป็นวัฒนธรรมขององศ์กร นอกจากนี้เราได้ร่วมกับมูลนิธิวันพฤกษ์,กลุ่มรักเมืองน่านและชาวชุมชนช่วยกันฟื้นฟูป่าเมืองน่านกว่า 1,000 ไร่ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วอีกทั้งร่วมมือกับองศ์กรต่างๆและชาวชุมชนหลายพื้นที่ในประเด็นนี้เสมอมา
ถาม : เหตุผลที่ว่า เราต้องใช้ไม้เพราะ 1.ไม้เป็นวัสดุที่ยั่งยืนและรอบอายุสั้นเหมาะสมที่สุดที่เราจะอยู่ร่วมกันกับโลกนี้อย่างเป็นมิตร 2.งานไม้เป็นรากฐานที่สำคัญและทรงคุณค่าของศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย 3.ไม้สักเป็น DNA ของชาติคือสามารถงอกงามได้สมบูรณ์ที่สุดในโลกเฉพาะพื้นแผ่นดินและสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยเท่านั้น แล้วยังมีเหตุผลอื่นอีกไหม
นายธีรพล นิยม :มีครับและสำคัญไม่แพ้ 3 ข้อที่กล่าวมา แต่ก่อนอื่นผมขอขยายความเรื่องศิลปะสถาปัตยกรรมไทย สักเล็กน้อย ว่าความเข้าใจผิดทำให้เรามีทัศนคติปฏิเสธการใช้ไม้ และเลิกใช้ไม้ในปัจจุบันทำให้การสืบสานศิลปกรรมไทย อาจอยู่ในภาวะวิกฤต ครูช่างที่ทำงานชั้นสูงเหล่านี้ที่สืบทอดวิชามาเกือบ 1,000 ปี ล้วนไม่เป็นที่ต้องการไม่มีคนรุ่นหลังอยากสืบทอด เพราะไม่รู้จะเรียนไปทำอะไร เมื่องานแบบนี้ไม่เป็นที่ต้องการ ใน 50 ปีมานี้จึงเกิดวิกฤตอย่างใหญ่หลวงในการสืบสานงานช่างไทย โดยเฉพาะระดับชาวบ้านช่างพื้นบ้านนั้น แทบจะสูญสิ้น แค่งานไม้พื้นฐานธรรมดาในปัจจุบันยังหาช่างที่มีทักษะและความรู้จริงแทบไม่ได้ ต่างจากชาติที่เขาเข้าใจ เช่น ญี่ปุ่น ที่เขารักษาศิลปะงานไม้ของเขาไว้ได้อย่างทรงคุณค่ายิ่ง
เรื่องนี้เป็นวิกฤตใหญ่ของชาติ ที่คนทั่วไปมองไม่เห็น ผมเชื่อว่าเมื่อเราคิดเลิกใช้ไม้ ในงานศิลปะ สถาปัตยกรรมของเรา วิชาช่างที่ดำรงเอกลักษณ์ความเป็นไทยในเรื่องไม้ก็จะสูญสิ้นไปเช่นกัน
ถาม :แล้วอีกข้อที่สำคัญมากคืออะไร
นายธีรพล นิยม :ทัศนะที่ปฏิเสธการใช้ไม้ ในการสร้างบ้านเรือน ของชาวบ้าน ชาวชนบท ทำให้ชาวบ้านสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องที่อยู่อาศัยและจะเป็นวิกฤตที่ชัดเจนได้อีก 20- 30 ปี ข้างหน้า
ในอดีตชาวชนบทพึ่งพาตนเองได้และไม่เคยเดือนร้อนมากเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะยังพอหาไม้มาสร้างบ้านเรือนได้และชาวบ้านก็มีวิชาช่างไม้ติดตัวทุกครอบครัว ที่จริงชาวบ้านไม่จำเป็นต้องไปตัดไม้ในป่า เพียงปู่ ย่า ตา ยาย ปลูกไว้ตามหัวไร่ ปลายนา หรือแบ่งที่ดินปลูกไม้ไว้สร้างบ้านรุ่นต่อรุ่น ลูกหลานก็ไม่เดือดร้อน
ปัจจุบันชาวบ้านปฏิเสธไม้ ไม่ปลูกไม้ไว้สร้างบ้าน การสร้างบ้านจึงเป็นเรื่องใหญ่เกินตัว ต้องซื้อวัสดุก่อสร้าง 100 % ต้องใช้เงินหลายแสน หลายล้านสำหรับบ้าน 1 หลัง ทั้งชาวชนบทที่อยู่ในภาคเกษตรกรและที่มาของแรงงานในเมือง ก็ประสบปัญหาเดียวกัน คือแม้ต้องใช้เวลาชั่วชีวิตเพื่อหาเงินมาสร้างบ้านสักหลังยังเป็นไปได้ยาก
แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เน้นให้พึ่งพาตนเองได้ เลี้ยงปลา ปลูกพืชไว้กินเหลือจึงขาย ซื้อให้น้อยที่สุดจะไม่มีวันเป็นจริงได้ ถ้าแต่ละครอบครัวต้องหาเงินหลายแสนหลายล้านบาทมาสร้างที่อยู่อาศัย แนวคิดที่ควรจะเป็นจึงจำเป็นต้องแบ่งที่ดินอีกส่วนหนึ่งเพื่อปลูกไม้ไว้สร้างบ้านเรือน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ถ้าเริ่มวันนี้จะเห็นผลก็อีก 30-40 ปี ข้างหน้า แต่ก็ยังดีกว่าสายเกินไป รัฐและพวกเราควรช่วยกันรณรงค์ให้ผู้คนเข้าใจ
ถาม :กลับมาที่รัฐสภา นายธีรพล นิยม ยืนยันเรื่องการใช้ไม้
นายธีรพล นิยม :ต้องขอแรงสนับสนุนจากผู้ที่เข้าใจช่วยกันอธิบายเพราะเรื่องที่เราทำนั้นสำคัญมากต่อเอกลักษณ์ (DNA) ของชาติไทย และเราใช้ไม้จากป่าปลูกเป็นวิถีทางที่ถูกต้องและยั่งยืนสำหรับประเทศ โลกและลูกหลานทุกคน
ถ้าเป็นเช่นนี้รัฐสภาก็จะเป็นหมุดหมายตัวแรกที่ใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับที่ “สัปปายสภาสถาน” จะได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นหมุดหมายในการรณรงค์เรื่อง“การเมืองต้องมีศีลธรรม”
----
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ว่า บริษัทผู้รับเหมามีความต้องการไม้สักขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว จึงได้ติดต่อขอซื้อจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ซึ่งเป็นเรื่องทางธุรกิจปกติ โดย ออป. ได้สำรวจสวนป่าทั่วประเทศ และพบต้นสัก 2,000 ต้น ที่มีขนาดเหมาะสม อยู่ในพื้นที่สวนป่าแม่หอพระ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง ที่ทาง ออป. ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ เพื่อปลูกสร้างสวนป่าสัก โดยยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตัดไม้แต่อย่างใด
“ใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนของ ออป. หมดอายุลงตั้งแต่ 24 ก.ค. 2558 และขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตใหม่ โดยการขออนุญาตจะต้องได้ความยินยอมจากคนในท้องถิ่นก่อน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการให้อนุรักษ์ไม้สักไว้ นายกฯ จึงได้มอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปดำเนินการในรายละเอียด เพื่อให้สวนป่าแม่หอพระกลับไปเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งต่อไปกรมป่าไม้จะสามารถอนุญาตให้ชุมชนใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งให้ดูแลเรื่องเงินชดเชยแก่ ออป. ตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ หากไม่อนุญาตให้ต่อสัญญา” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว (อ่านประกอบ : http://manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9590000072176)