'ส.นักข่าว-นักวิชาการสื่อ' เรียกร้องทบทวนการเฟซบุ๊กไลฟ์ผิดๆ (ไทยมุงออนไลน์)
"..คิดถึงญาติและครอบครัวของผู้ที่กำลังรับชมด้วยนะครับ ว่าจะรู้สึกอย่างไร อย่าขายความรุนแรงแบบสดๆ เลยครับ - อย่าถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายออกทีวี อย่ากดดันใครให้ต้องฆ่าตัวตายเพราะเรื่องราวบานปลายใหญ่โตเลยครับ.."
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2559 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง การรายงานข่าวล้อมจับผู้ต้องหาฆ่านักวิชาการ มรภ.พระนคร
ระบุว่า เหตุการณ์ล้อมจับผู้ต้องหาฆ่า 2 นักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร บริเวณโรงแรมสุภาพ ย่านสะพานควาย บ่ายวันนี้ มีผู้สื่อข่าวภาคสนามและสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ รายงานสดออกอากาศผ่านกล้องมือถือ (Facebook Live) โดยมีภาพผู้ต้องหาถือปืนจ่อศีรษะตนเอง ภาพที่เผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์และสื่อสังคมในลักษณะดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดเสียว และยังอาจเป็นตัวอย่างแก่เยาวชน รวมทั้งก่อนหน้านี้ มีการถ่ายภาพและรายงานทางยุทธวิธีของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุม ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจหากผู้ต้องหาขณะอยู่ในรถมีการติดตามข่าวสารที่อาจไปเพิ่มความเครียดให้ผู้ต้องหาอีกด้วย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอแจ้งมายังเพื่อนสื่อมวลชนร่วมวิชาชีพ โปรดใช้ความระมัดระวังในการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพโดยคำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชน และโปรดหลีกเลี่ยงภาพที่ผู้ต้องหาใช้ปืนจ่อศีรษะ หรือแม้แต่ภาพที่เห็นผู้ต้องหาขณะถือปืน ก็ควรหลีกเลี่ยงด้วยเช่นกัน
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
19 พ.ค.2559
---------
ขณะเดียวกัน นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อ ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กส่วนตัว ในช่วงเย็นวันที่ 19 พ.ค.2559 ระบุว่า ด่วนเลยนะครับ ฝากสื่อมวลชนและเพื่อนๆชาวเน็ตทุกคนครับ โปรดระมัดระวังการใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ ดังนี้
1. สื่อมวลชนที่ใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ "ถ่ายทอดสด" ภาพผู้ต้องหาที่ขู่ว่าจะฆ่าตัวตาย นั้นเสี่ยงต่อการ "ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล" และ ระวังผิดพ.ร.บ. การกระทำความผิดคอมพิวเตอร์ นะครับ
2. การถ่ายภาพแช่อย่างยาวนาน หากปรากฏให้เห็นจังหวะของการฆ่าตัวตาย (เช่น ฉากเอาปืนยิงศรีษะ) แล้วควบคุมภาพนั้นไม่ได้ เพราะเฟซบุ๊กไลฟ์ยังไม่มีตัวเซ็นเซอร์ภาพ กรณีนี้ผิดจริยธรรมในการเผยแพร่ภาพอุจาดหวาดเสียว
3. การถ่ายทอดสดเฟซบุ๊กไลฟ์ อาจยิ่งเป็นส่วนให้ผู้ชมเหตุการสดๆแสดงความคิดเห็นที่รุนแรง หยาบคาบ ปลุกปั่น ด้วยอารมณ์โมโหเกรี้ยวกราด และอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรม แทนที่จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง
4. การใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ กองบรรณาธิการจะควบคุมภาพและเนื้อหาข่าว คัดกรองสิ่งที่ไม่เหมาะออกไปได้ยาก ต่อไปอาจเป็นการสร้างพฤติกรรมการเลียนแบบอาชญากรรมได้ โดยเยาวชนและเด็กที่รู้ไม่เท่าทัน
บทบาทสื่อไม่ควรขยาย/ขายความรุนแรงด้วยการเรียกร้องความสนใจจากผู้ดูด้วยเรทติ้งที่อาจแลกด้วยชีวิตคน ที่สำคัญคือนโยบายของบริษัทเฟซบุ๊กไม่ส่งเสริมให้องค์กรสื่อ/หรือบุคคลทั่วไปถ่ายทอดสดเหตุการที่มีภาพรุนแรงถึงแก่ชีวิต หากสื่อละเมิดเงื่อนไขนี้ผู้ดูผู้ชมอาจร้องเรียนให้เฟซบุ๊กระงับการใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ขององค์การสื่อนั้นได้
"คิดถึงญาติและครอบครัวของผู้ที่กำลังรับชมด้วยนะครับ ว่าจะรู้สึกอย่างไร อย่าขายความรุนแรงแบบสดๆ เลยครับ - อย่าถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายออกทีวี อย่ากดดันใครให้ต้องฆ่าตัวตายเพราะเรื่องราวบานปลายใหญ่โตเลยครับ"
แต่ควรช่วยระงับ บรรเทาเหตุร้ายให้ลดลงไปด้วยดี
ปล. ผู้ชมผู้ใช้เฟซบุ๊กไม่ควรกลายเป็นไทยมุงออนไลน์ หรือผู้ยุยงปลุกปั่นความรุนแรงด้วยการกดไลค์ชื่นชอบ หรือแสดงความคิดเห็นในเชิงสนุกสนานหรือเพื่อความสะใจ