ไข 11 ข้อกังขา ‘ปานามา เปเปอร์ส ‘กับลูกค้า 21 รายในประเทศไทย
มีคำถามตามมามากมายทั้งจากสื่อมวลชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขุดคุ้ย และประชาชนทั่วไปที่รอติดตามข่าว คำถามเหล่านี้เป็นคำถามทำนองเดียวกันที่ผู้สื่อข่าวสมาชิก ICIJ ได้รับในหลายประเทศ
เพียงไม่ถึง 5 วัน ปรากฏการณ์ ปานามา เปเปอร์ส ก็สร้างผลสะเทือนเลือนลั่นต่อวงการเมือง เศรษฐกิจ และสื่อสารมวลชนระดับโลก จนทำเอานักการเมืองระดับสูงต้องหลุดจากเก้าอี้เป็นรายแรกคือ นายซิกมุนเดอร์ เดวิด กุนน์ลอจสัน นายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์ ตามมาด้วยสมาชิกระดับสูงขององค์กรอิสระต่อต้านคอรัปชั่นระดับโลก คือ นาย กอนซาโล เดลาวิอู ประธานองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติประจำประเทศชิลี ที่ทำงานเพื่อความโปร่งใสแต่กลับไปมีส่วนในบริษัทลับเสียเองถึง 5 บริษัท สร้างความอับอายให้องค์กรอย่างหาที่เปรียบมิได้
เมื่อโลกกระโดดรับข่าว ปานามา เปเปอร์ อย่างฉับพลัน ทำให้มีคำถามตามมามากมายทั้งจากสื่อมวลชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขุดคุ้ย และประชาชนทั่วไปที่รอติดตามข่าว คำถามเหล่านี้เป็นคำถามทำนองเดียวกันที่ผู้สื่อข่าวสมาชิก ICIJ ได้รับในหลายประเทศ จึงขอไขข้อกังขาเป็นรายประเด็นไป ดังนี้
1) ปานามา เปเปอร์ส คืออะไร: ปานามา เปเปอร์ส หรือ ปานามาลีก หรือรายงานปานามา คือการตีแผ่ข้อมูลการถือครองบริษัทนอกอาณาเขต (offshore company) ที่อยู่ในฐานข้อมูลของสำนักกฎหมายชื่อ มอสแซค ฟอนเซก้า (Mossack Fonceka) ที่เป็นบริษัทรับจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขตที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ปานามา และมีสาขาอยู่ใน 42 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
ฐานข้อมูลดังกล่าวเป็นฐานข้อมูลเรื่องการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ตกถึงมือของสื่อมวลชน โดยมีขนาดความจุ 2.6 เทราไบต์ มีเอกสารทั้งหมด 11.5 ล้านชิ้น ประกอบไปด้วยข้อมูลของบริษัทนอกอาณาเขตทั้งหมด 214,000 บริษัท โดยการขุดคุ้ยและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดของเอกสารที่ให้ชื่อว่า “ปานามาลีก” (Panama Leak) นี้เป็นความร่วมมือกันของผู้สื่อข่าวจำนวน 370 คนจาก 78 ประเทศ
2) ข้อมูลนี้ได้มาอย่างไร - ใครเป็นคนรายงานข่าว: ราวหนึ่งปีที่ผ่านมา แหล่งข่าวลึกลับใช้นามว่า จอห์น โด โทรศัพท์ถึงหนังสือพิมพ์ซูดดอยช์เซตุง (Süddeutsche Zeitung) ของเยอรมัน เพื่อส่งผ่านข้อมูลด้วยเหตุผลว่า “ผมอยากให้เปิดเผยอาชญากรรมพวกนี้ต่อสาธารณะ” ด้วยเหตุที่ข้อมูลนี้ใหญ่โตมหาศาลจนผู้รับปาดเหงื่อ เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรกับมันดี ทางนักข่าว ซูดดอยช์เซตุงที่เป็นสมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists) หรือ ICIJ ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรด้านข่าวสืบสวนสอบสวน ที่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา จึงส่งสารถึง ICIJ ให้เข้ามาช่วยกันโดยด่วน ทาง ICIJ ที่มีเครือข่ายสมาชิกอยู่ราว 200 คนทั่วโลก และมีประสบการณ์ประสานงานนักข่าวเพื่อรายงานข่าว
“ข้อมูลหลุด” ใหญ่ๆมาแล้วรวมถึงข้อมูลเรื่องบรรษัทข้ามชาติ จึงโดดร่วมรับงานช้าง อันเป็นที่มาของการประสานงานข่าวข้ามพรมแดนครั้งใหญ่ที่สุดในโลกในครั้งนี้ นักข่าวในเครือข่ายและนอกเครือข่ายถูกเชิญให้เข้าร่วมขบวน ตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูล และเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อที่เหมาะสมในประเทศของตน โดยเริ่มต้นเผยแพร่ข่าวในวันและเวลาเดียวกัน คือวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ในกรณีของประเทศไทย ติดตามได้ที่สำนักข่าวอิศรา
3) แล้วบริษัทนอกอาณาเขตคืออะไร ทำไมต้องเป็นเรื่องใหญ่โต : บริษัทนอกอาณาเขต หรือที่เรียกทับศัพท์ว่าบริษัทออฟชอร์ (offshore company) อธิบายคร่าวๆได้ว่าเป็นบริษัท หรือนิติบุคคลในรูปแบบอื่นๆเช่นทรัสต์ ที่ตั้งขึ้นในพื้นที่พิเศษที่มีกฎหมายธุรกิจแบบพิเศษ เช่นกฎหมาย International Business Company Act ของบริติชเวอร์จิน เป็นต้น
กฎหมายลักษณะนี้ในบางที่เปิดให้ยกเว้นภาษี หรือเก็บภาษีในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยรวมทั้งอนุญาตให้มีการปกปิดข้อมูลของบริษัท 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังสามารถมีโครงสร้างบริษัทที่ “ยืดหยุ่น” มากกว่าปกติ แต่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบได้ในกรณีพบเหตุไม่ชอบมาพากล
4) การเป็นผู้ถือครองบริษัทนอกอาณาเขตถือว่าผิดกฎหมายไหม: ไม่ผิด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายในพื้นที่พิเศษหรือกฎหมายในประเทศเราเอง แต่ในบางสังคมการที่บุคคลที่มีตำแหน่งสาธารณะไปมีบริษัทในลักษณะที่ปิดลับเช่นนี้ ถือเป็นพฤติกรรมไม่โปร่งใสที่ขัดกับหลักธรรมาภิบาล แม้จะยังไม่พบว่าบุคคลเหล่านั้นใช้บริษัทลับของตนเองอย่างผิดกฎหมาย ผลที่เกิดขึ้นคือการหลุดจากเก้าอี้ของนักการเมืองอย่างนายกฯไอซ์แลนด์เป็นต้น
5) แล้วอะไรที่ว่าผิด : ให้ลองคิดอย่างนี้ว่า บริษัทนอกอาณาเขตคือรถยนต์คันหนึ่ง การเป็นเจ้าของรถยนต์ไม่ผิดกฎหมาย การใช้รถตามปกติเช่นขับไปรับสาว หรือการจอดรถอยู่เฉยๆเพราะขี้เกียจขับ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่ถ้าวันดีคืนดีเจ้าของรถใช้รถไปรับจ๊อบขนแรงงานลอบเข้าเมือง หรือค้ายาบ้า ก็ต้องผิดกฎหมายเป็นธรรมดา ฉันใดฉันนั้น การใช้บริษัทนอกอาณาเขตในทางที่ผิดทำได้หลายประการ เช่น เป็นเครื่องมือในการเลี่ยงภาษี ฟอกเงิน ต้มตุ๋น ดังตัวอย่างที่เห็นในกรณีโกงกินหลายกรณีที่นักการเมืองบางประเทศเคลื่อนย้ายเงินทุจริตไปตามที่ต่างๆในโลกโดยผ่านบริษัทนอกอาณาเขต อย่างไรก็ตาม การด่วนกล่าวโทษผู้ถือครองบริษัทนอกอาณาเขตโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ อาจเป็นเหมือนด่วนประณามหนุ่มที่ขับรถไปจีบสาวว่าค้ายาบ้า ซึ่งท้ายที่สุดผู้ประณามจะสร้างความเสียหายเสียเอง
ส่วนรายละเอียดวิธีการใช้ในทางที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ให้ย้อนกลับไปอ่านข่าวสืบสวนสอบสวนของบ้านเราบางชิ้นที่ทำด้วยฝีมือไม่ด้อยกว่าฝรั่งมังค่า แล้วจะเข้าใจ..
6) เรื่องมีชื่อคนไทย 21 ราย ในปานามาเปเปอร์สใช่หรือไม่ใช่: ไม่ใช่ ตามแผนผังข้อมูลสาขา มอสแซค ฟอนเซก้า ทั่วโลกของ ICIJ ระบุว่า สำนักงานในประเทศไทยมี “ลูกค้า” จำนวน 21 ราย คำว่าลูกค้าอาจเป็นบุคคล หรือนิติบุคคล และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือสัญชาติไทย หรือมีที่อยู่ในประเทศไทย อาจเป็นอังกฤษ จีน หรือเวียดนามก็ได้ ในขณะเดียวกัน ลูกค้าที่เป็นคนไทยอาจไม่ใช้บริการมอสแซค ฟอนเซก้า ในประเทศไทย แต่อาจใช้ที่อื่น เช่นที่บริติชเวอร์จิน เป็นต้น
7) อ้าว.. แล้วชื่อคนไทยผู้ถือครองบริษัทนอกอาณาเขตที่ส่งกันไปมาตามเฟซบุ๊คหรือไลน์ มาจากไหน: ชื่อเหล่านี้บางชื่ออาจมาจากฐานข้อมูล offshore leaks ของ ICIJ ซึ่งเป็นข้อมูลจากการรายงานข่าวเก่าเมื่อกว่าสองปีที่ผ่านมา ที่เปิดให้สาธารณะเข้าค้นได้ แล้วสับสนกับ ปานามา เปเปอร์ส ที่ยังไม่มีการตีพิมพ์ชื่อใดๆในฐานข้อมูล ดังนั้น เมื่อไปถามเจ้าของชื่อเหล่านั้นว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับ ปานามา เปเปอร์ส หรือเปล่า แน่นอนคำตอบที่ได้คือไม่มี เพราะไม่มีจริงๆ ถ้าคนถามไม่เปลี่ยนคำถามใหม่ว่า “ท่านมี.. หรือเคยมีบริษัทนอกอาณาเขตหรือไม่”
(อ่านประกอบ : พบ 600 คนไทย-บิ๊กธุรกิจ-นักการเมืองตั้งบริษัทลับบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น-เคย์แมน)
8) แล้ว ICIJ จะตีพิมพ์ชื่อบุคคลใน ปานามา เปเปอร์ส ในฐานข้อมูลไหม: พ่อแม่พี่น้องไม่ต้องห่วง ในเดือนพฤษภาคม ICIJ จะตีพิมพ์รายชื่อบริษัทนอกอาณาเขตทั้งหมดที่มีอยู่ใน ปานามา เปเปอร์ส จำนวน 214,000 บริษัท รวมทั้งชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเหล่านี้ทั้งหมด โดยค้นได้จากฐานข้อมูล offshore leaks
9) แล้วรายละเอียดอื่นๆล่ะ: ICIJ จะไม่ตีพิมพ์ข้อมูลอื่นๆที่นอกเหนือไปจากรายชื่อคนและบริษัท เพราะข้อมูลดิบจำนวนมากใน ปานามา เปเปอร์ส เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
10) คำถามยอดฮิต “คือมีคนสงสัยว่าทำไมไม่มีชื่อคนอเมริกันในปานามา เปเปอร์ส” (ทำไม่มีแต่ปูตินรูปหล่อแห่งรัสเซีย และผู้นำจีนสุดเท่) : นั่นแน่.. ใครหนอที่สงสัย คำตอบ ณ.ปัจจุบันคือยังไม่ทราบ เมื่อถึงเดือนพฤษภาคมอาจมีชื่ออเมริกันปรากฏให้เห็นหรือไม่มีเลยก็ได้ นอกจากนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีบางรายในสหรัฐฯยังออกมาตอบคำถามเสียเองว่า ในสหรัฐฯมีบริษัทรับจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตจำนวนมากที่พร้อมให้บริการอเมริกันชน เหตุใดจึงต้องลำบากลำบนถ่อสังขารไปถึงปานามาเล่า
ล่าสุดเท่าที่หนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียนของอังกฤษค้นพบในเบื้องต้นคือมีรายชื่อผู้ถือพาสปอร์ตอเมริกันราว 200 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้เกษียณอายุแล้ว ที่ใช้บริษัทนอกอาณาเขตในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ
11) ตกลงข้อมูลใน ปานามา เปเปอร์ส เชื่อถือได้แค่ไหน: เรื่องนี้ต้องลองถาม มอสแซค ฟอนเซก้า หรือ (อดีต)นายกฯไอซ์แลนด์ดู ICIJ ถามแล้ว ดูเหมือนว่าสำหรับพวกเขาปัญหาไม่ได้อยู่ที่ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ ตรงข้าม ข้อมูลมันน่าเชื่อถือน่ะสิ...
อ่านประกอบ :
พบชื่อ 'เจริญ-วรรณา' สิริวัฒนภักดี-พี่น้อง 'จิราธิวัฒน์' ในฐานข้อมูลปานามาลีก
เจาะ 5 บริษัทเจ้าพ่อน้ำเมา “เจริญ-วรรณา” ในฐานข้อมูลปานามาลีก
'ICIJ' เผยเอกสาร 'ปานามาลีก'!เจ้าสัวไทยติดโผตั้งบ.ลับเกาะบริติชเวอร์จิ้น
พบ 600 คนไทย-บิ๊กธุรกิจ-นักการเมืองตั้งบริษัทลับบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น-เคย์แมน
“นลินี-น้องชาย”ตั้งบริษัทบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น-นายพล“แองโกลา”หุ้นส่วน
ไร้ร่องรอยเงินลงทุน“เกาะบริติช เวอร์จิ้น” ในบัญชีฯ“นลินี ทวีสิน”
ลูกหลาน “เผด็จการ-มหาเศรษฐี” อาเซียนซุกบริษัทลับนับร้อยบนเกาะสวรรค์
นักข่าวสืบสวนนานาชาติเปิดข้อมูล“บริษัทลับ”บนเกาะสวรรค์1 แสนราย-เศรษฐีไทยอื้อ
'ICIJ' เผยเอกสาร 'ปานามาลีก'!เจ้าสัวไทยติดโผตั้งบ.ลับเกาะบริติชเวอร์จิ้น