คำพิพากษาทางการ! คดี‘สรยุทธ’โฆษณาเกินเวลา อสมท เสียหาย 138 ล.
“…การที่จำเลยที่ 2 ถึง 4 นำเช็คไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย การไม่รายงานของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ เป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502…”
ขอบคุณภาพประกอบจาก PPTV
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นเอกสารเผยแพร่คำพิพากษาอย่างเป็นทางการจากศาลอาญา กรณีมีคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงานบริษัท ไร่ส้มฯ เป็นจำเลย กรณีถูกกล่าวหายักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อสมท กว่า 138 ล้านบาท
----
ข้อเท็จจริง คดีนี้ อสส. ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 (นางพิชชาภา) ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท อสมทฯ ผู้เสียหาย มีหน้าที่ดำเนินการจัดทำคิวโฆษณาของ อสมท สำหรับออกอากาศในรายการโทรทัศน์ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ที่ร่วมผลิตโดย อสมท กับบริษัทจำเลยที่ 2 (บริษัท ไร่ส้มฯ) ซึ่งตามสัญญาร่วมผลิตรายการนั้น จำเลยที่ 2 มีสิทธิโฆษณาได้ 5 นาที สำหรับรายการวันเสาร์ และวันอาทิตย์ 1 ชั่วโมง และ 2 นาที 30 วินาที สำหรับรายการวันจันทร์ถึงวันศุกร์ 30 นาที
แต่จำเลยที่ 2 โฆษณาเกินเวลาตามสัญญา โดยไม่ชำระค่าโฆษณาส่วนเกิน รวม 138,790,000 บาท ให้ครบถ้วน และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รายงานการโฆษณาเกินเวลาของจำเลยที่ 2 ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ กลับปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้ลบรายการโฆษณาหลายรายการในใบคิวโฆษณาของรายการคุยคุ้ยข่าวออก และได้รับเงินตามเช็ค 6 ฉบับ รวมเป็นเงิน 744,659 บาท ที่สั่งจ่ายโดยบริษัทจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 (นายสรยุทธ) เป็นผู้ลงนามสั่งจ่ายในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 (น.ส.มณฑา) พนักงานของบริษัทจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำเช็คมามอบให้จำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามเช็ค
ต่อมาหลังเกิดเหตุในปี 2549 บริษัทจำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินให้แก่ อสมท เป็นค่าโฆษณาส่วนเกินจำนวน 138,790,000 บาท จำเลยทั้งสี่ถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 8 และ 11 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86 และ 91 จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธและโต้แย้งว่า
จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่รายงานการโฆษณาเกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และเข้าใจว่าผู้มีอำนาจใน อสมท ได้ตกลงกับจำเลยที่ 2 ในเรื่องส่วนแบ่งค่าโฆษณาตามสัญญาร่วมผลิตรายการแล้ว
จำเลยที่ 2 เข้าใจว่า ตามสัญญาร่วมผลิตรายการซึ่งใช้ระบบ Time Sharing 50:50 นั้น จำเลยที่ 2 สามารถโฆษณาได้เท่ากับเวลาของฝ่าย อสมท และไม่มีหน้าที่ต้องเสนอขอซื้อโฆษณาเกินเวลา แต่ อสมท เป็นฝ่ายมีหน้าที่เรียกให้จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาขอซื้อโฆษณาส่วนเกิน และชำระเงินเอง
จำเลยที่ 3 ไม่ทราบว่าเช็คทั้ง 6 ฉบับนั้นได้สั่งจ่ายให้แก่ใครและเป็นค่าอะไรบ้าง เนื่องจากลงนามสั่งจ่ายไปตามที่เจ้าหน้าที่บริษัท จำเลยที่ 2 เสนอมา และจำเลยที่ 4 ได้มอบเช็คให้จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นค่าประสานงานโฆษณา ไม่ใช่ค่าตอบแทนการกระทำผิดในการปกปิดที่ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาตามฟ้อง
องค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญา พิเคราะห์ในประเด็นข้อพิพาทของทั้งสองฝ่าย ดังนี้
ประเด็นแรก บริษัทจำเลยที่ 2 มีสิทธิได้ค่าโฆษณาเกินเวลาคนละ 50:50 หรือเท่า ๆ กับ อสมท หรือไม่ เห็นว่า การร่วมผลิตรายการ จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ผู้ผลิต โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นพิธีกรจัดรายการ ทำสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษร ข้อสัญญาระบุไว้ชัดว่า ถ้ามีโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่ง จำเลยที่ 2 จะต้องขอซื้อโฆษณาส่วนเกินย้อนหลัง และชำระค่าโฆษณาเกินให้แก่ อสมท โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิจะแบ่งค่าโฆษณาส่วนเกินคนละเท่า ๆ กันกับ อสมท นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ.697/2558 ได้วินิจฉัยในข้อต่อสู้นี้ของจำเลยที่ 2 แล้วว่า จะต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกิน และไม่มีสิทธิได้รับส่วนลดทางการค้าปกติร้อยละ 30 จากค่าโฆษณาส่วนเกิน 138,790,000 บาท เพราะจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา
ประเด็นที่สอง จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำหัวคิวโฆษณาในรายงานการโฆษณาที่เกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เป็นเหตุให้สถานีโทรทัศน์ อสมท ได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดลบรายการโฆษณาที่เกินเวลาในส่วนจำเลยที่ 2 ออกจากใบคิวโฆษณารวม แสดงถึงการปกปิด เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการทรัพย์ และการรับเงินตามเช็คเป็นการต้องห้าม จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 8 และ 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โดยยึดถือผลการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ อสมท แต่งตั้งขึ้นรวม 2 ชุด
ประเด็นสุดท้าย จำเลยที่ 2 ถึง 4 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ถึง 4 นำเช็คไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย การไม่รายงานของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ เป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 8 และ 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 86 ศาลลงโทษสถานเบา เนื่องจากเห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ชดใช้เงินค่าโฆษณาส่วนเกิน 138,790,000 บาท แก่ อสมท แล้ว
ศาลใช้เวลาไต่สวนพยานตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. 2558-22 ม.ค. 2559
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 8 และ 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 2 ถึง 4 มีความผิดฐานสนับสนุนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 8 และ 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 86
การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทเฉพาะและเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 6 กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงและ 5 ปี ปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 หมื่นบาท จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 30 ปี ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 1.2 แสนบาท จำคุกจำเลยที่ 3-4 คนละ 20 ปี
ทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 3-4 คนละ 13 ปี 4 เดือน ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 8 หมื่นบาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ไม่มีเหตุอันสมควรรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4
อ่านประกอบ :
‘สรยุทธ-พวก’วางเงินสด 2 ล.! ศาลปล่อยตัวชั่วคราวหลังคุก 13 ปี-ห้ามบินนอก
ไม่รอลงอาญา! ศาลสั่งจำคุก 'สรยุทธ-พวก' 13 ปี 4 เดือน คดีไร่ส้ม