โกวิท ศรีไพโรจน์ :ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อสถานะของพนักงานและองค์กรอัยการ
เมื่อองค์กรอัยการเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง พนักงานอัยการย่อมเชื่อมั่น และมีหลักประกันในความเป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ สามารถพิจารณาสั่งคดี ดำเนินคดีในศาล ได้โดยไม่หวั่นไหว ปราศจากอคติ และความเกรงกลัว ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สุขในการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริง
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : โกวิท ศรีไพโรจน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เขียนบทความถึงสำนักข่าวอิศรา กรณีเกี่ยวกับโครงสร้างของคณะกรรมการอัยการในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีเนื้อหาดังนี้
ด้วยปรากฏว่า ได้มีพนักงานอัยการบางท่านได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับรูปแบบ องค์กรอัยการที่ป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง และมีพนักงานอัยการบางท่านได้ออกมาเคลื่อนไหว โดยระดมรายชื่อเรียกร้องไปยังผู้มีอำนาจเกี่ยวกับโครงสร้างของคณะกรรมการอัยการ นั้น
เห็นว่ากลุ่มพนักงานอัยการที่ได้ร่วมลงชื่อ เรียกร้องไปยังที่ต่าง ๆ ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เกี่ยวกับสถานะของพนักงานอัยการ และองค์กรอัยการ ดังนั้น เพื่อมิให้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนลุกลาม บานปลาย ทำให้เกิดผลร้ายแก่องค์กรอัยการ และเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านกฎหมาย
จึงขอรายงานการดำเนินการที่ผ่านมา และขั้นตอนที่กำลังดำเนินการต่อไป เพื่อการรักษาองค์กรอัยการ และการทำงาน ของพนักงานอัยการในการอำนวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และการคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน บรรลุผลอย่างแท้จริงและเป็นอิสระตรวจสอบได้ จึงขอชี้แจงต่อ พนักงานอัยการทั่วประเทศ และประชาชน ดังนี้
1. การดำเนินการ ที่เกี่ยวกับองค์กรอัยการที่ผ่านมา และที่กำลังดำเนินการต่อไป
2. ร่างรัฐธรรมนูญที่ขอแก้ไข
3. สถานะขององค์กรอัยการ
4. ความเป็นอิสระของพนักงานอัยการ
5. โครงสร้างของคณะกรรมการอัยการ (กอ.)
6. งบประมาณ
7. การตรวจสอบของภาคประชาชน
8. ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ
1. การดำเนินการ ที่เกี่ยวกับองค์กรอัยการที่ผ่านมา และที่กำลังดำเนินการต่อไป
ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ทำงานโดยประสานงาน เพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ และองค์กรอัยการ โดยได้ทำการประสานข้อมูลจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ กรรมาธิการยากร่างรัฐธรรมนูญ โดยได้ทำการยื่นคำร้องขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกแล้ว และอยู่ในขั้นตอนที่กำลังดำเนินการต่อไป
2. ร่างรัฐธรรมนูญที่ขอแก้ไข
ในส่วนขององค์กรอัยการ และพนักงานอัยการ ได้มีบทบัญญัติหน้าที่ไว้หลายแห่ง เช่นบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิพลเมือง กระบวนการยุติธรรม การปฏิรูป ฯลฯ
การยกร่างรัฐธรรมนูญ และการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอดนั้น ต้องขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์วิษณุ เครืองาม ศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติทุกท่าน ที่มีความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับความสำคัญขององค์กรอัยการ โดยเฉพาะความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ อำนาจหน้าที่ ตามกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวพันกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน การบังคับใช้กฎหมาย เช่นเดียวกับองค์กรตุลาการ ซึ่งการเข้าสู่ตำแหน่ง และก่อนเข้ารับตำแหน่งพนักงานอัยการ ใช้หลักเกณฑ์ที่มีมาตรฐานเดียวกันกับผู้พิพากษา ตุลาการ จึงได้บัญญัติให้นำองค์กรอัยการมาอยู่ในหมวดของศาลและกระบวนการยุติธรรม (ภาค 3 หมวดที่ 1 ส่วนที่ 1)
รายละเอียดปรากฏตามรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ขอเสนอการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อง คำขอแก้ไขเรื่องเดิมร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
3. สถานะขององค์กรอัยการ
ในร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกยังไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่า องค์กรอัยการมีสถานะอย่างไร ดังเช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งก็ได้ยื่นขอแก้ไขแล้ว โดยขอให้ระบุให้ชัดเจนว่าองค์กรอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
4. ความเป็นอิสระของพนักงานอัยการ
ในส่วนขององค์กรอัยการ ได้ขอให้แก้ไขให้ชัดเจนขึ้นในภาพรวมว่า พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี และดำเนินคดีในศาล โดยปราศจากการถูกแทรกแซง ทั้งให้ความสำคัญแก่พนักงานอัยการในการเข้าทำการสอบสวน หรือร่วมสอบสวนในคดีสำคัญ และให้มีการตรวจสอบการทำหน้าที่ของพนักงานอัยการต้องมีเหตุผลประกอบคำสั่ง การให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าถึงความเห็น คำสั่ง และการเปิดเผยความเห็นและคำสั่งของพนักงานอัยการ ฯลฯ
5. โครงสร้างของคณะกรรมการอัยการ (กอ.)
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงได้ยกร่างในส่วนนี้ให้สอดคล้องและ มีมาตรฐานเดียวกันกับศาลทุกประการ ก็เป็นข้อพิสูจน์ในความเข้าใจตรงกันของนักกฎหมายที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นการให้ความสำคัญแก่องค์กรอัยการ อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการเช่นเดียวกับศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักสากล. และเมื่อคณะผู้พิพากษา บางท่านได้ออกมาเคลื่อนไหวให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงสร้างของคณะกรรมการตุลาการ (กต.) ศาสตราจารย์วิษณุ เครืองาม ก็กรุณาออกมาให้สัมภาษณ์ว่า โครงสร้างดังกล่าวย่อมต้องพิจารณาไปถึง คณะกรรมการอัยการให้สอดคล้องกันด้วย
ยิ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า แนวความคิดของคณะรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เข้าใจตรงกัน โดยเห็นว่าไม่ว่าโครงสร้างคณะกรรมการตุลาการเป็นเช่นไร ย่อมต้องใช้รูปแบบที่เทียบเคียงกันมาประกอบการใช้ในการกำหนดรูปแบบของ คณะกรรมการอัยการด้วย เว้นแต่ มิให้อัยการสูงสุดเป็นประธาน กอ. ดังเช่นประธานศาลฎีกา เนื่องจากมีภารกิจหน้าที่ต่างกันกับศาล จึงถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง
ในส่วนหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่นั้น อำนาจหน้าที่ อยู่ที่คณะกรรมการอัยการ (กอ.) เช่นเดียวกันกับ คณะกรรมการตุลาการ (กต.) ซึ่งความโปร่งใส ตรวจสอบได้ขององค์กร และการยึดโยงภาคประชาชน จึงจำเป็นต้องให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการฝ่ายอัยการ และต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วย ในส่วนของจำนวนผู้ทรงคุณวุฒินั้น ก็ไม่คัดค้าน เพียงแต่ขอให้ยึดโยงและมีมาตรฐานเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันกับผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกของคณะกรรมการตุลาการ (กต.) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ตรงกันของศาสตราจารย์วิษณุ เครืองาม ศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งเชื่อมั่นว่าน่าจะเป็นไปในรูปแบบดังกล่าว
6. งบประมาณ
นอกจากนี้ คณะสภาปฏิรูปแห่งชาติโดยเฉพาะ คณะของท่านสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ ได้ทำการวิเคราะห์ ว่าฝ่ายการเมืองได้แทรกแซง องค์กรสำคัญหลายองค์กร โดยการงบประมาณ จึงได้ขอแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญเรื่องการงบประมาณ โดยขอให้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้เงินประจำปีของพระมหากษัตริย์ องคมนตรี กองทัพ ศาล องค์กรอัยการ และองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ ให้จัดสรรโดยคำนวณเป็นอัตราร้อยละของเงินรายได้แผ่นดินไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและงบประมาณภาครัฐ เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงต่อรองการปฏิบัติหน้าที่โดยวิธีการงบประมาณ ดังเช่นรัฐบาลที่ผ่านมาได้กระทำต่อ กองทัพ ศาล องค์กรอัยการ องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มาแล้ว ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะได้แก้ไขให้เป็นไปตามคำร้องดังกล่าวด้วย
7. การตรวจสอบของภาคประชาชน
รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ ได้บัญญัติรองรับให้ประชาชนตรวจสอบ ถ่วงดุล การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ เช่น กรณีพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผู้เสียหายก็ฟ้องเองได้ หรือขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เป็นต้น
8. ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ
เมื่อองค์กรอัยการเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง พนักงานอัยการย่อมเชื่อมั่น และมีหลักประกันในความเป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ สามารถพิจารณาสั่งคดี ดำเนินคดีในศาล ได้โดยไม่หวั่นไหว ปราศจากอคติ และความเกรงกลัว ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สุขในการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริง
การที่พนักงานอัยการบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว โดยวิพากษ์ว่า การที่มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกจะเกิดการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่นั้น เห็นว่า ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นตัวแทนจากวุฒิสภาหรือผู้แทนหน่วยงานอื่น โดยต้องไม่เป็นตัวแทนที่มาจากพรรคการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา เพื่อความโปร่งใส การตรวจสอบได้ขององค์กรอัยการจากภายนอก
ส่วนการเข้าแทรกแซงการทำงานของพนักงานอัยการโดย กอ.จากภายนอกนั้น ทุกคนเชื่อมั่นในเกียรติศักดิ์ ศักดิ์ศรี ความรู้ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม ของผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว ว่าจะเข้ามาเพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของข้าราชการอัยการอย่างแท้จริง มิใช่เพียงหวังเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์ทางคดี
โกวิท ศรีไพโรจน์ (สปช.) อดีตอัยการสำนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี
อ่านประกอบ : รูปแบบองค์กรอัยการที่ป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง